เมื่อผู้หญิงสายเทค 38% จะลาออกจากงาน เพราะปัญหาอคติทางเพศในที่ทำงาน | Techsauce
เมื่อผู้หญิงสายเทค 38% จะลาออกจากงาน เพราะปัญหาอคติทางเพศในที่ทำงาน

มีนาคม 11, 2022 | By Siramol Jiraporn

8 มีนาคม วันสตรีสากล (International Women’s Day) สะท้อนถึงความยากลำบากของผู้หญิงที่ต้องเผชิญในสังคม และก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเน้นย้ำถึงความสำเร็จทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของผู้หญิง ในการเรียกร้องความไม่เป็นธรรม และถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงานเมื่อ 100 กว่าปีก่อน

สังคมได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จนมาถึงวันนี้ที่ได้ก้าวมาไกลจากโลกในอดีต การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนี้ทำให้ผู้หญิงหลายคนมีโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเป็นนายกรัฐมนตรี แพทย์ และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วแม้โลกจะมีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศก็ยังคงมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจ

ผู้หญิงสายเทค ลาออก

ผู้หญิงสายเทค 38% วางแผนลาออกจากงาน

จากรายงานโดย New View Strategies บริษัทจัดการธุรกิจ ชี้ให้เห็นว่า ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงมีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศให้เห็นอยู่บ่อยๆ โดยผู้หญิงสาขาเทคโนโลยีประมาณ 1 ใน 3  กล่าวว่า พวกเธอต่างก็ประสบกับอคติทางเพศในที่ทำงาน

หลังจากการสำรวจผู้หญิงที่ทำงานสายเทค 1,000 คน พบว่า 38% กล่าวว่า ผู้ชายมีความสามารถกว่าผู้หญิงในที่ทำงาน และ 38% วางแผนจะลาออกจากการทำงานสายเทคภายในอีก 2 ปีข้างหน้า และผู้หญิงเกือบครึ่ง (46%) บอกว่า องค์กรไม่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจัง ทั้งในการจ้างงานและวัฒนธรรมองค์กร

อคติทางเพศสามารถพบเจอได้ในหลายๆ ด้าน แต่สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือการจ่ายเงินเดือน โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 43% เชื่อว่ามีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ (Gender pay gap) แต่มีผู้หญิงเพียง 24% เท่านั้นที่พูดคุยเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงาน

แม้ว่าการทำงานทางไกลจะช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานลงไปได้บ้าง แต่ปัญหาก็ไม่ได้หมดไปซะทีเดียว เพราะผู้หญิง 1 ใน 10 กล่าวว่า พวกเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่าน Slack หรืออีเมล ผู้หญิง 70% กล่าวว่าพวกเธอชอบการปิดกล้องระหว่างวิดีโอคอลมากกว่า และ 48% ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ทำงานมีนโยบายป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงานทางไกลหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกว่าขาดการสนับสนุนจากองค์กร ความเหลื่อมล้ำในที่ทำงานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้ 1 ใน 3 ของผู้หญิงสายเทควางแผนลาออกจากงานหรือเปลี่ยนสายอาชีพไปเลย

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ผู้ตอบแบบสอบถามก็ยังได้รับผลกระทบต่ออาชีพการงาน โดยผู้หญิง 52% บอกว่า ภาระงานเพิ่มขึ้น 27% บอกว่า ตอนนี้เขามองโลกในแง่ร้ายมากขึ้นเกี่ยวกับอาชีพการงานของตัวเอง 

นอกจากนี้การเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดก็เป็นสิ่งสำคัญต่อความคล่องตัวในการทำงานเช่นกัน แต่ผู้หญิงกว่าครึ่ง (52%) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขาดโอกาสความก้าวหน้า และยังมีอุปสรรคอื่นๆ เช่น ขาดแบบอย่างที่เป็นผู้หญิง ขาดการให้คำปรึกษา และขาดทรัพยากรสำหรับการฝึกอบรม

