4 เทคนิคเสริม Memory จากนักวิทยาศาสตร์สมอง จำแม่น แน่นปึ้ก สมองปังไม่ไหว! | Techsauce
4 เทคนิคเสริม Memory จากนักวิทยาศาสตร์สมอง จำแม่น แน่นปึ้ก สมองปังไม่ไหว!

มีนาคม 18, 2024 | By Chanapa Siricheevakesorn

เดินเข้าห้องไปแล้วดันจำไม่ได้ว่าเข้ามาทำไม มือถือวางไว้ไหนก็หาไม่เจอทั้ง ๆ ที่ถืออยู่ในมือ เอ๊ะ! นี่ Memory ในสมองเรามันเต็มรึเปล่า?

Memory

ทำไมเราจำบทถ่าย Tiktok ยาว ๆ ได้เกือบหมด แต่กลับจำเรื่องสำคัญ ๆ ไม่ได้เลยนะ? ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองอย่าง Charan Ranganath ผู้อำนวยการโครงการด้านความจำและความยืดหยุ่นของสมอง (Memory and Plasticity Program) และเจ้าของผลงาน Why We Remember: Unlocking Memory’s Power to Hold on to What Matters บอกว่า มันเป็นเรื่องของหลายปัจจัย ที่ทำให้เราจำข้อมูลบางอย่างได้ แต่ลืมข้อมูลบางอย่างไป

"การลืมเป็นเรื่องปกติของมนุษย์" เพราะสมองเราต้องรับข้อมูลมหาศาลตลอดเวลาและมันก็มีขีดจำกัด  เพราะสมองจะเก็บข้อมูลได้แค่ 3-4 อย่าง ต่อรอบ  แถมยังต้องคัดกรอง  เอาแต่สิ่งที่สำคัญ  และตัดพวกไม่จำเป็นออกไป สิ่งสำคัญคือข้อมูลนั้น ๆ มันเกี่ยวข้องกับเรายังไงมากกว่าการจดจำทุกอย่างไปซะหมด อีกอย่างการพัฒนาความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่ใช่การยัดเยียดทุกอย่าง แต่เป็นการโฟกัสสิ่งที่สำคัญและจำเป็นจริง ๆ

4 เทคนิคเด็ดเสริม Memoryให้จำแม่นขึ้น

1. การจัดกลุ่มข้อมูล (Chunking)

อย่างที่บอกว่าสมองคนเราจำได้แค่ 3-4 อย่างต่อครั้งเท่านั้น! วิธีการเอาชนะข้อจำกัดนี้คือการ "จับกลุ่ม" ข้อมูลให้ง่ายจำ ยกตัวอย่าง เบอร์โทรศัพท์ เราก็จำเป็นกลุ่ม 3-3-4 แทนที่จะจำ 10 ตัวรวดเดียว หรือใช้ตัวช่วยจำแบบย่อ เช่น SMART goals: Specific, Measurable, Achievable, Relevant, Time-bound เป็นต้น

ในหนังสือของ Charan บอกว่า เมื่อเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง สมองเราจะจำข้อมูลนั้น ๆ ได้เยอะ ช่วยให้เราคัดกรองข้อมูลใหม่ ๆ ได้เร็ว และแยกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อจำได้ง่ายขึ้น แทนที่การจำทุกอย่างที่เรียน

2. โฟกัส สมาธิ  คือ  หัวใจของความจำ (Focus and Attention)

การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) ส่งผลเสียต่อความจำมาก ๆ เวลาที่เราสลับโฟกัสไปมา มันจะมีช่วง "โหลด" ของสมอง Charan กล่าวว่า "ช่วงเสียเวลานี้ ส่งผลต่อสมาธิ ทำให้เราตามข้อมูลไม่ทัน ทุกครั้งที่สลับโฟกัส สมองเราก็จะเหมือนต้องเริ่มต้นใหม่"

เขาแยกคำว่า "สมาธิ" กับ "ตั้งใจ" สมาธิคือ การที่สมองเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดมาโฟกัส ส่วนตั้งใจคือ การใช้ความตั้งใจดึงดูดสมาธิให้ไปอยู่กับสิ่งที่เราอยากจำ สิ่งรบกวนต่างๆ เช่น อีเมล หรือเสียงแจ้งเตือน อาจจะดึงดูดสมาธิเราออกจากสิ่งที่ตั้งใจจะจำได้ ทำให้จำไม่แม่น "เวลามีอะไรหลายอย่างดึงดูดความสนใจ เราจะจำอะไรได้แบบเลือนราง สุดท้ายก็ลืม" ดังนั้น โฟกัสทีละอย่าง จะจำได้ดีที่สุด

3. จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการจำ (Setting Up Your Environment for Success)

สภาพแวดล้อมทุกอย่าง ตั้งแต่โต๊ะทำงาน ไปจนถึงเสียงแจ้งเตือนต่าง ๆ มีผลต่อความจำ การจัดการสิ่งรบกวนเหล่านี้ออกไป จะช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น 

4. ใช้ประสาทสัมผัส (Use Your Senses)

ข้อมูลจากประสาทสัมผัสต่าง ๆ ช่วยให้จำได้แม่นขึ้น Charan บอกว่า การโฟกัสกับสิ่งที่มองเห็น กลิ่น เสียง และประสาทสัมผัสอื่น ๆ รอบตัว จะช่วยสร้างความทรงจำที่ยั่งยืน วิธีนี้มีประโยชน์เวลานึกไม่ออกว่าวางของไว้ไหน เวลาที่เราตั้งใจจะจำอะไรสักอย่าง ลองหยุดสักพัก สังเกตสิ่งรอบตัว ดึงข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั้งหมดมาช่วย 

Charan อธิบายเพิ่มเติมว่า "วิธีจำสิ่งสำคัญก็เหมือนกับการสร้างความทรงจำที่โดดเด่น แตกต่าง เช่น ถ้าบนโต๊ะทำงานมีกระดาษโน้ตสีเหลืองเต็มไปหมด แต่ถ้ามีโน้ตสีชมพูสดใสอยู่แผ่นเดียว เราก็จะหาเจอมันได้ง่าย เพราะมันโดดเด่นกว่า”

นอกจาก 4 วิธีนี้ การพักผ่อนให้เพียงพอก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อความจำด้วยนะ เพื่อน ๆ ที่อยากพัฒนาความจำ เพิ่ม Memory ให้กับสมองของตัวเองก็อย่าลืมนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้กันด้วยนะ รับรองว่า "ความจำดีขึ้น" แน่นอน! ได้ผลลัพธ์ยังไงมาแชร์กันด้วยน้า

อ้างอิง : fastcompany

No comment