สายการตลาดห้ามพลาด 10 อาชีพดาวรุ่งแห่งปี 2021 | Techsauce
สายการตลาดห้ามพลาด 10 อาชีพดาวรุ่งแห่งปี 2021

กรกฎาคม 1, 2021 | By Connext Team

ไหนใครสนใจทำงานด้านการตลาดอยู่ยกมือขึ้น! รู้หรือไม่ว่า ข้อมูลจากงานวิจัยของ The Bureau of Labor Statistics (BLS) ระบุว่างานโฆษณา การตลาด และการส่งเสริมการขายจะเพิ่มขึ้นถึง 8% ระหว่างปี 2018 ถึง 2028 ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ 

Credit ภาพประกอบ:  freepik

เพราะฉะนั้น วันนี้ ConNEXT จึงจะพาทุกคนมาดูอาชีพด้านการตลาดที่กำลังเป็นที่ต้องการและหลายคนอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน ตามมาดูกันเลย

ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา (Advertising Manager)

ทำหน้าที่วางแผนโฆษณาเพื่อสื่อไอเดีย สินค้าหรือบริการต่าง ๆ  และซื้อสื่อเพื่อให้ได้พื้นที่ทำโฆษณา อาชีพนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะเจาะจงมากเกินไป เพราะการโฆษณาเรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างการเขียนคำโฆษณา นักวิเคราะห์ นักออกแบบ และนักการตลาด จึงเป็นบทบาทที่สร้างสรรค์มาก ต้องตระหนักถึงเทรนด์ของผู้บริโภค ของตลาดทั้งหมดและเทคโนโลยีล่าสุด

ผู้จัดการแบรนด์ (Brand Manager)

ทำหน้าที่ดูแลแคมเปญการตลาดทั้งหมดของสินค้าหรือบริการ ต้องประสานงานกับแผนกอื่น ๆ ทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าข้อความและคุณค่าของแบรนด์ได้สื่อออกไปยังผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม รับผิดชอบสร้างรูปลักษณ์ของแบรนด์จึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์และไหวพริบ มีทักษะการนำเสนอและโน้มน้าวใจที่ยอดเยี่ยมเนื่องจากต้องโน้มน้าวใจผู้บริหารเรื่องกลยุทธ์และงบประมาณ รู้จักตลาดผู้บริโภคและรู้จักวิเคราะห์ข้อมูล แบรนด์ที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ เช่น Red Bull และ Mercedes มีตำแหน่งงานนี้

ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเนื้อหา/ ผู้จัดการ SEO (Content Marketing Manager/ SEO Manager)

Content Marketing คือการตลาดที่ใช้เนื้อหาที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็น บทความ รูปภาพ วิดีโอ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้สนใจสินค้าหรือบริการของเรา ส่วน SEO (Search Engine Optimization) คือ การทำให้เว็บไซต์ติดอยู่ในอันดับต้น ๆ โดยปรับแต่งเว็บไซต์และเพิ่มลิงก์ที่มีคุณภาพมายังเว็บไซต์ 

ดังนั้น อาชีพนี้ต้องสามารถเขียนเนื้อหาที่มีคุณค่าเพื่อดึงดูดลูกค้า และควบคุมคนเขียนเนื้อหาอีกที รวมถึงประสานงานกับแผนกอื่น ๆ และสมาชิกในทีม มีทักษะการจัดการองค์กรที่ยอดเยี่ยม เนื้อหาหนึ่งชิ้นอาจส่งผ่านบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปก่อนเผยแพร่ จึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าแต่ละขั้นตอนส่งตรงเวลา เส้นทางสู่การเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดเนื้อหาที่พบบ่อยที่สุดคือเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนคำโฆษณา

นักเขียนคำโฆษณา (Copywriter)

ผู้สร้างคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ เขียนงานเขียนทั้งแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ นักเขียนคำโฆษณาควรเข้าใจแนวโน้มและพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อให้สามารถเขียนบทความโน้มน้าวใจลูกค้าได้ งานเขียนต้องทำให้ขายของได้ กระตุ้นให้ผู้อ่านกระทำบางอย่าง เปิดรับคำติชมและมักติดตามข่าวสารใหม่ ๆ เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างแพลตฟอร์ม TikTok ที่ก่อนปี 2020 ยังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่ตอนนี้มีนักเขียนคำโฆษณาที่เขียนสคริปต์วิดีโอ TikTok แล้ว

ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing Manager)

