ส่อง 10 สัญญาณของการ 'Burnout' พร้อมวิธีปลุกไฟการทำงานให้กลับมาลุกโชน | Techsauce
ส่อง 10 สัญญาณของการ 'Burnout' พร้อมวิธีปลุกไฟการทำงานให้กลับมาลุกโชน

ธันวาคม 9, 2021 | By Siramol Jiraporn

ไม่ว่างานที่ทำอยู่จะดีแค่ไหนก็สามารถ Burnout ได้ ยิ่งทำงานหนักและอยากประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ถลำลึกเกินกว่าจะถอนตัวได้

ภาวะหมดไฟในการทำงานกลายเป็นปัญหามากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้เส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน จากงานวิจัยในอเมริกาของ American Psychological Association และ National Opinion Research Center พบว่า


สัญญาณ Burnout


จากการสำรวจความคิดเห็นของ Society for Human Resource Management (SHRM) พบว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนลาออกจากงานคือ การหมดไฟในการทำงาน

การหมดไฟในการทำงานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่คนที่ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักก็ตาม แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า มีภาวะหมดไฟในการทำงาน? และนี่คือ 10 สัญญาณของการ Burnout ที่ต้องรู้เพื่อเตรียมตัวรับมือได้ทัน

1. ปัญหาสุขภาพ

Burnout มีผลด้านลบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลัง ซึมเศร้า โรคหัวใจ โรคอ้วน หรือเมื่อป่วยหนัก จะต้องคิดถึงบทบาทของงานตัวเองในเรื่องนี้ว่า Burnout ส่งผลต่อสุขภาพของตัวเองอย่างไร และตัดสินใจว่าการทำงานที่ทำอยู่คุ้มค่ากับผลที่ตามมาหรือไม่

2. ปัญหาทางสมอง

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความเครียดมีผลกระทบต่อเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อความจำ ความสามารถในการตัดสินใจ การโฟกัสและควบคุมอารมณ์ เมื่อสังเกตได้ว่าตัวเองทำข้อผิดพลาดโง่ๆ ลืมสิ่งที่สำคัญ อารมณ์แปรปรวน หรือมีการตัดสินใจที่ไม่ดี นั่นหมายความว่าคุณอาจมีแนวโน้ม Burnout

3. ปัญหาความสัมพันธ์

ความเครียดจะส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แม้คุณจะควบคุมความเครียดในที่ทำงาน แต่เมื่อกลับบ้านอาจทำให้ความเครียดระเบิดออกมาได้ ความเครียดทำให้หลายคนกลายเป็นคนที่ชอบโวยวายใส่ผู้อื่น จนเกิดความขัดแย้ง และทำให้คนอื่นไม่อยากสุงสิงด้วย

4. หอบงานกลับบ้าน

คุณเคยรู้สึกแย่เมื่อนอนอยู่บนเตียงแล้วชอบคิดถึงแต่เรื่องงานไหม? ถ้าคุณไม่สามารถหยุดคิดเรื่องงานได้ นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึง Burnout

5. ความเหนื่อยล้า

Burnout มักจะนำไปสู่ความเหนื่อยล้า ซึ่งมีผลมาจากความเครียดที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ อาการเด่นอย่างหนึ่งของความเหนื่อยล้าจาก Burnout คือ การตื่นขึ้นมาแต่รู้สึกไม่มีพลังงานแม้จะนอนเต็มอิ่มแล้วก็ตาม หรือการดื่มคาเฟอีนในปริมาณมากเพื่อช่วยให้ตัวเองสามารถอยู่ได้ทั้งวัน 

6. ความคิดในแง่ลบ

Burnout อาจทำให้คุณกลายเป็นคนที่คิดในแง่ลบได้ แม้ว่าคุณจะเป็นคนที่คิดบวกก็ตาม ถ้าพบว่าตัวเองกำลังโฟกัสอยู่กับสถานการณ์ด้านลบ การตัดสินผู้อื่น และความรู้สึกดูถูกเหยียดหยาม นั่นก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่คุณต้องเริ่มแก้ไขเรื่องนี้แล้ว

7. ความพึงพอใจลดลง

Burnout มักจะนำไปสู่ความรู้สึกไม่พอใจที่จู้จี้จุกจิก งานที่เคยทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นก็ไม่สามารถทำให้รู้สึกแบบนั้นได้อีก ซึ่งความพึงพอใจที่ลดลงนี้จะทำให้ทำงานยากขึ้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อะไรจากการทำงานมากขนาดนั้น

8. สูญเสียแรงจูงใจ

ในช่วงการทำงานแรกๆ เป็นช่วงที่แรงจูงใจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะมองว่าอะไรก็ดีไปหมด แต่ในช่วง Burnout คุณต้องพยายามหาแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง แทนที่จะทำงานจากแรงจูงใจของตัวเองจริงๆ กลับกลายเป็นแรงจูงใจเกิดจากการกลัวเดดไลน์ การทำให้ผู้อื่นผิดหวัง หรือการถูกไล่ออก

9. ปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงาน

คนที่มีอาการหมดไฟส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จสูง เมื่อประสิทธิภาพการทำงานดรอปลง คนอื่นก็จะไม่ทันสังเกตเห็น ดังนั้นการจับตาดูผลงานของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยดูว่าเดือนที่แล้ว หกเดือนที่แล้ว และปีที่แล้ว ประสิทธิภาพการทำงานของคุณเป็นอย่างไร หากพบว่าประสิทธิภาพลดลง ก็ถึงเวลาต้องคิดว่าคุณกำลังมีภาวะหมดไฟในการทำงานอยู่หรือไม่

10. ไม่ดูแลตัวเอง

เมื่อคุณประสบกับภาวะหมดไฟจะทำให้การควบคุมตนเองลดลง สาเหตุหลักมาจากความเครียดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจและการควบคุมตัวเอง รวมถึงความมั่นใจและแรงจูงใจที่ต่ำลงด้วย

เมื่อคุณรู้แล้วว่าตัวเองมีสัญญาณของการหมดไฟในการทำงาน การต่อสู้กับภาวะหมดไฟก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยคุณจะต้องแยกตัวเองออกจากงานเพื่อหาสมดุลให้กับตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

1. งดการติดต่อสื่อสาร

การงดการติดต่อสื่อสาร เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการจัดการภาวะหมดไฟ เพราะถ้าคุณไม่สามารถแยกตัวเองจากอุปกรณ์สื่อสารได้ นั่นหมายความว่าคุณไม่เคยแยกตัวออกจากงานได้เลยจริงๆ การทำให้ตัวเองพร้อมในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จะทำให้ได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้คุณไม่มีสมาธิและไม่สามารถเติมพลังใหม่ให้กับตัวเองได้

ถ้าไม่สามารถหยุดคิดถึงงานในตอนเย็นหรือวันหยุดได้ ให้กำหนดเวลาเพื่อเช็คอีเมล เช่น ตอนเย็นวันธรรมดาเช็คอีเมลหลังอาหารเย็น ตอนวันหยุดเช็คอีเมลตอนบ่ายวันเสาร์ การจัดเวลาช่วงสั้นๆ จะช่วยลดความเครียดได้

2. สนใจสัญญาณของร่างกาย

คุณอาจคิดว่า การปวดหัวเกิดจากการขาดน้ำ การปวดท้องเกิดจากสิ่งที่กิน การปวดคอเกิดจากการนอน แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่แบบนั้น เพราะหลายครั้งความเจ็บปวดทางร่างกายอาจสะสมมาจากความเครียดและความวิตกกังวล Burnout อาจจะเกิดกับคุณโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงต้องใส่ใจกับสัญญาณของร่างกายที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

3. กำหนดเวลาพักผ่อน

การวางแผนในการพักผ่อนเป็นสิ่งที่สำคัญพอๆ กับการวางแผนในการทำงาน การจัดเวลาง่ายๆ อย่างการอ่านหนังสือ 30 นาที ก็มีประโยชน์อย่างมาก เพราะกิจกรรมนี้จะทำให้คุณรู้สึกว่ามีบางสิ่งให้ตั้งตารอคอย

4. ห้ามกินยานอนหลับ

ยานอนหลับในที่นี้รวมถึงแอลกอฮอล์ หรือสารใดๆ ก็ตามที่รบกวนการนอนหลับตามธรรมชาติของสมอง ซึ่งจะทำให้เกิดการฝันแปลกๆ และส่งผลต่อคุณภาพการนอน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงยานอนหลับเหล่านี้เพื่อการนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพ

5. จัดระเบียบงาน

ความเครียดส่วนใหญ่ที่พบในแต่ละวันไม่ได้เกิดจากการทำงานหนัก แต่เกิดจากการไม่สามารถจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าคุณใช้เวลาในการจัดระเบียบงานจะทำให้คุณสามารถจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

6. หยุดพักในระหว่างทำงาน

เวลาที่คนเราสามารถทำงานได้ดีที่สุดคือช่วงหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ตามด้วยการพัก 15 นาที การทำงานและหยุดพักตามตารางเวลาดังกล่าว จะทำให้ทำงานได้อย่าง Productive ตอนช่วงแรกๆ และ Unproductive ตอนพักแทน

7. หาคนให้ซบไหล่ในวันที่เหนื่อยล้า

การใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนที่ดีจะช่วยให้คุณคลายเครียดจากงาน และยังสามารถช่วยเป็นเครื่องเตือนใจให้คุณใช้ชีวิตอย่างสนุกและมีความสุขได้

ถ้าวิธีทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้ผล ปัญหาอาจอยู่ที่งานของคุณเอง งานที่ไม่ดีอาจทำให้หมดไฟในการทำงานได้ด้วยตัวมันเอง สุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องทำคือการตัดสินใจว่า จะเลือกงานหรือสุขภาพของตัวเอง

ที่มา: Business Insider


No comment