เมื่อชีวิตต้องเลือกระหว่าง ‘งานที่ใช่’ กับ ‘เงินเดือนก้อนใหญ่’ กับ ธนชาติ ศิริภัทราชัย และวิชัย มาตกุล จาก Salmon House | Techsauce
เมื่อชีวิตต้องเลือกระหว่าง ‘งานที่ใช่’ กับ ‘เงินเดือนก้อนใหญ่’ กับ ธนชาติ ศิริภัทราชัย และวิชัย มาตกุล จาก Salmon House

สิงหาคม 8, 2022 | By Connext Team

เชื่อว่าเรื่องการเลือก ‘งานที่ใช่’ กับ ‘เงินเดือนก้อนใหญ่’ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา นักศึกษาจบใหม่ หรือแม้แต่พนักงานประจำที่คิดว่าถึงเวลาเปลี่ยนงานแล้ว แต่ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเดินเส้นทางไหนดี คุณเบนซ์ ธนชาติ ศิริภัทราชัย และคุณวิชัย มาตกุล จาก Salmon House ได้มาบอกเล่าเรื่องราวและแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ “เมื่อชีวิตต้องเลือกระหว่าง ‘งานที่ใช่’ กับ ‘เงินเดือนก้อนใหญ่’” กับ Tech ConNEXT Talk ที่งาน Tech ConNEXT Job Fair 2022 ที่ผ่านมา สำหรับใครที่พลาดงานนี้ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะ ConNEXT ได้รวบรวมใจความสำคัญไว้ให้ที่นี่แล้ว

Salmon House

นิยาม “งานที่ใช่” หรือ “งานที่เป็น Passion” ของทั้งสองท่านคืออะไร?

คุณธนชาติกล่าวว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการทำงานตาม Passion ทำให้มีความสุข มีพลังงานตลอดเวลา ส่งผลให้เช้าวันจันทร์ไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป แต่นั่นไม่จริงเลย เพราะส่วนตัวคุณธนชาติก็ทำงานที่ใช่ แต่ยังรู้สึกทุกข์ทรมานกับวันจันทร์ ในความเป็นจริง งานที่ใช่ คือ งานที่ตอบโจทย์กับเป้าหมายชีวิตของเราในระยะยาว การทำงานที่ใช่ทำให้เรามีความสุขและสนุกแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความทุกข์เลย เพราะไม่มีงานไหนที่สร้างความสุขได้ 100% ฉะนั้น งานที่ใช่ คือ งานที่เราพร้อมจะร่วมสุขและทุกข์กับมัน

ในส่วนของคุณวิชัยได้ให้นิยาม “งานที่ใช่” ว่าเป็นงานที่ทำเพื่อความปรารถนา ณ ตอนนั้น เช่น ถ้าปรารถนาที่จะได้เงินเดือนก้อนใหญ่ ก็แสวงหางานที่ได้เงินเดือนก้อนใหญ่ ถ้าปรารถนาที่จะได้ความสนุก แต่ไม่ได้เงินเดือนก้อนใหญ่ ก็แสวงหางานที่สนุก คุณวิชัยยังเห็นด้วยกับคุณธนชาติว่า งานที่ใช่ คืองานที่เราสนุกและให้คุณค่ากับเรามากที่สุด แต่ก็ยังมีความรู้สึกทุกข์ทรมานบ้าง ไม่ได้มีความสุขตลอดเวลาที่ทำงาน แต่ก็ยังทำต่อไป เพราะว่าเป็นงานที่เหมาะสมกับเรา

ทั้งสองท่านยังกล่าวอีกว่า Salmon House ถือว่าเป็นงานที่ใช่สำหรับทั้งสองท่านทั้งในด้าน Passion และความลงตัว เป็นงานที่ทำแล้วเกิดความหมายและสร้างคุณค่าให้กับตน อีกทั้งยังส่งผลต่อผู้คนในมุมกว้างดั่งที่ตั้งใจไว้

ถ้าต้องเลือกระหว่าง “งานที่ใช่” กับ “เงินเดือนก้อนใหญ่” จะเลือกอะไร

คุณธนชาติให้คำตอบว่า การเลือกระหว่าง “งานที่ใช่” กับ “เงินเดือนก้อนใหญ่” ขึ้นอยู่กับช่วงอายุและปัจจัยชีวิตของแต่ละบุคคล ถ้าไม่มีภาระหรือปัญหาด้านการเงิน ช่วงก่อนอายุ 25 ปีสามารถจัดลำดับให้เงินเป็นที่สองได้ แล้วทำในสิ่งที่อยากทำ ตอนแรกอาจจะยังไม่รู้ว่าชอบมันหรือเปล่า แต่ให้ลองทำเพื่อที่จะได้รู้และค้นพบตัวเอง ตัวอย่างเช่น จากประสบการณ์ของคุณธนชาติที่ได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับและคิดว่าเป็นเส้นทางจะที่พาไปสู่การเป็นผู้กำกับ แต่ในความเป็นจริงกลับแตกต่างจากที่คิดไว้อย่างสิ้นเชิง แต่ในระหว่างที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับนั้นก็ได้ค้นพบว่าตัวเองชอบการตัดต่อและถ่ายภาพเบื้องหลังในกองถ่าย

