6 วิธี ปฏิเสธเพื่อนร่วมงานอย่างไรไม่ให้รู้สึกผิด ถนอมน้ำใจคนฟัง | Techsauce
6 วิธี ปฏิเสธเพื่อนร่วมงานอย่างไรไม่ให้รู้สึกผิด ถนอมน้ำใจคนฟัง

พฤศจิกายน 25, 2021 | By Siramol Jiraporn

รับปากตกลงว่าจะช่วยเพื่อนร่วมงาน แต่ตอนนี้ไม่ว่างแล้ว จะปฏิเสธยังไงดี?

การพูดปฏิเสธไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่คุณตอบตกลงไปแล้ว คุณอาจกังวลว่าการกลับคำจะทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแย่ลง เพราะคุณจะถูกมองว่าเป็นคนกลับกลอก หรือจะนำคุณไปสู่การถูกตราหน้าว่าทำงานเป็นทีมได้ไม่ดี ความกลัวเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงและมีความอ่อนไหวสูง (Sensitive Striver) ที่ชอบคิดมากกับสถานการณ์

ปฏิเสธถ้าคุณเป็น Sensitive Striver การกลับคำและต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวังหรือความโกรธของคนอื่นอาจมากเกินกว่าจะทนได้ ซึ่งจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การถูกปฏิเสธทางสังคม ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดได้เหมือนที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ถ้าคุณกัดฟันและทำตามในสิ่งที่คุณได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ จะทำให้คุณเกิดความเครียดมากเกินไป และคนอื่นก็อาจรู้สึกได้ว่าคุณเสียสมาธิ หนักใจ หรือไม่พอใจอีกด้วย

เมื่อรู้ตัวว่าไม่สามารถทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับเพื่อนร่วมงานได้ ควรมีวิธีการถอนตัวที่จะสามารถรักษาชื่อเสียงและความสัมพันธ์ไว้ได้ ต่อไปนี้คือวิธีปฏิเสธเพื่อนร่วมงานหลังจากที่คุณตอบตกลงไปแล้วด้วยไหวพริบและความเป็นมืออาชีพ

1. ตัดสินใจให้ดี

ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า การเปลี่ยนใจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องจริงๆ โดยพิจารณาค่าเสียโอกาส ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณตอบว่าตกลงเข้าร่วมโปรเจกต์ใหม่กับเจ้านายของคุณ แต่ตอนนี้คุณลังเลในการเข้าร่วมครั้งนี้ 

ให้ประเมินว่าโปรเจกต์นั้นว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจในระดับไหน ถ้าโปรเจกต์นี้ทำให้คุณได้ทักษะใหม่ๆ ก็อาจคุ้มค่ากับการเสียสละ แต่ถ้าราคาที่ต้องจ่ายมีมากกว่าผลประโยชน์ เช่น ผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวหรืองานอื่นๆ ก็ควรถอนตัวออกไป

2. เปลี่ยนมุมมองความคิด

ถ้าคุณกลัวว่าการปฏิเสธในภายหลังทำให้ดูไร้ความรับผิดชอบ ก็ต้องยอมรับความจริงว่าถ้าทำงานไปโดยที่รู้ว่าไม่สามารถทำให้เสร็จได้ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม คุณอาจรู้สึกว่าการตอบตกลงจะทำให้ดูเป็นคนใจกว้างและช่วยเหลือผู้อื่น แต่ถ้าคุณทำตามคำสัญญาไม่ได้จะส่งผลต่อสมรรถนะการทำงาน ความสุขส่วนตัว และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน 

นอกจากนี้ ให้คิดว่าการที่คุณปฏิเสธเพื่อนร่วมงานอย่างสง่างาม แสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนที่จัดลำดับความสำคัญ การบริหารเวลา และการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี

3. ต่อรองได้แต่ต้องจริงใจ

เมื่อถึงเวลาต้องกล่าวปฏิเสธ จงมั่นใจและชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบายมากเกินไป ควรตรงไปตรงมา รอบคอบ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความซื่อสัตย์ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะถอนตัวจากคณะกรรมธิการของเพื่อน 

คุณอาจจะพูดว่า: “เมื่อเดือนที่แล้วผมบอกว่าจะเข้าร่วมคณะกรรมธิการ ผมเชื่อว่าจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อดูตารางงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ผมก็เห็นว่ามีภาระงานหลายอย่างที่ไม่สามารถเลื่อนออกไปได้ จึงทำให้ผมไม่สามารถเข้าร่วมเป็นประธานได้” การให้คำอธิบายสั้นๆ หรือการหาเหตุผลที่ดีมาอธิบายจะทำให้ได้รับการตอบรับที่ดียิ่งขึ้น

4. รักษาความสัมพันธ์

ขอโทษและรับผิดชอบต่อความผิดพลาด เช่น “ขอโทษที่ทำให้ลำบากและขอบคุณที่มอบโอกาสให้ ขอให้โชคดี จะรอฟังข่าวดีนะ” ควรแสดงการลงท้ายด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความเอาใจใส่และเห็นอกเห็นใจ

5. เสนอทางเลือกอื่น

เสนอเวลาใหม่ถ้าคุณต้องการช่วยเหลือจริงๆ ใช้คำพูดปฏิเสธในทำนองว่า เอาไว้โอกาสหน้าและเปิดประตูทิ้งไว้เพื่อตอบตกลงในอนาคตไปก่อน โดยพูดว่า “หลังจากดูตารางงานแล้ว ตอนนี้ขอปฏิเสธไปก่อน ขอเป็นคราวหน้าได้ไหม?” หรือคุณสามารถแนะนำคนอื่นที่สามารถมาช่วยเหลืองานแทนคุณก็ได้เช่นกัน

6. เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น

การไม่ทำตามคำมั่นสัญญาไม่ใช่เรื่องสนุกหรือสบายใจ แต่สามารถให้บทเรียนอันมีค่ากับคุณได้ ใช้สิ่งนี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำหรือไม่ทำในอนาคต ก้าวไปข้างหน้า พยายามตอบตกลงแค่กับโอกาสที่คุณมีเวลาให้

ไม่ว่าคุณจะคิดรอบคอบแค่ไหน คุณอาจต้องเจอกับการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับผู้อื่นหรืออาจต้องปฏิเสธเมื่อเปลี่ยนใจบ้างเป็นบ้างครั้ง แต่อย่าทำให้เป็นนิสัย ให้เข้าหาสถานการณ์อย่างมีไหวพริบและพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

ที่มา: https://hbr.org/2021/09/how-to-say-no-after-saying-yes

No comment