สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Local Alike เพราะเป้าหมายธุรกิจคือการเห็นชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน | Techsauce
สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Local Alike เพราะเป้าหมายธุรกิจคือการเห็นชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

สิงหาคม 4, 2021 | By Connext Team

หลายธุรกิจอาจมีเป้าหมาย คือ การสร้างรายได้ให้ถึงระดับพันหมื่นล้าน แต่ Local Alike มีเป้าหมาย คือ การเห็นชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

วันนี้ conNEXT จะพาทุกคนมาทำความรู้จักคุณไผ สมศักดิ์ บุญคำ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Local Alike ธุรกิจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่มุ่งสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นผ่านการเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชน และเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวกับชุมชนเข้าด้วยกัน 

อะไรคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้? การท่องเที่ยวแบบ Local Alike คืออะไร? Local Alike ปรับตัวอย่างไรในยุค Covid-19? ขอเชิญผู้อ่านหาคำตอบได้ที่นี่

จากวิศวกรปิโตรเคมีสู่เด็กฝึกงานเงินเดือนไม่ถึงหมื่น

คุณไผเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ดและเติบโตในหมู่บ้านยากจน คุณพ่อคุณแม่ต้องจากบ้านเกิดไปทำงานรับจ้างแบกปูนที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ได้ค่าแรงวันละ 50 บาท รวบรวมส่งกลับมาเป็นค่าเรียนหนังสือ คุณไผยังเป็นคนขยันเรียนจนสามารถสอบได้ที่หนึ่ง นอกจากนี้ ช่วงวันหยุดคุณไผยังทำงานรับจ้างเก็บเงาะ เก็บทุเรียนเพื่อสร้างรายได้ช่วยครอบครัว 

หลังจากนั้น เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย คุณไผได้เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาปิโตรเคมี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะมองว่าวิศวกรเป็นอาชีพที่เงินดี สามารถพาครอบครัวออกจากความยากจนได้ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น หลังจากเรียนจบ คุณไผได้รับการติดต่อให้ไปทำงานที่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลา 1 ปี และได้ย้ายกลับมาทำงานที่เมืองไทย ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายผลิตต่ออีก 3 ปี 

ขณะทำงานได้ระยะหนึ่ง มีรายได้พาครอบครัวออกจากความยากจนได้สำเร็จ คุณไผได้ลาพักร้อน 1 เดือนเต็ม แบกเป้ลุยท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ พุทธคยา ที่นั่นคุณไผเห็นขอทานจำนวนมากขอเงินจากนักท่องเที่ยว จุดนี้เองทำให้คุณไผคิดอยากทำงานกิจการเพื่อสังคม อยากทำสิ่งที่ตอบโจทย์คนที่มีพื้นฐานแบบเดียวกันและคิดต่อว่าจะสามารถทำงานร่วมกับคนเหล่านี้ได้อย่างไรเพื่อให้เขาโตขึ้นมามีโอกาสเท่ากับที่เราเคยมี

คุณไผตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Management) ที่ Presidio Graduate School สหรัฐอเมริกา และกลับมาฝึกงานที่องค์กรเพื่อสังคมแห่งหนึ่ง คุณไผได้ทำแผนพัฒนาธุรกิจโฮมสเตย์ให้ชาวเขา 2 หมู่บ้าน โดยได้ใช้ชีวิตกับชาวเขาเผ่าอาข่า ได้ทดลอง เรียนรู้ ทำงานร่วมกัน และออกมาเป็นเส้นทางเดินป่าท่องเที่ยวในที่สุด นี่คือจุดเริ่มต้นของ Local Alike แต่คุณไผและคุณนุ่น สุรัชนา ภควลีธร (ผู้ร่วมก่อตั้ง) ไม่ต้องการให้แผนพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นเพียงชุมชนเดียว จึงเกิดแผนพัฒนาชุมชนอื่นตามมา 

กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

เงินลงทุนเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ นักลงทุนมักไม่ให้ความสนใจเนื่องจากต้องการลงทุนในสตาร์ทอัพที่โตเร็ว แต่คุณไผก็ไม่ท้อถอยเดินสายประกวดแผนธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเพื่อหาเงินทุน

