เจาะลึก Drag ในประเทศไทย อาชีพแห่งศิลปะที่ไม่จำกัดเพศ | Techsauce
เจาะลึก Drag ในประเทศไทย อาชีพแห่งศิลปะที่ไม่จำกัดเพศ

มิถุนายน 20, 2022 | By Connext Team

เดือนมิถุนายนถือว่าเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายของชาว LGBTQ+ ทาง ConNEXT จึงอยากพาทุกคนมารู้จักกับอาชีพที่ถือว่าเป็นศิลปะความสวยงามและความหลากหลายทางเพศอย่าง Drag Queen ในประเทศไทย ซึ่งเป็นอาชีพที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก กับคุณ Too Calderone (โต แคลเดอโรน หรือ ทู แคลเดอโรน) Drag Queen มืออาชีพในประเทศไทย

What is “Drag”?

Drag คือ ศิลปะที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวรักต่างเพศ (Heterosexual) หรือ ชาวรักร่วมเพศ (Homosexual) เพราะศิลปะไม่มีเพศและไร้ขีดจำกัด

Drag Queen เริ่มต้นจากการแสดงในโรงละครเพื่อความบันเทิงในสมัยก่อนที่ผู้ชายแต่งตัวและแสดงบทบาทผู้หญิง ปัจจุบันการแต่ง Drag กลายเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวหรือตัวตนผ่านเรือนร่าง เสื้อผ้า หน้า ผม และยังเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างมากมายจากหลายช่องทางอีกด้วย 

Drag มีหลายสาย เช่น สายการแสดง สายประกวด ทำงานเบื้องหลัง นักร้อง หรือแม้แต่เกมเมอร์ เป็นต้น อาชีพนี้สามารถทำอะไรก็ได้เพียงแค่นำความชอบหรือความถนัดมาผสมผสานกับความรักที่มีต่อ Drag 

Too Calderone คือใคร และได้แรงบันดาลใจในการทำอาชีพ Drag มาจากไหน?

Drag คืออะไร

Too Calderone เป็น Drag Queen ที่เดบิวต์เป็น Drag เต็มตัวจากโปรเจกต์ #DRAGATHON 1 (2018) ของเพจ Yellow Channel โดย Calderone มาจากศิลปินคนโปรดอย่าง Lady Gaga ช่วง 2011 ที่เธอแต่งเป็น Drag King ชื่อว่า Jo Calderone ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างชื่อเล่นของตัวเองกับนามสกุลจาก Alter Ego หรืออีกตัวตนหนึ่งของ Lady Gaga

Too Calderone คือ Drag Queen สาย Beauty เราเป็นคนที่พยายามหาตัวตน Drag ของเรามานานหลายปี เราเคยแต่งหลายแนวแต่สุดท้ายแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง เราแค่อยากทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกสวย แพง และสบายใจ

แรงบันดาลใจในการแต่ง Drag ของเรามาจากการดูรายการ Rupaul’s Drag Race เรารู้สึกอยากทำแบบนั้น อีกทั้งเมื่อก่อนเคยแต่งตัวเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ แต่เมื่อได้เห็นพี่ไจ๋ ซีร่า (@siravariety) Drag Queen ชื่อดังของไทย เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราอยากเป็นแบบเขา เราอยากมีความเป็นตัวแม่ จึงเป็นเหมือนจุดประกายที่ทำให้อยากแต่งตัวเวอร์ๆ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราเป็น Drag Queen จนถึงทุกวันนี้

Drag VS สถาบันครอบครัว

เริ่มแรกพ่อแม่ไม่สนับสนุนเราเลย เคยทะเลาะกับครอบครัวจนทำร้ายตัวเอง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่ควรทำตาม สำหรับเราสถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่สุดยอดที่สุดสำหรับการที่คนคนหนึ่งจะเป็นมนุษย์ได้ แม่เคยพูดคำหนึ่งที่ทำให้เราเจ็บช้ำมากและการที่เราโดนทำร้ายด้วยคำพูดจากครอบครัวจึงทำให้เรารู้สึกแย่มากๆ เราไม่อยากทำอะไรอีกเลย

