กันยายน 16, 2021 | By Connext Team
‘ปกติเรามักจะคิดว่า หากต้องการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราควรนอนพักผ่อนแต่หัวค่ำและตื่นขึ้นมาแต่เช้าให้พร้อมเริ่มงานในวันใหม่ แต่จริง ๆ แล้ว คนเรากลับมีช่วงเวลาการทำงานของตัวเองที่แตกต่างกัน’
Mackenzie Sweeney ผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาด้าน Productivity กล่าวว่า คนเรามีช่วงเวลาในการทำงานให้มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากระดับคอร์ติซอลและฮอร์โมนที่ขึ้นลงแตกต่างกัน เป็นผลให้นาฬิกาชีวิตของผู้คนแตกต่างกันตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักถูกครอบงำด้วยการทำงานแบบ ‘9 to 5 culture’ หรือก็คือเริ่มทำงานเวลา 9 โมงเช้า และเลิกงาน 5 โมงเย็น ทำให้กลุ่มคนที่อาจไม่ได้มีนาฬิกาชัวิตตามแบบแผนที่กำหนด อาจทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนที่ควรจะเป็น
ดังนั้น การทำความรู้จัก ‘Chronotype’ นาฬิกาชีวิตของคน 4 แบบ ที่แบ่งออกเป็น สิงโต หมี โลมา และหมาป่า จะช่วยให้คุณเข้าใจนาฬืกาชีวิตที่เป็นอยู่มากขึ้นว่า คุณเป็นคนแบบไหน? และยังจะช่วยให้สามารถจัดสรรเวลาทำงานให้เหมาะสมกับประสิทธิภาพการทำงานของตัวคุณได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วยนะ
‘สิงโต’ พร้อมเริ่มงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น แต่ก็ลากลับบ้านก่อนคนอื่น
จากการศึกษาวิจัยของ Mackenzie Sweeney พบว่า 15-20% ของจำนวนประชากรโลก จัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทสิงโต ที่สามารถตื่นตั้งแต่เวลา 5.30 - 6.00 น. ด้วยความสดชื่น โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงจากนาฬิกาปลุกแต่อย่างใด
สาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนประเภทสิงโต สามารถเริ่มต้นวันได้เร็วกว่ากลุ่มคนประเภทอื่น เนื่องจากระดับคอร์ติซอลและฮอร์โมน จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่าางแรกในตอนเช้า เธอแนะนำว่า กลุ่มคนประเภทนี้ควรจะเริ่มจัดการชีวิตของตัวเองทันทีที่ตื่นนอน อาจจะเป็นการทำกิจวัตรยามเช้า เช่น การเล่นโยคะ นั่งสมาธิ หรืออ่านหนังสือเล่มโปรด เป็นต้น
กลุ่มคนประเภทนี้ มักจะเริ่มต้นการทำงานตั้งแต่ 8.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่คนอื่นอาจจะเพิ่งตื่นนอน หรือยังไม่พร้อมปรับโหมดเข้าสู่การทำงาน จากนั้นประสิทธิภาพการทำงานของคนกลุ่มนี้จะขึ้นถึงจุดสูงสุด เมื่อระดับคอร์ติซอลในร่างกายสูงขึ้นจนอยู่ในระดับคงที่ สอดคล้องกับกิจวัตรประจำวันที่เมื่อได้รับประทานอาหารเช้า ก็จะทำให้ร่างกายมีพลังงานและหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ที่สร้างความสุขออกมา
Mackenzie Sweeney ยังกล่าวอีกด้วยว่า กลุ่มคนประเภทสิงโตจะทำงานได้ดีตั้งแต่ช่วง 10.00 - 12.00 น. จากนั้น เมื่อกลับมาจากพักกลางวัน พวกเขาจะยังคงทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีอยู่จนกระทั่ง 16.00 น. ซึ่งนับว่าเป็นการสิ้นสุดวันทำงานของเหล่าสิงโตแล้ว (แม้ว่าสำหรับกลุ่มคนบางประเภท นั่นจะเพิ่งถึงเวลาเริ่มงานของพวกเขาก็ตาม)
‘หมี’ ขอนอนเปื่อยสักนิดได้ไหม แล้วจะเริ่มทำงานทันทีเลยล่ะ
กลุ่มคนประเภทหมี นับเป็นกลุ่มคนที่จำนวนมากที่สุดในบรรดากลุ่มคนทั้ง 4 ประเภท โดยคิดเป็น 50% ของจำนวนประชากรโลก สำหรับคนกลุ่มนี้นั้น พวกเขาไม่สามารถตื่นเช้าได้ทันทีเหมือนกับกลุ่มคนประเภทสิงโต แต่จะใช้เวลาบิดขี้เกียจและนอนเปื่อยอยู่บนเตียงอีกราว 90 นาที ถึงจะรู้สึกสดชื่นอย่างแท้จริง และนั่นหมายความว่า ถ้าพวกเขาจำเป็นต้องวางแผนและจัดสรรสิ่งที่ต้องทำให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบกับกิจวัตรอื่นที่ต้องทำต่อไป
