5 สิ่งที่ควรรู้! เมื่ออยากไปทำงานที่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย | Techsauce
5 สิ่งที่ควรรู้! เมื่ออยากไปทำงานที่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย

มีนาคม 7, 2023 | By Connext Team

คุณเคยมีความฝันอยากไปทำงานที่ต่างประเทศไหม ? หรืออยากจะเริ่มการผจญภัยบทใหม่ในชีวิตหรือเปล่า? ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็ตาม การไปทำงานต่างประเทศก็อาจเป็นอีกวิธีที่ดีในการพัฒนาทักษะในสายอาชีพของคุณได้ 

อย่างไรก็ตามการย้ายไปทำงานต่างประเทศอาจไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป สิ่งสำคัญคือ คุณควรต้องวางแผนอย่างรอบคอบและเตรียมตัวให้ดีก่อนที่จะย้าย เช่น การทำความรู้กับคนท้องถิ่น เรียนรู้ภาษาวัฒนธรรม และค้นหาองค์กรที่เหมาะกับความต้องการของคุณ วันนี้ ConNEXT จะพามาส่อง 5 วิธีการเตรียมตัวในการไปทำงานในต่างประเทศกัน!

5 สิ่งที่ควรรู้! เมื่ออยากไปทำงานที่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย

1. เริ่มเตรียมความพร้อม

ขั้นตอนแรกในการย้ายประเทศนั้น คุณจะต้องระบุประเทศที่คุณอยากไปทำงานก่อนโดยอาจจะเลือกจากประเทศที่มีครอบครัว ญาติพี่น้องหรือคนรู้จักอยู่ในประเทศหรือบริษัทที่คุณอยากทำงานด้วยหรือ ถ้าไม่มีประเทศที่อยากไปเป็นพิเศษให้ลองลิสต์ประเทศที่คุณอยากไปหรือบริษัทที่มีสำนักงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่ตรงกับความสนใจและทักษะของคุณ

2. หา Network ในประเทศที่คุณกำลังจะย้ายไป

ขั้นตอนต่อมา คุณอาจจะเริ่มสร้าง Network หรือสร้างคอนเนคชั่นเพิ่มเติม เพราะการย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศโดยที่ไม่มีคนรู้จักหรือคอนเนคชั่นเลยอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายพอสมควร

ถ้าหากคุณทำงานอยู่บริษัทระดับสากล อาจจะถามผู้จัดการหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่าเคยมีพนักงานย้ายไปที่สำนักงานในสาขาต่างประเทศหรือไม่? เพื่อขอช่องทางการติดต่อ หรือหากไม่มีจริงๆ ให้ลองค้นหา Networking Group ใน Google เช่น คนไทยซิดนีย์ วิศวกรไทยในลอนดอน หรือหาข้อมูลเกี่ยวกับศิษย์เก่า เพื่อนคณะเดียวกันในมหาวิทยาลัยที่กำลังทำงานหรือศึกษาต่อในประเทศที่คุณสนใจใน LinkedIn เพราะอาจจะช่วยให้คุณสามารถสร้างคอนเนคชั่นได้มากยิ่งขึ้น 

3. หาข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่า

วีซ่าถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึงเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะการทำงานหรือการท่องเที่ยว ในแต่ละประเทศก็มักจะมีการขอวีซ่าที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ในหลายๆ ประเทศนายจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเรื่องวีซ่าให้กับคุณ เพราะอาจจะเป็นข้อปฏิบัติในกฎหมายของแต่ละประเทศจึงทำให้บุคคลธรรมดาไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ในบางประเทศก็อาจจะต้องปรับสายงานหรืออาชีพของคุณเพื่อการขอวีซ่าได้ง่ายขึ้น หากในประเทศใดที่ขาดแคลนตำแหน่งที่คุณถนัดก็มีสิทธิ์สูงที่การขอวีซ่าการทำงานในประเทศนั้นของคุณจะมีโอกาสได้ง่ายมากขึ้น

4. เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมในประเทศนั้น

หนึ่งในอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการทำงานในต่างประเทศ นั่นก็คือ ภาษา ในบางบริษัทอาจจะให้คุณใช้ภาษาอังกฤษได้ในตอนที่เริ่มการทำงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปทางองค์กรอาจจะอยากให้คุณเรียนภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ หรือบางที่อาจขอผลวัดระดับความสามารถทางภาษาในการจ้างงานหรือสมัครงาน นอกเหนือจากการใช้ภาษาท้องถิ่นในที่ทำงานแล้ว การเรียนภาษาของประเทศนั้นๆ ก็อาจเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตภายในประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้น 

นอกจากภาษาอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ วัฒนธรรมการทำงานในแต่ละองค์กรหรือประเทศก็จะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป แม้บางครั้งพวกเขาอาจจะใช้ภาษาเดียวกันหรือมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันแต่ก็ใช่ว่าจะมีการทำงานที่เหมือนกันเสมอไป จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้คุณสามารถปรับตัวและเตรียมรับมือกับสิ่งที่คุณจะต้องเผชิญในอนาคตได้

5. เตรียมรับมือกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

ไม่ว่าคุณจะอยากไปทำงานในต่างประเทศมากแค่ไหนหรือหาข้อมูลมาเยอะมากเท่าไหร่ก็ไม่มีอะไรรับรองได้เลยว่าคุณจะได้ย้ายไปทำงานในประเทศที่คุณอยากไป เพราะอาจจะใช้เวลานานพอสมควร แม้ว่าจะเป็นการสมัครงานภายในประเทศของคุณเองก็สามารถใช้เวลาเป็นเดือนกว่าทางบริษัทจะติดต่อกลับมา เช่นเดียวกันกับบริษัทในต่างประเทศที่อาจจะใช้เวลานานกว่านั้น

แต่ถ้าหากคุณทำไม่สำเร็จในครั้งแรกก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป ให้ลองขอคำแนะนำจากคนภายใน Network ว่าควรปรับแก้ตรงไหน? สามารถเพิ่มอะไรภายใน Resume ได้บ้างหรือไม่? หรือถ้าคุณได้เข้าไปถึงรอบสัมภาษณ์แล้ว แต่ทางบริษัทยังไม่ติดต่อกลับมา อาจจะกลับมาทบทวนว่าเราสร้างข้อผิดพลาดตรงไหนหรือเปล่า? สามารถพัฒนาส่วนไหนเพิ่มเติมได้บ้างหรือเป็นที่กำแพงทางภาษาซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในบางประเด็นได้ การหางานทำหรือย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศนั้นอาจจะใช้เวลานาน แต่เชื่อเถอะว่าคุณสามารถทำได้

การหาข้อมูลเกี่ยวกับการไปทำงานในต่างประเทศนั้นอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนานหรือเจอปัญหาที่ไม่คาดคิด บางทีก็เกิดความล้มเหลว แต่ความล้มเหลวนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุดเสมอไป แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง ทำให้เรามีเวลาคิดทบทวนในสิ่งที่เราอาจจะทำพลาดและปรับปรุงสิ่งเหล่านั้นให้เป็นเราที่ดียิ่งขึ้น 


เขียนโดย : Nichaphat Srijumpa 

อ้างอิง : hbr, cariber

No comment