เริ่มต้นบริหารเงินเดือนก้อนแรกในชีวิตอย่างไรดี? | Techsauce
เริ่มต้นบริหารเงินเดือนก้อนแรกในชีวิตอย่างไรดี?

ตุลาคม 8, 2021 | By Connext Team

เมื่ออิสระทางการเงินที่มากขึ้น มาพร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง เราจะเริ่มวางแผนการใช้เงินของเราอย่างไรดี?

บริหารเงิน

“เด็กจบใหม่ อยากรู้วิธีเก็บเงินของพี่ๆ ครับ”

“มนุษย์เงินเดือนจบใหม่ ต้องเก็บเงินยังไงให้มีเงินเก็บ”

“ทำงานมา 6-7 เดือน ไม่มีเงินเก็บเลย ช่วยแนะนำทีค่ะ”

ทั้งหมดที่ว่ามาข้างต้น คือตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของหัวข้อกระทู้ในเว็บไวต์ชื่อดังอย่างพันทิป ที่มีเพื่อน ๆเหล่านิสิตนักศึกษาจบใหม่ป้ายแดงมากมาย 

มาเขียนระบายความในใจถึงปัญหาชีวิตด้านการเงินหลังเรียนจบ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ข้างในนั้น มักพูดถึงความกังวลเรื่องการบริหารรายได้ที่ไม่ค่อยมีความสมดุลกับรายจ่ายเท่าไรนัก จนนานวันเข้าเริ่มกลายเป็นความเครียดสะสมในการใช้ชีวิต ‘Finance for Fresh Grad 101’ ตอนที่ 1 จาก ConNEXT จึงมาพร้อมกับคำแนะนำขั้นเบื้องต้น เกี่ยวกับการบริหารเงินผ่านหลักการที่เรียกว่า ‘50-30-20’ สูตรบริหารเงินเดือนขั้นเบื้องต้น ที่ง่ายมากๆและทำได้จริงมาฝากเพื่อน ๆ ทุกคนกัน

ทำความรู้จักกับ 50-30-20

หลักการ 50-30-20 ถูกคิดขึ้นโดย Elizabeth Warren ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและศาสตราจารย์จากแมสซาชูเซตส์ และถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือที่มีชื่อว่า All Your Worth: The Ultimate Lifetime Money Plan โดยที่แต่เดิมมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการแบ่งรายได้หลังหักภาษีและการจัดสรรค่าใช้จ่าย ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ 50 เปอร์เซ็นต์แรกกันไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ถัดมาเอาไว้สำหรับความต้องการส่วนตัว และ 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายมีไว้เพื่อการเก็บออม ต่อมาเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั่วโลก เริ่มมองเห็นประโยชน์ของหลักการนี้กันมากขึ้นและเริ่มหยิบเอามาเป็นไกด์ในการบริหารจัดการเงินเดือนของตัวเองกันอย่างแพร่หลาย

หลักการและตัวอย่างการคำนวณ

50% สำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิต

สิ่งที่จำเป็นในชีวิตของแต่ละคนย่อมมีไม่เหมือนกัน ถ้าหากสงสัยว่าควรจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ ให้นึกถึงสิ่งที่หากไม่จ่ายแล้วจะทำให้ชีวิตของเราไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าข้าว ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าเดินทางในการไปทำงานแต่ละวัน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากเราคำนวณและพบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับความต้องการในชีวิตดันมีมากกว่าสิ่งที่จำเป็น ให้ตระหนักว่าเรากำลังมีการจัดการรายจ่ายที่ไม่เหมาะสม วิธีแก้ง่ายๆ คือให้พยายามปรับไลฟ์สไตล์ของเราโดยถ่วงน้ำหนักไปที่ความจำเป็นก่อนเสมอ เช่น พยายามทำอาหารทานเองบ้างวันละมื้อ หรือปรับความถี่ของการซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้น้อยลง

30% เพื่อความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของเรา

“ของมันต้องมี แต่ไม่มีก็ไม่เป็นไร” คือหลักในการใช้แบ่งแยกเงินที่ใช้ซื้อของที่ ‘อยากได้’ ออกจากเงินสำหรับสิ่งที่จำเป็น ตัวอย่างค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เช่น เงินสำหรับแผนท่องเที่ยวในวันหยุด เน็ตฟลิกซ์ หรือเงินสำหรับซื้อชุดเก่งตัวใหม่ แน่นอนว่าการใช้ชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องของอนาคตและการก้มหน้าก้มตาทำงานหาเงินเพียงอย่างเดียว การใช้เงินไปกับสิ่งที่เราต้องการบ้าง จะช่วยเสริมให้เรามีความภูมิใจในตนเอง และนานๆไปจะส่งผลให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิต และมีกำลังใจในการทำงานต่อไปได้ ดังนั้นแล้ว เพื่อนๆ ก็อย่าลืมเผื่อเงินไว้ใช้จ่ายกับความต้องการของตัวเองด้วย

