3 ขั้นตอนเปลี่ยน ‘ความกลัว’ ให้เป็น ‘แรงผลักดัน’ | Techsauce
3 ขั้นตอนเปลี่ยน ‘ความกลัว’ ให้เป็น ‘แรงผลักดัน’

กันยายน 1, 2022 | By Connext Team

เราทุกคนต่างเคยกลัวความล้มเหลวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจ ความสัมพันธ์ หรือเป้าหมายต่างๆ แต่ไม่ได้แปลว่าเราทุกคนจะมองความกลัวในแบบเดียวกัน เราต่างรู้ว่าความกลัวความล้มเหลว รวมไปถึงความเครียดและความวิตกกังวล เป็นบ่อเกิดของความสำเร็จที่น่าทึ่งที่สุดในโลกมานักต่อนักแล้ว รวมทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆ กล่าวคือ เราสามารถเลือกมองความกลัวความล้มเหลวให้เป็นโอกาสได้

3 ขั้นตอนเปลี่ยน ‘ความกลัว’ ให้เป็น ‘แรงผลักดัน’

เมื่อวันที่ 13 เมษายน ปี 1970 แจ็ค สวีเกิร์ต นักบินอวกาศ ได้กล่าวประโยคที่โด่งดังประโยคหนึ่งว่า “Okay, Houston, we’ve had a problem here.” หลังจากที่เขาและลูกเรือคนอื่นๆ ในภารกิจ Apollo 13 ที่เดินทางไปดวงจันทร์ประสบปัญหาด้านกลไกของยานอวกาศ ทำให้ทุกคนที่อยู่อีกปลายสายของวิทยุที่กำลังทำงานอยู่ศูนย์ควบคุมปฏิบัติการของนาซ่าบนภาคพื้นดิน รู้สึกใจหวิวท้องไส้ปั่นป่วนไปด้วย

แต่นี่ไม่ใช่แค่ความกลัวความล้มเหลวในเรื่องทั่วไป แต่เป็นความกลัวว่าจะล้มเหลวหลังจากทำงานหนักมาหลายปี กลัวว่าจะล้มเหลวหลังจากทุ่มเงินไปหลายล้านดอลลาร์ และกลัวว่าจะล้มเหลวในการพานักบินอวกาศทั้งสามคนกลับมาอย่างปลอดภัย แน่นอนว่าไม่มีใครที่เกี่ยวข้องกับภารกิจในครั้งนี้ปล่อยให้ความกลัวมาหยุดยั้งตัวเอง แทนที่จะยอมแพ้หรือท้อแท้กับสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขากลับเปลี่ยนความกลัวให้เป็นแบบทดสอบการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์และใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา พวกเขาช่วยกันคิดค้นและหาวิธีแก้ปัญหาทางวิศวกรรมจากบนพื้นโลกที่ห่างออกไปกว่า 200,000 ไมล์

ข้อคิดอย่างหนึ่งจากภารกิจในครั้งนี้คือ การเอาชนะความกลัวเป็นสิ่งที่ดี แต่การพลิกมันให้เป็นประโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่า วันนี้ทาง ConNext จึงอยากพาทุกคนมาดูว่าจะมีขั้นตอนอะไรบ้างที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายตามที่เราต้องการ

1. ประเมินสถานการณ์โดยรวม

การยอมรับความกลัวเป็นสิ่งที่ดี คุณควรปฏิบัติกับมันตามความเป็นจริง ยอมรับว่าตัวเองมีความกลัว เพราะการที่คุณรู้สึกกลัวมันมีเหตุผลบางอย่างอยู่แล้วแม้ว่าจะไม่เข้าใจก็ตาม ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพยายามเก็บซ่อนมันไว้

สิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะต้องเอาประเมินด้วยคือข้อมูลที่คุณสามารถสัมผัสหรือรู้สึกได้ สัญชาตญาณเป็นสิ่งสำคัญแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะจัดการกับอาการสงสัยในความสามารถของตนเองได้เสมอไป ดังนั้น คุณจึงควรพยายามแยกความรู้สึกออกจากข้อเท็จจริง ดูว่าสิ่งที่คุณกลัวมันคุ้มค่ากับการที่จะมานั่งกังวลใจหรือไม่ 

2. ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี

ลองถามตัวเองว่าอาการกลัวความล้มเหลวนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังใกล้เข้ามาหรือไม่? คุณสามารถเผชิญหน้ากับมันในวันนี้หรือในอนาคตอันใกล้นี้ได้หรือเปล่า? ถ้าได้ ให้คุณดูว่าตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณต้องทำเป็นอันดับแรกๆ เพื่อที่จะได้คิดหาแผนการต่อไป

แต่การวางแผนสามารถสร้างความวิตกกังวลได้ ดังนั้น การลงรายละเอียดให้มากขึ้นจึงอาจช่วยได้ หากการสร้างแรงจูงใจคือเป้าหมาย คุณต้องขจัดอุปสรรคออกไปให้ได้มากที่สุด แผนที่ไม่ชัดเจนอย่างเช่น “ฉันจะหางานทำ” อาจทำให้คุณติดแหงกทำอะไรไม่ถูก คุณจึงควรลงรายละเอียดให้มากขึ้นอย่างเช่น “พรุ่งนี้ฉันจะทำเรซูเม่ แล้วเอาไปยื่นสมัครงาน” เพียงเท่านี้คุณก็จะรู้ว่าต้องทำขั้นตอนอะไรต่อไป

3. มุ่งมั่นตั้งใจ

การมุ่งมั่นในการทำบางสิ่งถือเป็นการกระทำมีทรงพลังในตัวของมันอยู่แล้ว อย่างเช่น ถ้าคุณอยากวิ่งมาราธอนมาโดยตลอดแต่กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ คุณสามารถเปลี่ยนความกลัวนี้ให้เป็นแรงจูงใจได้ด้วยการกรอกใบสมัครและจ่ายเงิน เพราะการทำแบบนี้เท่ากับว่าคุณได้ละทิ้งความกลัวและจดจ่อไปที่เป้าหมายแทน

มาถึงตอนนี้ถือได้ว่าคุณได้จัดการกับความกลัวและได้คิดหาวิธีที่จะทำให้คุณบรรลุสิ่งที่ต้องการแล้ว เหลือแต่เพียงยึดมั่นและทำตามแผนที่วางไว้ แล้วเดี๋ยวแรงจูงใจก็จะมาเอง

ยอมรับความล้มเหลว

การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อความล้มเหลวและการเคารพต่อกระบวนการแม้ว่าผลลัพธ์จะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังนั้นมีประโยชน์มหาศาล การที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่าง Pixar เน้นย้ำถึงข้อดีของความผิดพลาดนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันเป็นเรื่องของการ “อยู่ในฝั่งที่ถูกต้องของความล้มเหลว” กล่าวคือ เราควรหยุดมองด้านลบของความล้มเหลวและหันไปมองด้านบวกของมันแทน

เพราะยิ่งคุณจดจ่อกับข้อผิดพลาดมากเท่าไหร่ สิ่งนั้นจะยิ่งกลายเป็นความจริงมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้ความล้มเหลวในอดีตมาหล่อเลี้ยงความกลัว ให้คุณลองฝึกคิดในแง่บวกดูบ้าง

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือความกลัวสามารถทั้งทำร้ายและช่วยเหลือเราได้ ขึ้นอยู่ว่าเราเลือกที่จะมองและตอบสนองกับมันอย่างไร เมื่อเรารู้จักนำเหตุผลและวิธีการควบคุมความกลัวและความล้มเหลวมาใช้แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่เราจะทำไม่ได้แล้วต่อจากนี้

เขียนโดย Parinya Putthaisong

อ้างอิง Fastcompany

No comment