บทเรียนจากความล้มเหลวของผู้นำระดับโลก Netflix Amazon และ Coca-Cola | Techsauce
บทเรียนจากความล้มเหลวของผู้นำระดับโลก Netflix Amazon และ Coca-Cola

กุมภาพันธ์ 3, 2022 | By Siramol Jiraporn

ทำไมผู้นำธุรกิจระดับโลกทั้งหลายกระตุ้นให้บริษัทและคนในที่ทำงานลองผิดลองถูกให้มากขึ้นและต้องยอมรับความล้มเหลวให้มากขึ้นด้วย?

เพราะจริงๆ แล้วความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายและทำให้เรารู้สึกไม่มีค่า แต่มันเป็นสิ่งที่สามารถให้บทเรียนที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และคนที่ประสบความสำเร็จในโลกบางคนก็มาจากเพียงแค่เขาเรียนรู้ความล้มเหลวจากครั้งก่อนๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้นผู้นำของบริษัทระดับโลกอย่าง Netflix Amazon และ Coca-Cola

Netflix Amazon และ Coca-Cola

บทเรียนความล้มเหลวจากผู้นำระดับโลก

James Quincey ซีอีโอ Coca-Cola เรียกร้องให้เมเนเจอร์ระดับสูงก้าวข้ามความกลัวที่จะทำอะไรผิดพลาด ผ่านการเรียนรู้จากความล้มเหลวของ New Coke เมื่อหลายปีก่อน โดยเขากล่าวว่า “ถ้าเรายังไม่ทำผิดพลาด นั่นแปลว่าเรายังพยายามไม่มากพอ” 

ด้าน Reed Hastings ซีอีโอ Netflix มองว่า แม้ว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จมากกับบริการ Subscriber แต่เขากลับกังวลว่า “อัตราความสำเร็จของบริษัทนั้นดีเกินไป เราถอดหนัง/ซีรีส์ออกจากแพลตฟอร์มน้อยมาก เราต้องกล้าเสี่ยงมากขึ้น เพื่อลองทำอะไรบ้าๆ ให้มากกว่านี้” 

เนื่องจากคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่นำมาลง Netflix เป็นคอนเทนต์ที่คนน่าจะดูอยู่แล้ว ทำให้ Hastings มองว่าสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ดังนั้นจึงต้องกล้าเสี่ยงลองยกเลิกโชว์แมสๆ แล้วลงคอนเทนต์อะไรที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ซีรีส์เรื่อง 13 Reasons why ที่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่คนก็ดูกันทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งก็มาจากความคิดกล้าได้กล้าเสียของ Netflix  

แม้แต่ Jeff Bezos ซีอีโอ Amazon ก็ยังสร้างการเติบโตและนวัตกรรมของบริษัทจากความล้มเหลว “การลงทุนก็เหมือนเป็นการทดลองอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร โดยธรรมชาติแล้วการทดลองมีแนวโน้มที่จะล้มเหลว” Beroz กล่าวหลังจากที่ Amazon ได้เข้าซื้อ Whole Foods “แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จะชดเชยความล้มเหลวเล็กๆ ที่ผ่านมา” 

สิ่งที่ผู้นำธุรกิจระดับโลกทั้งสามกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ง่าย แต่เป็นเรื่องยากที่จะนำไปปฏิบัติตาม ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นได้ว่ามีผู้นำจำนวนไม่น้อยที่กลัวความผิดพลาด กลัวก้าวพลาด หรือกลัวความผิดหวัง นี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้องค์กรเหล่านั้นไม่ค่อยมีนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่นัก 

ถ้าเรากลัวที่จะล้มเหลว นั่นก็หมายความว่าเราไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ และหากเราไม่เรียนรู้ให้เท่าทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกวัน เราก็จะไม่มีวันเติบโตและพัฒนาต่อไปได้

สิ่งที่ทำให้ผู้คนกลัวความล้มเหลว

Patrick Doyle ซีอีโอ Domino’s Pizza ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่มองว่าความล้มเหลวคือการเรียนรู้ โดยเขาได้อธิบายว่า ความท้าทายที่ทำให้ผู้คนไม่กล้าเผชิญกับความล้มเหลวมีอยู่ด้วยกัน 2 อย่าง

ความท้าทายแรกคือ ‘Omission bias’ คือ การกลัวว่าทำอะไรสักอย่างแล้วจะมีผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เลยเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ดีกว่า เรียกได้ว่าเป็นการกลัวว่าความพ่ายแพ้นั้นจะทำลายอาชีพการทำงานของตัวเอง

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘Loss aversion’ เป็นแนวคิดที่เราพยายามหลีกเลี่ยงหรือป้องกันความสูญเสีย มากกว่าที่จะพยายามเสี่ยงเพื่อให้ได้อะไรมา พูดง่ายๆ ก็คือ การทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้แพ้มากกว่าการทำเพื่อเอาชนะ เพราะการสูญเสียมีผลต่อจิตใจมากกว่าความสุขจากการชนะมากถึงสองเท่า

Doyle กล่าว “เราต้องยอมให้ความล้มเหลวเป็นพลัง” โดยสิ่งที่จะทำให้สำเร็จได้ก็คือ การมองว่าความล้มเหลวเป็นทางเลือก และเรียนรู้จากทางเลือกนั้น

ไม่มีการเรียนรู้ใดที่ปราศจากความล้มเหลว ไม่มีความสำเร็จใดที่ปราศจากความพ่ายแพ้

แปลและเรียบเรียงจาก Harvard Business ReviewVulture


No comment