คุณวิชัยให้แนวความคิดในการเลือกระหว่าง “งานที่ใช่” กับ “เงินเดือนก้อนใหญ่” ไว้ว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างงาน A ที่เป็นงานที่ใช่ สามารถสร้างรายได้ให้เรา 10 บาท กับงาน B งานที่ได้เงินเดือนก้อนใหญ่ สร้างรายได้ให้เรา 12 บาท จงเลือกงาน A และสนุกกับงานนั้นให้ถึงที่สุด แต่ถ้าหากงาน A เป็นงานที่ใช่ สร้างรายได้ 10 บาท กับงาน B ที่ไม่เป็น Passion ของเราเลยแต่สร้างรายได้ถึง 45 บาท จงเลือกงาน B ที่ให้เงินเดือนก้อนใหญ่แก่เราก่อน และในระหว่างที่ทำงานนั้นให้หาเวลามาทำสิ่งที่เป็น Passion ของเรา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำงาน 45 บาท แล้วไม่รู้สึกว่างาน 10 บาทสำคัญ แสดงว่าเราไม่ได้ชอบงาน 10 บาทตั้งแต่แรก เพราะถ้าเราชอบสิ่งใดมากๆ เราจะยอมอดหลับอดนอนเพื่อทำมัน ฉะนั้น ไม่ควรเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรจัดสรรแบ่งเวลาทำทั้งสองอย่างให้ได้

อยากทำงานในฝันแต่ครอบครัวเป็นห่วงเรื่องเส้นทางอาชีพในอนาคตของเรา ควรทำอย่างไร?

คุณธนชาติให้คำแนะนำว่า หาข้อมูลของสายอาชีพนั้นๆ เพื่อคุยกับครอบครัว อธิบายให้เห็นภาพว่าคณะที่เราเรียนหรือสิ่งที่เราอยากทำมีเส้นทางสายอาชีพ เพื่อให้ครอบครัวสบายใจและให้รู้ว่าเส้นทางที่เราเลือกมีเป้าหมาย ลำดับขั้น และการเติบโต ถึงแม้ว่าครอบครัวอาจจะไม่เข้าใจ 100% แต่การหาข้อมูลมาสนับสนุนถือว่าเป็นการแสดงความมุ่งมั่นชัดเจน

ในส่วนของคุณวิชัยมองว่า เราสามารถแอบทำสิ่งที่เราฝันได้ ตัวอย่างเช่น ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ ถ้าอยากเป็น YouTuber ก็สามารถทำได้ และทำจนกว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เรา หลังจากนั้นจึงบอกครอบครัวว่านี่คือรายได้จากสิ่งที่เราทำ แสดงให้เขาเห็นว่าเราวางแผนในอนาคตและร่างภาพปลายทางของการทำอาชีพนี้ นี่คือความพยายามและความจริงจังของเรา

การวางแผนชีวิตในระยะยาว VS การวางแผนชีวิตแบบปีต่อปี

คุณธนชาติกล่าวว่า มนุษย์ต้องมีการวางแผนชีวิตในระยะยาวแบบคร่าวๆ แต่ในปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไว การวางแผนชีวิตแบบปีต่อปีจะทำให้ชีวิตยืดหยุ่นกว่า ดังนั้นควรปรับตัวไปเรื่อยๆ แต่ภาพที่อยากเห็นตัวเองเป็นในระยะยาวก็ต้องวางแผนไว้หลวมๆ ไม่ต้องกำหนดตายตัวว่าต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น

คุณวิชัยเล่าถึงประสบการณ์การทำงานโรงแรมปีแรกที่หัวหน้าของคุณวิชัยกล่าวว่า เมื่อทำงานครบ 2 ปี ให้ลาออกทันที ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่างานนั้นจะดีหรือไม่ดี เพราะถ้ามนุษย์ทำงานเกิน 3 ปี จะไม่กล้าลาออก เนื่องจากชินต่อสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ดังนั้นจึงตั้งเป้าหมายว่าใน 2 ปีนี้ต้องเป็น Supervisor ให้ได้ พอได้เลื่อนตำแหน่งแล้วก็หาโรงแรมใหม่ และภายใน 2 ปีจาก Supervisor ต้องเป็น Duty Manager ให้ได้ คุณวิชัยกล่าวต่ออีกว่า แผนการทำงานแบบนี้อาจจะสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยแก่ตัวเอง แต่ก็เป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ตื่นตัวตลอดและสามารถสร้าง Connection ได้อีกด้วย

สุดท้ายนี้ คุณธนชาติ และคุณวิชัยได้สรุปคำตอบของการเลือกระหว่าง “งานที่ใช่” กับ “เงินเดือนก้อนใหญ่” ไว้ว่า สำหรับผู้ที่เป็น First Jobber หรือผู้ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ช่วงของการทำงานเป็นครั้งแรก ควรมองหางานที่ “อาจจะใช่” เป็นอันดับแรก แต่ถ้ามีงานที่ได้เงินก้อนใหญ่มากๆ ก็ควรพิจารณาอีกที ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ให้ทำงานที่อยากทำ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เลือกงานที่ได้เงินเยอะแต่ไม่ได้เป็น Passion เราจะไม่สามารถย้อนเวลากลับมาแก้ไขอะไรได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อ Life Style ต่างๆ ที่มากขึ้นจะทำให้ไม่สามารถกลับมาทำงานที่ใช่ได้อีก ดังนั้นควรจัดการวางแผนชีวิตตัวเองให้ดี แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเลือก เพราะเราสามารถทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกันได้

No comment