3 วิธีสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง เพื่อกลับมาทำงานอย่างมีความสุขอีกครั้ง | Techsauce
3 วิธีสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง เพื่อกลับมาทำงานอย่างมีความสุขอีกครั้ง

มกราคม 13, 2022 | By Siramol Jiraporn

การเปลี่ยนไปทำงานแบบ Remote Work และ Hybrid Work ทำให้พนักงานหลายคนรู้สึกมีอิสระและมีความยืดหยุ่น แต่สำหรับบางคน การปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปอาจไม่ใช่เรื่องง่าย 

การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์สามารถแสดงออกมาในรูปแบบที่คาดไม่ถึงอย่างความเหนื่อยล้า การสูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยทำเป็นประจำ ความรู้สึกไม่สบาย ความเครียด หรือแม้แต่การรู้สึกหมดไฟได้ 

เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ หลายคนอาจรู้สึกกังวลและกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงจนหมดแรงจูงใจในการทำงาน แต่เราสามารถสร้างวันทำงานที่มีความสุขจนกลับมามีแรงจูงใจในการทำงานอีกครั้งได้ด้วย 3 วิธีต่อไปนี้

1. วางแผนชีวิต

แรงจูงใจในการทำงานภาพถ่ายโดย Mikhail Nilov จาก Pexels

จากการสำรวจล่าสุดพบว่า 30% ของผู้ที่ทำงานทางไกล สิ่งที่ทำให้ฟุ้งซ่านมากที่สุดคือ ข้อความจำนวนมากที่เข้ามาและการประชุมติดๆ กัน จนรู้สึกว่างานในแต่ละวันเยอะมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ 

การจัดการงานไปทีละอย่างตามลำดับความสำคัญ จะทำให้สามารถจัดการได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการวางแผนว่าจะจัดการงานอย่างไร จะทำให้รู้สึกว่าการทำงานในแต่ละวันมีความหมายมากขึ้นและเครียดน้อยลง โดยเริ่มจากการจัดตารางเวลาชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น เวลาในการเตรียมอาหารและกินข้าว เวลาในการประชุมและการตอบกลับอีเมล

อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้คือการสร้างเป้าหมายในการทำงาน เพราะการมีเป้าหมายในการทำงานจะทำให้สามารถทำงานต่อไปได้และมีแรงจูงใจมากขึ้น เมื่อตั้งเป้าหมายให้ใช้วิธี SMART: 

2. รู้เท่าทันสิ่งที่กระตุ้นความเครียด

แรงจูงใจภาพถ่ายโดย energepic.com จาก Pexels

แรงกดดันภายนอกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกเครียดหรือหมดไฟ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานแบบ Remote Work และ Hybrid Work ในระยะยาว อาจทำให้บางคนรู้สึกว่าชีวิตการทำงานของตัวเองไม่ง่ายอย่างที่เคยเป็น

การฝึกการตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้จัดการความเครียดได้ เมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่กระตุ้นความเครียดของตัวเอง ก็จะสามารถพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้นได้ การระบุว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่กระตุ้นความเครียดของเรา สามารถทำได้โดยการฝึกสติระยะสั้น เพราะจะทำให้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

เมื่อรู้เท่าทันสิ่งที่กระตุ้นความเครียดแล้ว การหาแรงจูงใจภายนอกก็สามารถช่วยให้กลับมามีความสุขกับการทำงานได้มากขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือ อ่านบทความ หรือฟังพอดคาสต์ต่างๆ สามารถช่วยให้รู้สึกมีแรงบันดาลใจมากขึ้นได้ การหาเพื่อนร่วมงานมาแชร์แรงบันดาลใจเหล่านี้ซึ่งกันและกัน ก็อาจทำให้แรงจูงใจในการทำงานเพิ่มสูงขึ้นได้

3. ใช้เครื่องมือในการประหยัดเวลา

แรงจูงใจภาพถ่ายโดย Thirdman จาก Pexels

จากการศึกษาพบว่า เทคโนโลยีที่ดีช่วยประหยัดเวลาในการทำงานของพนักงานถึง 23 นาทีต่อชั่วโมง การนำเทคโนโลยีที่ดีเข้ามาจึงสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นภาระงานหรือภาระทางความคิด ตัวอย่างเครื่องมือที่สามารถช่วยลดความเครียดได้เช่น Pomodoro ที่เข้ามาช่วยเตือนว่าควรพักจากการทำงานตอนไหน Otter.ai เครื่องมือช่วยจดบันทึกประชุมแทนเพื่อไม่ให้พลาดสิ่งสำคัญ

เมื่อมีแรงจูงใจในการทำงานสูง ก็มีแนวโน้มที่จะทำงานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย การมีแรงจูงใจในการทำงานอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับใครที่รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ก็สามารถใช้วิธีข้างต้นเพื่อช่วยให้กลับมาทำงานอย่างมีความสุขอีกครั้งได้

ที่มา - Fast Company, Indeed




No comment