แต่แล้ววันหนึ่งแม่ก็เดินเข้ามาหาเราแล้วพูดว่า “ไม่เป็นไร แม่ยอมรับได้” หลังจากนั้น เราก็รู้สึกเหมือนว่าเราปลดล็อคทุกอย่าง ทุกวันนี้พ่อกับแม่เป็นคนพาเราไปออกงาน เป็นคนช่วยแต่งตัว ช่วยยัดสะโพก ช่วยติดวิก

Drag

กุญแจสำคัญในการถูกยอมรับการครอบครัว คือ การเปิดอกพูดคุย 

เราเชื่อว่าหลายคนไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับครอบครัว แต่บางครั้งคนเป็นพ่อเป็นแม่เขารู้อยู่แล้วว่าเราเป็นอะไร เราแค่ต้องพูดออกมา รอบแรกอาจจะยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าผ่านไปเรื่อยๆ เขาก็ต้องยอมรับได้อยู่แล้ว เพราะเรายังเป็นลูกเขาเหมือนเดิมไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม

เรารู้สึกว่า ครอบครัวคือด่านสุดท้ายของการเป็น LGBTQ+ ถ้าครอบครัวเรายอมรับได้ เราไม่ต้องไปสนใจใครเลย ตอนนี้รู้สึกภูมิใจในตัวเอง รักตัวเองและครอบครัวมาก

เวลาแต่ง Drag ออกไปที่สาธารณะ เราไม่เคยรู้สึกระแวงหรือหวาดกกลัวว่าจะโดนดูถูกหรือเหยียดเพศ

เราไม่สนใจความคิดของใคร สนใจแค่คำพูดแง่บวกเท่านั้น เพราะถ้าเรามัวแต่เก็บคำพูดของทุกคนมาใส่ใจ เราจะไม่ได้ใช้ชีวิตของเราจริงๆ ฉะนั้น เวลาแต่ง Drag เราจะสนุกและมั่นใจอย่างมีขอบเขต 

การทำอาชีพ Drag Queen ช่วยให้เราสามารถแสดงออกในสิ่งที่โดยปกติแล้วเราไม่ได้ทำ

การแต่ง Drag ทำการแสดงทำให้เราสามารถเล่นสนุกกับคนดูได้ สำหรับเราการแต่ง Drag สามารถทำได้หลายอย่างแบบที่ไม่มีขีดจำกัดว่าเราต้องทำอะไรหรือแบบไหน เรารู้สึกว่าแค่อยากทำในสิ่งที่เราต้องการซึ่งตอนแต่งตัวเป็นผู้ชายไม่ได้ทำ

ข้อดีและข้อเสียของอาชีพ Drag ในประเทศไทย

สำหรับเราการเป็น Drag Queen ทำให้เรางานเยอะขึ้น เวลาคนเห็นศิลปะการแต่ง Drag และความสามารถของเรา เขาชอบ เขาก็จ้างงานเรา เช่น จ้างทำผม ทำวิก แต่งหน้า ส่วนข้อเสียจากประสบการณ์ที่เราเจอมา คือ มักจะโดน Drag Queen ด้วยกันดูถูก เช่น เธอแต่งหน้าไม่สวย เธอลบคิ้วไม่เนียน วิกไม่สวย ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่น่ารักเลย เราควรจะให้พลังงานบวกกันมากกว่า

อยากให้คนไทยเปิดใจกับอาชีพ Drag มากขึ้นในอนาคต

เราคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ดีอยู่แล้ว แต่เราแค่อยากให้ทุกคนเปิดใจกับคำว่า Drag มากขึ้น ในความเป็นจริง Drag สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ในรายการ Rupaul’s Drag Race มี Drag Queen ได้ไปเดินแบบ ขึ้นปกนิตยสาร เป็นนักข่าวและอีกหลายๆ อย่างที่มากกว่าการเป็นนางโชว์ ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการมากมายจนกว่าจะมาเป็น Drag 