Local Alike เพิ่งเริ่มมีกำไรในช่วงปีที่ 5 ของการทำธุรกิจ เนื่องจากเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ดังนั้น ความพร้อมของชุมชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีกำไร นอกจากนี้ เมื่อขายทัวร์ได้แล้ว ก็ต้องมาคิดต่อถึงปัญหาของหมู่บ้าน เช่น ปัญหาขยะ ปัญหายาเสพติด เพราะคุณไผมองต่อว่าการท่องเที่ยวต้องเป็นเครื่องมือพัฒนาได้จริง รายได้ของชาวบ้านและกำไรของ Local Alike  มารวมกันสามารถนำไปแก้ปัญหาในหมู่บ้านได้ นี่คือการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสามารถไปด้วยกันได้

การท่องเที่ยวแบบ Local Alike

ช่วงที่พัฒนาโมเดลแรก คุณไผได้ศึกษาและพบปัญหาว่า รายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวเยอะมากแต่รายได้เข้าถึงชุมชนน้อยมาก ชาวบ้านทำได้แค่วิ่งขายสร้อยข้อมือ ขายหมวกชาวเขา ชาวบ้านถูกใช้ในการท่องเที่ยว เหมือนเป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนถูกท่องเที่ยวมากกว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ดังนั้น การท่องเที่ยวแบบ Local Alike จึงมีจุดแข็ง คือ ชุมชน เป็นการจัดทัวร์ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมออกแบบทริปและนำเที่ยวเองภายในแต่ละชุมชน โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งแบบส่วนตัวและแบบองค์กรที่แสวงหาประสบการณ์คุณภาพจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

สำหรับคุณไผ หัวใจของการท่องเที่ยว คือ ความสัมพันธ์ของคน นักท่องเที่ยวต้องได้คุยกับคนในพื้นที่ ต้องได้ลองทำกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตจริง ๆ ได้เรียนรู้ว่าคุณลุงเก็บชาแบบไหน กระบวนการกว่าจะมาเป็นขวดชาให้เราดื่มนั้นเป็นอย่างไร ร่อนพลอย งมหอยแครงกับชาวบ้านเป็นอย่างไร 

ปัจจุบัน Local Alike มีชุมชนอยู่มากกว่า 100 ชุมชน ใน 46 จังหวัด โดยสามารถจองแพคเกจท่องเที่ยวได้ผ่านเว็บไซต์ localalike.com

ทัวร์เที่ยวชุมชนคลองเตย

วิธีตัดสินใจว่าจะเข้าไปทำงานกับชุมชนนี้หรือไม่ คือ คนในชุมชนมองว่าการท่องเที่ยวจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง คุณไผมองว่าการท่องเที่ยวสามารถเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเข้าใจกันมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนคลองเตย เมื่อนึกถึงคลองเตย เรามักนึกถึงภาพชุมชนแออัดใจกลางกรุง ความน่ากลัว ยาเสพติด ความอดอยาก แต่จริง ๆ แล้ว คลองเตยไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคิด  ที่จริงแล้วปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นพื้นที่นี้พื้นที่เดียว แต่ทำไมคลองเตยกลายเป็นแหล่งที่คนมองว่าเป็นปัญหามากที่สุด เมื่อพี่ ๆ น้อง ๆ ในคลองเตยพาเดินตามตรอกซอกซอย เราจะรู้เลยว่าเขาอยู่กันอย่างไร แล้วทำไมเขาถึงต้องมาอยู่ตรงนี้ เขาเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องอยู่ตรงนี้เพราะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 

ความท้าทายในยุค Covid-19

Covid-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว Local Alike ขาดรายได้มหาศาลเนื่องจากไม่มียอดจองทัวร์ ทำให้ทีมงานต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนและธุรกิจอยู่รอดและปลอดภัยจาก Covid-19 จนสุดท้ายออกมาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ภายใต้บริษัทเดิม คือ ‘Local Aroi’ และ ‘Local Alot’ 

Local Aroi จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นมาก่อนช่วงโควิด เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่จำหน่ายอาหารชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ส่วน Local Alot เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมุ่งสร้างรายได้ให้ชุมชน พัฒนาสินค้าท้องถิ่น และส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ 

conNEXT หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนรุ่นใหม่ หากใครมีไอเดียดี ๆ ลองก้าวออกจาก Comfort Zone และลงมือทำจริงดู เราอาจพบเจออะไรใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้

ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook: Pai Somsak Boonkam

อ้างอิง: 

No comment