อัปเดตแผนการเงินของชาว Gen Z ในปี 2023 โดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงินอย่าง BNN Bloomberg | Techsauce
อัปเดตแผนการเงินของชาว Gen Z ในปี 2023 โดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงินอย่าง BNN Bloomberg

มกราคม 12, 2023 | By Suchanan Songkhor

สำหรับคนรุ่นใหม่อย่าง Generation Z แน่นอนว่าหลายคนอาจใช้เวลาไปกับการจับจ่ายใช้สอย เพื่อระบายความเครียดจากการทำงานโดยลืมคำนึงถึงเรื่องการออม การลงทุน หรือแม้แต่การเกษียณอายุ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวในวัยของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วการวางแผนการเงินนั้นมีประโยชน์กว่าที่คิด ซึ่งถ้าคุณไม่รีบวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ อาจส่งผลให้คุณมีเงินไม่พอสำหรับใช้จ่ายในอนาคตได้ 

ฉะนั้นวันนี้ ConNEXT จะมาบอก 5 สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำสำหรับการวางแผนทางการเงินของ Generation Z จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!  

รู้ทันสถานะการเงินของตัวเอง 

งบการเงินส่วนบุคคล คือ รายการแสดงข้อมูลทางการเงินของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะด้านทรัพย์สิน หนี้สิน รายรับ รายจ่าย หรือรายการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงิน ซึ่งงบการเงินส่วนบุคคลกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนการเงิน เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณรู้สถานะการเงินของตัวเองแล้ว ยังช่วยประเมินสถานการณ์การเงินของคุณได้อีกด้วย 

แต่ทุกวันนี้ผู้คนส่วนมากกลับไม่ค่อยโฟกัสกับรายได้ ค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่การลงทุนมากนัก ซึ่ง Dustin Smith ที่ปรึกษาทางการเงินของ Wealth Enhancement Group กล่าวว่า ก่อนทำธุรกรรมทางการเงินทุกครั้ง คุณควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งนั้นให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการบัตรเครดิต และควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการสร้างแผนเงินออมระยะสั้นและระยะยาว

สำรองเงินฉุกเฉินไว้อุ่นใจกว่า

สำหรับชาว Gen Z ที่กำลังเริ่มทำงาน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน บอกเลยว่าการมีเงินสำรองถือเป็นเรื่องที่ง่าย เพราะคุณมีรายรับที่มั่นคงในทุกๆ เดือนอยู่แล้ว จึงทำให้คุณสามารถวางแผนการเงินของตัวเองได้ชัดเจน 

ซึ่งนักวางแผนการเงินแนะนำว่า เงินออมฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งบางคนอาจมีมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ แต่การมีเงินสำรองที่มากเกิน อาจทำให้เสียโอกาสในการหาผลตอบแทนจากการลงทุน แต่หากน้อยเกินไปก็อาจไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน 

ฉะนั้นเมื่อคุณได้รับเงินเดือน คุณควรจัดลำดับความสำคัญของเงินก่อนเป็นอันดับแรก และควรแบ่งเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ไว้ด้วยโดยทางผู้เชี่ยวชาญอย่าง TJ Williams นักวางแผนทางการเงินของ Wealth Enhancement Group กล่าวว่า เงินส่วนแรกที่คุณควรแบ่งออกมาจากเงินเดือน คือเงินออมที่ไว้สำหรับใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน และเมื่อแบ่งเงินออมออกมาแล้ว เงินในส่วนที่เหลือให้คุณนำไปใช้จ่ายหนี้หรือใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เพราะการทำแบบนี้จะช่วยให้คุณจัดสรรเงินได้ง่าย รวมถึงไม่ให้ให้คุณถล้ำลึกในการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นด้วย

ซึ่งหากคุณมีรายได้เสริมเพิ่มเติมจากงานประจำ TJ Williams แนะนำว่าให้นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนกับพันธบัตรหรือกองทุนตามธนาคาร เช่น เปิดบัญชีฝากประจำ หรือลงกองทุนรวมตลาดเงิน ที่ให้ผลตอบแทนสูง เพราะนอกจากช่วยให้เงินของคุณงอกเงยแล้ว ยังป้องกันเงินของคุณจากภาวะเงินเฟ้อได้อีกด้วย 

วางแผนเพื่อการเกษียณอายุ

จากวิกฤตของโรคระบาดที่เกิดขึ้น ตอกย้ำให้เห็นว่าการมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ฉะนั้นทางที่ดีคุณควรมีเงินออมสำรองเพื่อรองรับการเกษียณของคุณไว้ด้วย

ซึ่งทุกวันนี้กองทุนการออมระยะยาวที่คนส่วนใหญ่นิยมมีด้วยกัน 3 ประเภท เช่น

เรียนรู้การทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เพิ่ม

 Gen Z มีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบสุขนิยม กล่าวคือ ยอมใช้จ่ายเพื่อความสุขง่ายกว่า Generation อื่นๆ ในการรับบริการและสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จนอาจทำให้เป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นคุณควรเลือกแผนการเงินที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของคุณ เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ 

ลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง 

สำหรับใครที่ต้องการลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนเพื่อการเกษียณหรือการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกระจายการลงทุนพันธบัตรหรือสารตราทุน ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนในตราสารทุนอาจได้รับผลตอบแทนที่สูงมักจะตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงตามมาด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันการลงทุนพันธบัตรแม้จะได้รับผลตอบแทนที่น้อยกว่าแต่กลับมีแนวโน้มที่จะเสถียรมากกว่า

Michelle Griffith ที่ปรึกษาด้านการบริหารความมั่งคั่งของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ของ Citi ผู้ให้บริการทางด้านการเงิน กล่าวว่า การกระจายการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรสัดส่วน 60/40  อาจเหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง แต่ทั้งนี้คุณควรกำหนดความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นก่อนลงทุนทุกครั้งคุณควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีเพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด 

อ้างอิง : bnnbloomberg

No comment