ถ้าอาชีพนี้ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับมากกว่านี้ในเมืองไทยจะเป็นอะไรที่ดีมาก เวลาพูดถึง Drag Queen เราอยากให้คนไทยนึกถึงคนที่มีความสามารถ งานละเอียด และความเป็น Perfectionist เพราะคนไทยฝืมือไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่แค่ว่าช่องทางสำหรับ Drag ในประเทศไทยยังไม่มากพอ

การร่วมงาน Rainbow Runway for Equality ที่ Central World ทำให้เราได้รู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่สนับสนุน LGBTQ+ Community

Drag


เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเข้าร่วมเดิน Rainbow Runway for Equality สิ่งที่ได้จากงานนี้ คือ ความร้อนและความเอือด! คนไปร่วมงานเยอะมาก รวมถึงดารานักแสดงด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Community นี้อบอุ่นมากและมีคนที่สนับสนุนพวกเราเยอะมากเช่นกัน

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับ LGBTQ+ Community ของประเทศไทยในอนาคต คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม 

เราอยากเห็นกฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้น เพราะชายจริงหญิงแท้สามารถเซ็นเอกสารสำคัญต่างๆ ได้ แล้วพวกเราชาว LGBTQ+ ทำไมถึงทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราก็เป็นคนเหมือนกัน เราเสียภาษีเหมือนกันแต่ไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับเรา เราก็คิดเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร จนตอนนี้เราก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมเราถึงไม่ได้รับสิทธิตรงนี้

อยากบอกเด็กๆ คนรุ่นใหม่ หรือใครก็ตามที่อยากก้าวเข้าสู่วงการ Drag ว่า ถ้าอยากทำก็เริ่มเลย!

เริ่มเลย! ไม่ต้องกลัวความผิดพลาด เพราะไม่มีใครทำได้สมบูรณ์แบบตั้งแต่ครั้งแรก จงฝึกไปเรื่อยๆ ที่เรารู้สึกว่าเราช้าเพราะว่าเราไม่เริ่มสักที ฉะนั้น เพียงแค่เริ่มทำนั่นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเกิดการพัฒนา

จงเรียนรู้จากความผิดพลาดของตน

เราเคยไปแคสต์ Drag Race Thailand ถึง 2 ครั้งแต่ไม่ผ่านเข้ารอบ เราเข้าใจว่าเพราะอะไรเราถึงไม่ผ่าน เราไม่โทษใครนอกจากตัวเอง เพราะเราเตรียมตัวไม่ดีพอ แต่ข้อดีที่เราได้จากตรงนี้ คือ เราผลักดันตัวเองมากขึ้น ฝึกแต่งหน้า ทำวิก ทำชุด ฝึกทุกอย่างที่เราเคยทำพลาด 

เราเป็นคนที่เคยทำพลาดหลายครั้ง เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขในสิ่งที่เราทำพลาด เราเคยแสดงโชว์แล้วพลาด ซึ่งทำให้เราเฟลมากๆ จนทำให้อยากเลิกแต่ง Drag ไปเลย แต่เรายังไม่อยากยอมแพ้ง่ายๆ จึงนำโชว์เดิมมาทำซ้ำและแก้ไขในสิ่งที่เคยทำพลาดไป หลังจากจบการแสดงในวันนั้นเราได้รับคำชมจากคนดู ทำให้มีไฟมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับเด็กๆ และคนรุ่นใหม่ใน LGBTQ+ Community ที่ยังกลัวหรือขาดความมั่นใจกับการเปิดเผยตัวตนของตัวเอง

อยากแนะนำว่า ไม่ต้องคิดอะไร คิดเพียงแค่ว่าเราเป็นคนคนหนึ่งบนโลกใบนี้ ทุกคนเท่าเทียมกัน เราแค่เป็นตัวเองและเป็นคนดี เพียงแค่นี้ทุกคนก็จะยอมรับในตัวเรา ไม่มีอะไรต้องคิดมาก การเป็น LGBTQ+ น่ารักจะตาย!

ติดตามคุณ Too Calderone ได้ที่:

Facebook: https://www.facebook.com/Too.Caldarone

Instagram: https://www.instagram.com/toocalderone/ 

TikTok: https://www.tiktok.com/@toocal

เขียนโดย Chonlasit Tadapairot

No comment