ยกตัวอย่าง เช่น หากพวกเขาตั้งเวลาตื่นนอนไว้ที่ประมาณ 7.30 น. พวกเขาต้องคิดเผื่อไว้แล้วว่า วันของพวกเขาจะเริ่มต้นจริง ๆ ที่ 9.00 น. จึงจำเป็นต้องเผื่อเวลาให้ตัวเองพร้อมลุกขึ้นมาทำงานอย่างจริงจังด้วย สำหรับระดับคอร์ติซอลของพวกเขาจะขึ้นสู่จุดสูงสุดเวลา 10.00 - 12.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ตาม หลังจากพ้นช่วงเวลาพักกลางวันเรียบร้อยแล้ว กลุ่มคนประเภทหมีจำเป็นต้องพักอีกครั้งในช่วง 14.00 - 15.00 น. Mackenzie Sweeney กล่าวว่า หากเป็นไปได้ กลุ่มคนประเภทนี้ควรปิดคอมพิวเตอร์ของพวกเขาซะ และพยายามลุกเดินออกจากที่ทำงานเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เพราะ ถ้าหากพวกเขายังฝืนทำงานต่อไป พลังงานของพวกเขาจะลดลงจนไม่เหลืออีกเลยในตอนเย็น
สำหรับช่วงเวลาติดต่อสื่อสารของกลุ่มคนประเภทนี้ จะดีที่สุดเวลา 15.00 -17.00 น. ทำให้กิจกรรมประเภท Team Meetings และ Happy Hours ก็ควรจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน ส่วนเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อเลยเวลาทานอาหารมื้อค่ำไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจไป หากความคิดและไอเดียใหม่ ๆ จะปรากฎขึ้นในหัวเสมอ เมื่อพวกเขากำลังจะเข้านอนในช่วง 20.00 -22.00 น.
‘โลมา’ พร้อมเริ่มงานในยามเย็น จนมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับยามค่ำคืน
เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนประเภทอื่น กลุ่มคนประเภทโลมามักจะมีวิถีชีวิตที่เป็นขั้วตรงข้ามกับคนอื่นเลยก็ว่าได้ โดยกลุ่มคนประเภทนี้คิดเป็น 10-15% ของประชากรโลก
สำหรับกลุ่มคนประเภทนี้ ระดับคอร์ติซอลของพวกเขาจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เช้า ทำให้พวกเขาสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีตั้งแต่รุ่งสาง แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็ไม่สามารถทำงานที่เป็นเหตุเป็นผลได้เลย ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาจะกลับมาอีกครั้งในช่วง 16.00 - 18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มคนประเภทอื่นพร้อมที่จะลางานกลับบ้านเรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้น เมื่อกลุ่มคนประเภทโลมาพร้อมเริ่มทำงานในช่วงเย็น พวกเขาจึงมักจะมีปัญหาเรื่องการนอนในตอนกลางคืน เนื่องจากระดับคอร์ติซอลในร่างกายยังสั่งการให้ร่างกายตื่นตัวอยู่ แม้จะถึงเวลาที่ต้องพักผ่อนแล้วก็ตาม และทุกครั้งที่หัวถึงหมอน พวกเขาก็จะอดคิดและวิตกกังวลถึงเรื่องงานไม่ได้ จนกลายเป็นอาการนอนไม่หลับในที่สุด
Mackenzie Sweeney แนะนำว่า กลุ่มคนประเภทโลมาควรจะกำหนดช่วงเวลาพักผ่อนส่วนตัวเอาไว้ในแต่ละวัน โดยต้องไม่มีใครหรืออะไรมารบกวนจิตใจให้ว้าวุ่น และควรปิดโทรศัพท์ตั้งแต่ 22.00 น. เพื่อให้จิตใจสงบที่สุดการเข้าสู่การพักผ่อนอย่างเต็มที่
‘หมาป่า’ คนอื่นเริ่มงานไปก่อนได้เลย เดี๋ยวตอนกลางคืนมาจัดการเอง
ท้ายที่สุดกับกลุ่มคนประเภทหมาป่า ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มมนุษย์กลางคืนอย่างแท้จริง โดยพวกเขามักจะเริ่มต้นวันสายกว่ากลุ่มคนอื่นประเภทอื่น และทุกครั้งที่ตื่นนอน พวกเขามักจะใช้เวลาบิดขี้เกียจและนอนเปื่อนอยู่บนเตียงอีกราว 90 นาที กว่าจะพร้อมเริ่มวันใหม่
ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงเวลา 14.00 -16.00 น. และสามารถติดต่อสื่อสารได้ดีในช่วง 15.30 - 17.00 น. ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคนประเภทอื่นเริ่มทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนประเภทหมาป่าจะสามารถทำงานและใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีที่สุดตอนกลางคืน ตั้งแต่ 20.00 - 23.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบและเหมาะแก่การทำงานที่มีความซับซ้อนสำหรับกลุ่มคนประเภทนี้
Mackenzie Sweeney กล่าวว่า ช่วงเวลายามค่ำคืน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับกลุ่มคนประเภทหมาป่า ทั้งในแง่ของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ตรรกะเหตุผล ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคนประเภทอื่นพักผ่อนแล้ว เพราะฉะนั้น หากมีงานที่ยังทำไม่เสร็จในเวลางาน การแบ่งงานมาทำตอนกลางคืนอาจช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นมากกว่าที่คิด
อ้างอิง: Insider