ทำหน้าที่รับผิดชอบแคมเปญทั้งหมดทางออนไลน์ รับผิดชอบการเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ของแบรนด์และการเพิ่มยอดขายออนไลน์ โดยจะทำงานร่วมกับผู้จัดการฝ่ายการตลาดเนื้อหาและทีมอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำเสียง คุณค่า และข้อความของแบรนด์เหมือนกันในทุกแพลตฟอร์ม ต้องเข้าใจการวิจัยตลาดและการวิเคราะห์ โดยปกติก่อนจะได้ทำตำแหน่งนี้ต้องทำตำแหน่งผู้ช่วยการตลาดดิจิทัลก่อน ประสบการณ์การการทำงานหรือการฝึกงานจะช่วยให้ได้รับตำแหน่งการตลาดดิจิทัล

นักวางแผนงานอีเวนท์ (Event Planner)

ถือว่าเป็นหนึ่งในบทบาทงานที่สนุกและสร้างสรรค์สุด ๆ (แต่ก็เป็นหนึ่งในงานที่เครียดที่สุด) การวางแผนงานอีเวนท์นั้นหลากหลาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลูกค้าหรือบริษัทที่คุณทำงานด้วย วันหนึ่งอาจทำหน้าที่จัดการประชุม หลายวันถัดไปอาจจัดงานมอบรางวัลก็ได้

จะทำอาชีพนี้ได้ต้องเป็นคนแบบไหนกันนะ?

- สร้างสรรค์ — อดทน — สามารถประสานงานกับหลากหลายผู้คนได้ — ทำงานภายใต้แรงกดดันได้ดี — เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค — จัดสรรงบประมาณได้อย่างเหมาะสม — ปรับตัวได้ดี

ถ้าชอบความตื่นเต้นท้าทายของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตำแหน่งนี้อาจจะเหมาะกับคุณ!

ผู้ระดมทุน (Fundraiser)

ทำหน้าที่หาเงินให้กับองค์กร รับผิดชอบสร้างสื่อทางการตลาด จัดกิจกรรม พูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่มีแนวโน้มจะให้ทุน เป็นงานที่ให้คุณค่าทางความรู้สึกได้ดีหากทำงานกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่คุณชื่นชอบ

นักวิเคราะห์การตลาด (Market Research Analyst)

มีทักษะการวิเคราะห์และการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเพื่อวางกลยุทธ์การแข่งขันทางการตลาด ทำหน้าที่รวบรวม ตีความข้อมูล ดำเนินการวิจัย และนำเสนอผลการวิจัย สามารถคาดการณ์และเข้าใจแนวโน้มรวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้

ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ (Public Relations Manager)

ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์มุ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรโดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสาธารณะ เช่น ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงานในองค์กร ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการประชาสัมพันธ์ มีทักษะการเขียนที่ยอดเยี่ยม บางบริษัทอาจทำหน้าที่สร้างคอนเทนต์ จัดการโซเชียลมีเดีย และวางแผนงานอีเวนท์ร่วมด้วย

ผู้จัดการโซเชียลมีเดีย (Social Media Manager)

การใช้โซเชียลมีเดียกลายเป็นพฤติกรรมหลักของคนจำนวนมากไปแล้ว ผู้จัดการโซเชียลมีเดียจึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์สามารถใช้คำ ภาพและวิดีโอที่ดึงดูดผู้คน มีความรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Twitter, Facebook, Instragram และ LinkedIn วางแผนปฏิทินการโพสต์ในแต่ละวัน เขียนโพสต์ ตัดต่อวิดีโอ หมั่นตรวจสอบคำวิจารณ์ ติดต่อสื่อสารกับแผนกอื่น ๆ เพื่อวางแผนคอนเทนต์โดยเป็นผู้รับผิดชอบกลยุทธ์ด้านโซเชียลมีเดีย ติดตามเทคนิคและซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

อาชีพด้านการตลาดไม่ได้มีเท่านี้ ยังมีอาชีพอื่นที่น่าสนใจอย่าง นักวางกลยุทธ์ (Strategic Planner) ซึ่งทำหน้าที่วางกลยุทธ์ที่สามารถพัฒนาความสอดคล้องกันระหว่างความสามารถของบริษัทกับโอกาสทางการตลาดได้ เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่มาแรงในยุคดิจิทัลและได้รับผลตอบแทนสูงอาชีพหนึ่ง

ใครที่กำลังหางานอยู่อย่าเพิ่งหมดหวังไป บางทีคุณอาจจะยังไม่เจออาชีพที่เข้ากับคุณมากที่สุดก็เป็นได้ ทีมงาน conNEXT ขอส่งกำลังใจให้ทุกคน 

อ้างอิง: WikiJob

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn 

ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]

No comment