กุมภาพันธ์ 23, 2021 | By Nabhatara Sinthuvanich
ทุกวันนี้ ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับคำว่า ‘Productive’ แทบทุกแง่มุมของชีวิต คนรุ่นใหม่ต่างได้รับการปลูกฝังให้เติบโตขึ้นเป็นคนเก่งและต้องประสบความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนผ่านบทความมากมายบนโลกออนไลน์ ที่คอยแนะนำให้เราใช้ทุกวินาทีของชีวิตอย่างคุ้มค่าในการพัฒนาตนเองเพื่อความสำเร็จ แต่หากมองกลับกัน เราจะต้องใช้ชีวิตในทุกวันเหมือนกับนักรบที่ต้องกระหายชัยชนะอย่างนั้นหรือ? ทั้งที่จริงแล้ว บางวัน เราอาจจะแค่อยากใช้เวลาว่างๆ นอนดูซีรี่ย์หรือทำงานอดิเรกที่เราชอบก็ได้
เมื่อถูกปลูกฝังให้ Productive อยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เราว่างจากการทำอะไรก็ตาม ความรู้สึกผิดมักจะเกิดขึ้นภายในจิตใจเสมอ เรามักจะรู้สึกว่า ทำไมเราไม่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อ่านหนังสือพัฒนาตนเอง หรือฝึกทักษะที่ต้องใช้ในการทำงาน
Julie de Azevedo Hanks นักจิตวิทยาชื่อดัง และผู้ก่อตั้ง Wasatch Family Therapy ได้อธิบายถึงสาเหตุของความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นไว้ว่า คนรุ่นใหม่มักเชื่อมโยง Productivity เข้ากับคุณค่าของตนเอง เป็นผลให้ เมื่อเราไม่ productive เรามักจะรู้สึกว่า คุณค่าในการใช้ชีวิตแต่ละวันลดลง นอกจากนี้ ความเชื่อแบบผิดๆที่ว่า ต้องประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนผู้อื่น ยังทำให้เรารู้สึกไร้ค่า เมื่อไม่ได้ทำอะไรที่จะช่วยให้เราก้าวหน้า
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณกำลังรู้สึกผิดกับการขาด ‘Productivity’ ในชีวิต คุณควรปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า เราไม่จำเป็นต้องนักรบที่กระหายชัยชนะตลอดเวลา เราสามารถก้าวเดินให้ช้าลงได้อย่างมีความสุข เพราะ ชีวิตยังมีอีกหลายแง่มุมให้คุณได้ค้นหาและเรียนรู้ เพราะฉะนั้น โปรดอย่ารู้สึกผิดกับสิ่งที่คุณไม่ได้กระทำผิดเลยนะ
มองข้ามการเปรียบเทียบและการแข่งขัน
Riane Eisler นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาร่วมสมัย เคยกล่าวไว้ว่า สังคมและวัฒนธรรมของเรา ณ ปัจจุบัน ถูกจัดระเบียบและโครงสร้างด้วยชนชั้นทางสังคมของสมาชิกแต่ละคน คนชนชั้นต่ำกว่า มักจะถูกรังแกและเอารัดเอาเปรียบจากคนชนชั้นสูงกว่า แนวคิดนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อไต่เต้าฐานะทางสังคมให้สูงขึ้น ผู้คนมากมายจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือผู้อื่น เพราะ ถ้าหากยังย่ำอยู่กับที่ คนอื่นก็จะวิ่งแซงหน้าเราขึ้นไปแบบไม่เห็นฝุ่น
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบและแข่งขันกับใครเลยด้วยซ้ำ เพราะ ท้ายที่สุดเราก็ยังเป็นมนุษย์ ที่ต้องเรียนรู้ ทำงาน และพักผ่อนเหมือนกัน ต่างคนต่างต้องใช้ชีวิตกันไปตามทางของตัวเอง หากคุณยังยึดติดว่า คุณจะต้องประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น ชีวิตของคุณจะต้องแข่งขันและเปรียบเทียบกับผู้อื่นตลอดเวลา ทุกวินาทีที่ผ่านไป จะเต็มไปด้วยความวิตกกังวลว่า เราจะแซงหน้าผู้อื่นไปได้อย่างไร จนไม่มีเวลาที่จะใช้ชีวิตอย่างที่มนุษย์ควรเป็นอีกเลย
เรียนรู้ระหว่างทาง แต่ไม่จำเป็นต้องโฟกัสที่ความสำเร็จปลายทาง
คนรุ่นใหม่ มักจะมีเป้าหมายในแต่ละช่วงชีวิตว่า จะต้องประสบความสำเร็จกับอะไรบ้าง ซึ่งแนวคิดนี้ ล้วนแล้วแต่ช่วยให้เรามีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตแต่ละวันได้เป็นอย่างดี แต่ทว่า บางครั้ง มันอาจทำให้เราเครียดและกดดันตัวเองมากเกินไป จนไม่ได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตที่แท้จริง ดังนั้น แทนที่จะโฟกัสไปยังความสำเร็จปลายทางที่ยังมาไม่ถึง คุณควรเรียนรู้และตักตวงจากประสบการณ์ระหว่างทางที่เกิดขึ้น มองทุกวินาที ที่คุณยังมีลมหายใจว่า เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ชีวิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะ ‘Productive’ ตามนิยามของคนทั่วไปหรือไม่ก็ตาม
