รู้จัก Gaslighting ในที่ทำงาน เรากำลังโดนปั่นหัวให้รู้สึกผิดโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า? | Techsauce
รู้จัก Gaslighting ในที่ทำงาน เรากำลังโดนปั่นหัวให้รู้สึกผิดโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า?

เมษายน 27, 2022 | By Connext Team

ตามการรายงานโดย Psychology Today แล้ว คำว่า Gaslighting คือ กลวิธีที่บุคคลใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทำให้เหยื่อตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘หรือเราเป็นคนผิด?’ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการปั่นหัวให้รู้สึกผิดโดยไม่รู้ตัว โดยผู้ที่ทำการ Gaslighting คนอื่นสามารถเรียกได้ว่าเป็น Gaslighter 

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มสงสัยในตัวเอง และเชื่อในสิ่งที่สงสัยมากเท่าไหร่ ก็จะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการที่คนอื่นเข้ามาบงการชีวิตเรามากขึ้น จนนานวันเข้าอาจจะถอนตัวออกมายาก เพราะเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่คนอื่นพูดปั่นหัวเป็นเรื่องจริงขึ้นมาจริงๆ

Gaslighting สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน คนรัก ครอบครัว ไปจนถึงความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ทั้งเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย และอื่นๆ

Gaslighting

สัญญาณที่บ่งบอกถึง Gaslighting

การที่จะหยุด Gaslighting ได้ เราต้องรู้ก่อนว่า Gaslighting มีลักษณะเป็นอย่างไร

1. เห็นได้ชัดว่าโกหก

วันหนึ่งบอกอย่างหนึ่ง แต่อีกวันกลับบอกอีกอย่าง จนเรารู้สึกสับสน ไม่รู้จะเชื่ออะไรดี คนที่ทำแบบนี้กำลังสร้างอำนาจด้วยการ Gaslighting เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกสับสน เราก็จะตำหนิตัวเอง และถูกควบคุมได้ง่ายขึ้น

2. แกล้งลืมสัญญาที่ให้ไว้ แม้จะมีหลักฐานก็ตาม

สัญญาที่เคยให้ไว้ก็ทำเป็นลืม และปฏิเสธว่าไม่เคยพูด เพราะไม่อยากจะมีภาระผูกพัน จนทำให้เราสงสัยในตัวเอง

3. พูดอะไรแย่ๆ แต่ก็บอกว่าไม่เคยพูด

Gaslighter มักจะชอบแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อคนอื่น แต่ก็ปฏิเสธหน้าตาเฉยว่าไม่เคยทำ เรียกได้ว่าเป็นคนตีสองหน้า พยายามดูถูกและทำให้คนอื่นเสียสมดุล

4. เบี่ยงเบนความผิดของตัวเอง

เมื่อเราพูดอธิบายถึงความผิดของอีกฝ่าย แต่เขาตอกกลับมาว่า ‘ไร้เหตุผลมาก’ ‘นี่มันไม่มากเกินไปหรอ?’ และคำพูดอื่นๆ ในลักษณะที่พยายามเบี่ยงเบนความผิดมาให้เรา จนเรารู้สึกว่าเราเป็นคนผิดแทน

7 ประโยคที่ Gaslighter ชอบใช้ปั่นหัวเราโดยไม่รู้ตัว

แม้ว่าสถานการณ์ที่โดน Gaslighting อาจจะแตกต่างกันไป แต่คำพูดที่ Gaslighter ส่วนใหญ่ใช้จะคล้ายๆ กัน เมื่อโดน Gaslighting วิธีรับมือที่ดีที่สุดคือ อย่าให้ความสนใจ เพราะ Gaslighter ต้องการให้เราตั้งคำถามต่อตัวเอง จนรู้สึกหงุดหงิดและเสียสมดุล

มาดูกันว่าประโยคที่ Gaslighter ชอบใช้มีอะไรบ้าง

ประโยคที่ 1: “เธอกำลังพูดอะไรอยู่”

เมื่อไหร่ก็ตามที่เพื่อนร่วมงานพยายามเฉไฉ เพื่อทำให้เราพยายามตั้งคำถามกับความทรงจำหรือการกระทำของตัวเอง ให้คิดว่านั่นคือสัญญาณเตือนว่า เขากำลังโกหกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ประโยคที่ 2: “ฉันไม่ได้พูดแบบนั้นนะ”

ประโยคนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประโยคที่ Gaslighter พยายามทำให้เราตั้งข้อสงสัยกับความทรงจำของตัวเอง บางทีเราอาจจะเริ่มคล้อยตามแล้วคิดว่าเราอาจจะคิดผิดหรือจำผิด

ประโยคที่ 3: “อย่าอ่อนไหวเกินไปน่า” “อย่าเก็บเอาไปคิดมากสิ”

จริงๆ แล้วคำว่า ‘อ่อนไหว’ ถือว่าเป็นลักษณะเชิงบวก เพราะคนที่อ่อนไหวมักจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมโดยรวมได้ อีกทั้งยังเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจและใจดีกับผู้อื่นด้วย แต่ Gaslighter มักจะบอกเป็นนัยๆ ว่าคำนี้เป็นคำเชิงลบ โดยการบอกว่าเราเป็นคนอ่อนไหวหรือคิดมากไป

ประโยคที่ 4: “เธอจำผิดแล้ว” “ไม่มีทางเป็นแบบนั้นหรอก”

อีกหนึ่งประโยคปฏิเสธที่พยายามทำให้เราตั้งคำถามกับความจำของตัวเอง

ประโยคที่ 5: “ทุกคนคิดว่าเธอบ้าไปแล้ว”

สิ่งที่ Gaslighter ทำอีกอย่างหนึ่งคือ พยายามทำให้เราคิดว่าทุกคนเห็นด้วยกับเขา ทำให้เรารู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกโดดเดี่ยวและตั้งคำถามกับตัวเอง แสดงว่าเราอยู่ในตำแหน่งที่อ่อนแอกว่าแล้ว และนั่นคือสิ่งที่ Gaslighter ต้องการ

ประโยคที่ 6: “ขอโทษแล้วกันที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น”

หลายคนอาจจะเคยเจอ คำขอโทษที่ไม่ใช่คำขอโทษ หากเราพยายามบอกว่าเรารู้สึกไม่ชอบหรือไม่สบายใจกับคำพูดหรือการกระทำของเขา แต่เขาตอบคำนี้กลับมา แสดงว่าเขาไม่ได้ขอโทษจริงๆ

ประโยคที่ 7: “ฉันก็แค่พูดเล่นไปเรื่อยเอง”

ประโยคนี้เป็นการบอกว่าเราอ่อนไหวไป และเขาไม่ได้ทำอะไรผิด โดยการทำเป็นเหมือนว่าเราไม่สามารถเล่นอะไรด้วยได้

ผลของการ Gaslighting ที่เรื้อรังจะสามารถทำให้เราเริ่มตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือและคุณค่าในตนเอง โดยสงสัยว่า Gaslighter มีเหตุมีผลและน่าเชื่อถือกว่า แม้ในความเป็นจริงแล้วจะตรงกันข้าม Gaslighting เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการล้างสมองทางจิตวิทยา ดังนั้นการรู้เท่าทันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ในเกมของ Gaslighter โดยไม่รู้ตัว

อ้างอิง careercontessa, psychologytoday 

No comment