20% แบ่งเก็บเพื่ออนาคตที่มั่นคง

การเก็บเงิน ยิ่งไวเท่าไร จะยิ่งช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในภายภาคหน้าได้มากเท่านั้น สิ่งสำคัญของการออมเงิน คือเรื่องของความไวในการเริ่มต้นเก็บไม่ใช่ที่ปริมาณ พลังของดอกเบี้ยทบต้นจะช่วยให้ดอกผลของการออมเงินของเรางอกงามไปเรื่อยๆเอง ทั้งนี้ขอแนะนำว่า หากเพื่อนๆ ไม่อยากให้เงินส่วนนี้ไปปะปนกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ก็ให้แยกเก็บไปอีกบัญชีที่ใช้เพื่อการเก็บเงินโดยเฉพาะไปเลยดีกว่า

แต่ถ้าหากใครไม่ต้องการฝากเงินรับแค่ดอกเบี้ยอย่างเดียว ก็สามารถแบ่งเงินออมออกมาบางส่วนเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำได้เช่นกัน เช่น กองทุนรวมหรือการออมหุ้น ซึ่งไม่ต้องใช้ประสบการณ์และเงินก้อนใหญ่มากนักในการลงทุน เน้นการลงเงินจำนวนเท่าเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงระยะเวลาที่กำหนด หรือจะเลือกแบบอื่นตามที่คิดว่าเข้ากับตนเองก็ได้เช่นกัน

มาดูตัวอย่างการคำนวณกัน

มินดี้อายุ 23 ปี พึ่งจบการศึกษามาได้ครึ่งปี ปัจจุบันทำงานเป็นกราฟฟิกดีไซน์ในบริษัทแห่งหนึ่ง ได้เงินเดือนเดือนละ 23,000 บาท

50% สำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิต : 23,000 X 0.5 = 11,500 บาท

30% เพื่อความสุขเล็กๆน้อยๆ : 23,000 X 0.3 = 6,900 บาท

20% แบ่งเก็บเพื่ออนาคตที่มั่นคง : 23,000 X 0.2 = 4,600 บาท

แล้วทำไมหลักการนี้ถึงตอบโจทย์เด็กจบใหม่

เด็กจบใหม่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็จริง แต่ก็มีอิสระทางการเงินมากขึ้นเช่นกันดังนั้น เงินเดือนเดือนแรกจึงไม่ได้หมายถึงการเติบโตและการต้องมีความรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังมีความหมายว่า หลังจากนี้ชีวิตจะเป็นของเราอย่างแท้จริงด้วย ดังนั้น นี่อาจเป็นครั้งแรกของใครหลายๆ คนที่จะได้ใช้เงินที่ตัวเองหามาเพื่อซื้อของที่ตัวเองอยากได้จริงๆโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกต่อว่า อีกทั้งหนึ่งสิ่งที่เราต้องตระหนักไว้เสมอก็คือเมื่อเราโตขึ้น เราจะมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ และบางส่วนจะมาในรูปแบบของภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และอีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กจบใหม่ยังไม่ต้องเผชิญ 

‘50-30-20’ จึงเป็นเหมือนสูตรการบริหารเงินที่ลงตัว ระหว่างเรื่องของความมั่นคงในอนาคต และการหาความสุขให้ตัวเองในตอนนี้ เพราะนอกจากจะพูดถึงการออมเงินเพื่ออนาคตและสิ่งจำเป็น ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นการใช้จ่ายเพื่อความสุขของตัวเองด้วย โดยในเรื่องนี้ มีผลการวิจัยทางจิตวิทยาจาก Forbes ระบุไว้ว่า การใช้เงินมีความเชื่อมโยงกับความรู้สึกมีความสุขของเจ้าของเงินจริง นอกจากนี้ การใช้เงินไปกับการสร้างประสบการณ์ เช่น การไปท่องเที่ยว จะมอบความสุขให้กับผู้ใช้เงินได้มากกว่าการจ่ายเงินเพื่อซื้อของทั่วไปด้วย ซึ่งคงไม่มีใครที่จะต้องการสร้างประสบการณ์ในชีวิตไปมากกว่าเหล่าเด็กจบใหม่ที่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง ยังพอมีเวลาและเริ่มมีอิสระในการใช้เงิน ดังนั้นแล้ว การที่เราหาเงินเพื่อตอบสนองความอยากจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป

สุดท้ายนี้ หัวใจสำคัญของสูตรการบริหารเงินแบบต่างๆ แท้จริงแล้วก็คือการออมเงินนั่นเอง สิ่งที่ต้องทำคือการกันเงินส่วนหนึ่งมาออมตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่รู้ตัวว่ามีสกิลด้านการจัดการในระดับหนึ่งหรือเคยมีประสบการณ์ต้องบริหารเงินค่าขนมของตัวเองมาตั้งแต่สมัยเรียน อาจจะใช้สัดส่วนแบบ ‘80-20’ ที่เป็นค่าใช้จ่าย 80 เปอร์เซ็นต์ เงินออม 20 เปอร์เซ็นต์แทนก็ได้ และในขั้นเริ่มต้นถึงเงินออมจะยังน้อยก็ไม่เป็นไร แต่เริ่มให้ไวก็พอ

อ้างอิงจาก

No comment