เตือนตัวเองทุกครั้งว่า เวลาว่างของเรา ก็สามารถ ‘Productive’ ได้
ปัจจุบัน การใช้เวลาว่างไปกับการพักผ่อนหย่อนใจ กลายเป็นสิ่งที่ถูกนิยามว่า เป็นตัวขัดขวาง Productivity ในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ทั้งที่จริงแล้ว การใช้เวลาว่าง ก็สามารถ Productive ได้เช่นกัน
Peter Bregman นักเขียน ผู้เขียนหนังสือ Four Seconds: All the Time You Need to Stop Counter-Productive Habits and Get the Results You Want กล่าวไว้ว่า ไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆมักจะเกิดขึ้น เมื่อเราไม่ได้ทำงาน และใช้เวลาว่างไปกับกิจวัตรประจำวัน เช่น ขณะอาบน้ำ นั่งอ่านหนังสือการ์ตูน หรือแม้กระทั่ง เพียงแค่นั่งเล่นบนโซฟาที่บ้าน ช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะไร้สาระเช่นนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่สมองของเราผ่อนคลาย เป็นผลให้ประสิทธิภาพในการใช้ความคิดดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น หากคุณต้องการดำเนินชีวิตด้วย Productivity ที่ดี คุณควรแบ่งเวลาบางส่วนไว้สำหรับผ่อนคลายตัวเองบ้าง เพื่อให้คุณพร้อมสำหรับการทำงานในวันรุ่งขึ้น
เผชิญหน้ากับความรู้สึกผิดในจิตใจ
บางครั้ง เมื่อรู้สึกผิดกับคำว่า Productive วิธีการขจัดกับความรู้สึกที่ไม่ดีออกไป คือ เราต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกเหล่านั้น เช่น หากคุณกำลังรู้สึกผิด ที่จะไม่เปิดคอมพิวเตอร์ทำงานวันนี้ ทั้งๆที่เป็นวันหยุด คุณควรรีบปิดคอมพิวเตอร์ทันที ออกไปนั่งคาเฟ่สวยๆ พร้อมจิบกาแฟอุ่นๆยามบ่าย ลองมองออกไปนอกหน้าต่าง มองผู้คนเดินสวนกันไปมา และที่สำคัญ คือ ห้ามนำอุปกรณ์หรือสิ่งใดก็ตาม ที่จะรบกวนจิตใจของคุณให้กลับมาฟุ้งซ่านไปด้วย เพื่อให้คุณหลุดออกจากความรู้สึกผิดในใจได้อย่างแท้จริง
เป้าหมายในชีวิตตั้งได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง
เราอาจจะรู้สึกผิดและวิตกกังวลว่า การที่เราเคยตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้สูง แต่ต่อมากลับปรับให้เข้ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จะทำให้เรากลายเป็นคนที่เกียจคร้าน และไม่มีทางเจอกับความสำเร็จในชีวิต แต่แท้จริงแล้ว หากเราตั้งเป้าหมายในชีวิต บนพื้นฐานของความเป็นจริง ย่อมทำให้มีแรงที่จะสามารถดำเนินชีวิตด้วย Productivity มากกว่า
จะรู้ได้อย่างไรว่า เป้าหมายในชีวิตของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง?
ก่อนอื่น ตั้งสติและจดจ่ออยู่กับร่างกายและจิตใจของเราให้ดีเสียก่อน เพื่อขจัดความกดดันและความวิตกกังวลออกไป เมื่อจิตใจของเราสงบลง ลองคิดพิจารณาจากบริบทรอบตัวว่า เป้าหมายในชีวิตของเรา คือ อะไร เราต้องใช้อะไรบ้าง เพื่อที่จะไปสู่จุดนั้น และเป็นไปได้ไหม ที่เราจะไปถึงจุดมุ่งหมายของเราด้วยความสุข ถ้าหากคำตอบที่ได้รับ คือ เราสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายในชีวิตที่ตั้งไว้ จงเดินทางที่เราเลือกอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าหากคิดแล้วว่า มันไม่น่าจะเป็นไปได้ ลองปรับเป้าหมายในชีวิตให้กับโลกแห่งความเป็นจริงสักหน่อย ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณค่าของชีวิตเราจะน้อยลงเลยสักนิด
ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ระหว่างทางที่จะไปถึงเป้าหมายชีวิตที่เราตั้งไว้ ต้องให้โอกาสตัวเองในการพักผ่อนบ้าง เมื่อถึงเวลาที่ต้องเรียนรู้ จงตั้งใจเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในทุกวัน แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องพัก จงพักด้วยจิตใจที่สงบ อย่าไปนึกเสียใจว่า นั่น คือ การสูญเสีย Productivity ในชีวิตไป เพราะ ชีวิตยังมีอะไรอีกมากมายให้คุณได้เรียนรู้เสมอ
อ้างอิง: PsychCentral
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่