เช็กก่อนสาย! สัญญาณ Toxic Workplace พร้อมวิธีรับมือสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ | Techsauce
เช็กก่อนสาย! สัญญาณ Toxic Workplace พร้อมวิธีรับมือสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่

มกราคม 11, 2022 | By Siramol Jiraporn

เคยรู้สึกเหนื่อยเพราะแค่คิดว่าจะต้องตื่นไปทำงานไหม? นั่นเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเผชิญกับ Toxic Workplace

การไปทำงานที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย หดหู่ หรือแม้แต่เกิดอาการป่วยทางร่างกาย ไม่ได้เกิดจากความเครียดจากการทำงานทั่วไป หากปล่อยไว้นานๆ จะทำให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตแย่ลงเรื่อยๆ  การรู้เท่าทันสัญญาณและวิธีการรับมือการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ Toxic จึงเป็นสิ่งสำคัญ

สัญญาณ Toxic Workplace

สัญญาณทางกายที่บ่งบอกว่าที่ทำงานเต็มไปด้วย Toxic Environment

บทความล่าสุดโดย Melody Wilding ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์ พบว่า การนอนไม่หลับ รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา เหงื่อออกเยอะ และหัวใจเต้นเร็ว เป็นหนึ่งในอาการที่เกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ

Wilding ยังกล่าวอีกว่า สภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว ซึ่งสามารถทำลายทุกอย่างได้ตั้งแต่ Self-esteem ไปจนถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้นจึงต้องเช็กตัวเองบ่อยๆ ด้วยคำถามต่อไปนี้:

ถ้าคำตอบของคำถามเหล่านี้บ่งบอกถึงสัญญาณอันตราย ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงานว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้สุขภาพและสุขภาวะของคุณต้องเป็นทุกข์

สัญญาณในที่ทำงานที่บ่งบอกว่ากำลังอยู่ท่ามกลาง Toxic Environment

1. พนักงานป่วย: สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดีจะทำให้พนักงานหมดไฟในการทำงาน เหนื่อยล้า และเกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายซึ่งเป็นผลมาจากความเครียด ถ้ามีคนโทรมาลาป่วยหรือมีคนป่วยในขณะทำงาน นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษได้เป็นอย่างดี

2. ผู้นำหลงตัวเอง: ผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงๆ ต้องการให้พนักงานเห็นด้วยกับตัวเองอยู่เสมอ รู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือกฎเกณฑ์ และคาดหวังให้ผู้อื่นทำงานอย่างเพียบพร้อมแต่ตัวเองกลับไม่สามารถทำได้

3. ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้น: เมื่อมองไปรอบๆ ออฟฟิศ มีใครรู้สึกแฮปปี้กับการทำงานที่นั่นไหม? มีใครเคยยิ้มบ้างไหม? ถ้าคำตอบคือ ‘ไม่’ ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าที่นั่นมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่แย่

4. ขาดการสื่อสารหรือสื่อสารไม่ดี: ไม่ได้รับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ทำงานหนักโดยไม่มีฟีดแบ็กเชิงบวกและไม่มีใครเห็นคุณค่า

5. อัตราการลาออกสูง: ถ้าสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่มีอะไรดี ก็ไม่มีใครอยากอยู่ต่อ หากสังเกตเห็นว่าบริษัทที่ทำงานอยู่มีอัตราการลาออกสูง ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าคุณกำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ

6. มีการซุบซิบนินทากัน: เมื่อรู้สึกว่าที่ทำงานของคุณมีแต่การนินทาและข่าวลือ ต้องหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีมิตรภาพที่แท้จริงในที่ทำงาน นั่นไม่ใช่สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีแน่นอน

วิธีรับมือสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่

เมื่อประสบกับปัญหา Toxic Workplace คงไม่มีใครอยากทำงานที่นั่นต่อ แต่การจะลาออกจากงานได้ต้องใช้เวลาในการหางานใหม่ ทำให้ไม่สามารถออกจากปัญหานี้ได้ทันที ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อรับมือกับปัญหาจนกว่าจะหางานใหม่ได้

1. หาคนที่รู้สึกเหมือนกัน: พัฒนาความสัมพันธ์กับคนที่รู้สึกแบบเดียวกับคุณ เพื่อคอยอยู่ข้างๆ ให้กำลังใจ และแชร์เรื่องราวข่าวสารซึ่งกันและกัน

2. หากิจกรรมหลังเลิกงานทำเพื่อคลายเครียด: อาจจะไปออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ สิ่งสำคัญคือการใช้ชีวิตที่สามารถเติมเต็มตัวเองนอกเวลาการทำงานได้

3. ทำให้ตัวเองไม่ว่าง: สร้างลิสต์การทำงานที่จะช่วยให้โฟกัสอยู่กับงานที่ทำแทนบรรยากาศที่ย่ำแย่ สิ่งนี้จะทำให้สามารถทำงานต่อไปทุกวันอย่างมีเหตุผลได้

4. บันทึกทุกอย่างที่ทำ: บันทึกอีเมล จดความคิดเห็น และการตัดสินใจต่างๆ จากการประชุม การคุยโทรศัพท์ พูดง่ายๆ คือ จดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เพราะเมื่อต้องการยื่นร้องเรียนใคร จะต้องมีหลักฐานสนับสนุน

5. เริ่มวางแผนการลาออก: เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะลาออกแน่ๆ การเริ่มหางานใหม่ก็จะช่วยให้คิดบวกได้เมื่อเจอเรื่องแย่ๆ 

การรู้เท่าทันสัญญาณของที่ทำงาน Toxic และวิธีการจัดการกับปัญหานี้ จะทำให้คุณสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ก่อนที่จะเสียทั้งเวลา สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ไปกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่

ที่มา - TopResume


No comment