เมื่อถามว่าทำไมถึงตัดสินใจเลือกทำงานสายเทค ผู้หญิงประมาณ 46% กล่าวว่า เพราะค่าตอบแทน 33% กล่าวว่า เพราะงานมั่นคง ส่วนคนอื่นๆ ก็ให้เหตุผลที่แตกต่างกันไป เช่น ความชอบ หรือเพิ่มโอกาสในการทำงาน

อีกทั้งข้อดีของการทำงานสายเทคที่ผู้หญิงมองเห็นยังมีเรื่อง PTO การลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความไม่เท่าเทียมทางเพศมากมายอยู่ในวงการนี้ แต่ก็ช่องทางอีกมากมายเช่นกันที่องค์กรสามารถอุดช่องว่างเหล่านี้ได้ เช่น การเพิ่มจำนวนผู้หญิงในทีมให้มากขึ้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับผู้หญิงในทีม

ก้าวสู่โลกที่มีความเท่าเทียมทางเพศ

Anna Mleczko ผู้เชี่ยวชาญด้าน Partnership Marketing ที่ Future Processing พูดถึงแนวทางการก้าวสู่โลกที่มีความเท่าเทียมไว้ว่า “หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในแง่ของการเลื่อนตำแหน่ง การแชร์ข้อมูลเงินเดือนของแต่ละตำแหน่งและสายอาชีพจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์เพื่อรับประกันความเท่าเทียมทางเพศในด้านนี้”

นายจ้างสามารถส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศได้โดยการสร้างความโปร่งใสด้านการจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเพศชายกับเพศหญิงได้ค่าจ้างในระดับเดียวกันจริงๆ 

นอกจากนี้ ความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (Psychological safety) ก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น จึงควรสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าตัวเองมีความปลอดภัยทางจิตใจและสามารถเติบโตต่อไปได้ ตัวอย่างการส่งเสริมต่างๆเช่น การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรร่วมกัน สิ่งนี้จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับอนาคตของคนรุ่นต่อๆ ไป

ถึงเวลาทำลาย Stereotypes แบบเดิมๆ

การขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศควรเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกนำมาใช้ให้เร็วที่สุด เพราะจะสามารถส่งผลเชิงบวกในระยะยาวได้ เช่น การสอนลูกเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จะนำไปสู่ความเสมอภาค หรือแม้แต่ผู้บริหารระดับสูงก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยการทำให้ความเท่าเทียมทางเป็นเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของตัวเอง เพื่อสนับสนุนผู้หญิงที่อยู่รอบข้าง

แต่การจัดการปัญหาอคติทางเพศให้หมดไปจริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับการละทิ้งทัศนคติแบบเหมารวมไปให้หมด มีหลายคนที่มองว่าตัวเองก็ไม่ได้เป็นคนที่ชอบเหมารวมทางเพศ โดยอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเหมารวมคนอื่นอยู่ 

การยอมรับปัญหาถือเป็นขั้นตอนแรกของการแก้ไขปัญหา เมื่อผู้ที่เหมารวมคนอื่นมองเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้ไปสู่ขั้นตอนต่อไปนั่นคือการหยุดเหมารวมแบบเดิมๆ และส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ เริ่มตั้งแต่คนอายุน้อยๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การเหมารวมกลายเป็นที่พูดถึงและตระหนักถึงอย่างเป็นวงกว้างในทุกวงการ

คำแนะนำสำหรับผู้หญิงสายเทค

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว การก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจอาจดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ก็มีแค่ตัวเราเองเท่านั้นที่สามารถตัดสินชีวิตและอนาคตของตัวเองได้ อย่าปล่อยให้ใครก็ตามมาพูดว่าเราไม่สามารถทำงานนี้ได้และปล่อยให้ความฝันของตัวเองหลุดลอยไป เพราะบางสิ่งบางอย่างต้องใช้เวลา เมื่ออยู่ในจุดเริ่มต้นของการทำงานให้อดทนไปก่อน อย่าเพิ่งตัดสินใจลาออก เพราะคนเราต้องเริ่มจากศูนย์เสมอ และจำไว้ว่าไม่มีใครในโลกที่รู้ทุกเรื่อง

อ้างอิง CNBC, TechNative

No comment