ทำอย่างไรให้ได้ใจ HR? รู้จัก Halo effect ความประทับใจแรกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง | Techsauce
ทำอย่างไรให้ได้ใจ HR? รู้จัก Halo effect ความประทับใจแรกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ธันวาคม 21, 2021 | By Siramol Jiraporn

เมื่อนึกถึงตอนมีคนพรีเซนต์งาน เราไม่ได้ฟังแค่คอนเทนต์ที่เขานำเสนอเพียงอย่างเดียว แต่เรายังสนใจวิธีการพรีเซนต์ของเขาด้วย การสัมภาษณ์งานก็เช่นกัน

เพราะเมื่อเราเห็นใครทำอะไรบางอย่าง เราไม่ได้ดูแค่ว่า ‘เขาทำอะไร’ แต่เราพยายามที่จะทำความเข้าใจว่า ‘ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น’ แต่การตีความพฤติกรรมส่วนใหญ่มักมีความคลุมเครือ 

Halo effect ความประทับใจแรก

ตัวอย่างเช่น เมื่อสัมภาษณ์งาน การหยุดคิดก่อนตอบคำถามหมายความว่าบุคคลนั้นเป็นคนมีความคิด รู้สึกประหม่า หรือไม่ได้เตรียมตัวมากันแน่ และรอยยิ้มกว้างๆ นั้นหมายถึงบุคคลนั้นเป็นมิตร มีความสุข หรือพยายามที่จะทำให้ประทับใจมากเกินไปกันแน่ 

เราไม่ค่อยสังเกตเห็นความคลุมเครือนั้น เพราะเราใช้ข้อมูลจำนวนมากในการตีความสิ่งที่คนอื่นทำ ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จัก เราก็จะตัดสินอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับการกระทำนั้นๆ แม้ว่าการตัดสินนั้นจะมีความน่าเชื่อถือน้อย แต่เราก็ไม่ค่อยสนใจว่าสิ่งนั้นถูกต้องแค่ไหน

แต่ความคลุมเครือนี้สามารถนำมาใช้ในการสัมภาษณ์งานได้ เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้สัมภาษณ์จะตีความการกระทำของเราในเชิงบวก โดยการใช้ประโยชน์จาก ‘Halo effect’ 

Halo effect คืออะไร?

Halo effect เป็นอคติที่เกิดจากการรับรู้ เมื่อเรารับรู้ลักษณะทางบวกด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะเกิดการตีความคุณลักษณะอื่นๆ ของเขาเป็นไปในเชิงบวกไปด้วย โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงหรือไม่ เช่น เรารับรู้มาว่าบุคคลหนึ่งๆ เป็นคนที่มีความอบอุ่นและเป็นมิตร เราก็ตีความไปเองอีกว่า เขาเป็นคนใจกว้าง

แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเรารับรู้คุณลักษณะเชิงลบเพียงด้านเดียว ก็จะทำให้เกิดความประทับใจในเชิงลบโดยรวมของบุคคลนั้น ซึ่งเรียกว่า ‘Horn effect’

จะนำ Halo effect มาใช้กับการสัมภาษณ์งานได้อย่างไร?

Halo effect เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความประทับใจแรก (First impression) เป็นสิ่งสำคัญ และการที่เราต้องแต่งตัวให้เหมาะสมในการสัมภาษณ์งาน ก็เป็นเพราะว่าผู้สัมภาษณ์จะตัดสินเราจากวิธีที่เรานำเสนอตัวเอง

การยืนตัวตรง และการสบตา ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความมั่นใจของเรา ซึ่งจะส่งผลต่อการตีความของผู้สัมภาษณ์ นอกจากนี้ การไปถึงหน้าห้องสัมภาษณ์ก่อนเวลาก็จะส่งผลต่อ Halo effect เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงควรไปถึงก่อนเวลาสัมภาษณ์ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การจราจร 

ระหว่างรอสัมภาษณ์ ให้อ่านข้อมูลบริษัทที่เตรียมไว้อีกรอบ หากรู้ว่าต้องสัมภาษณ์งานกับใคร ให้หาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้นให้มากที่สุดผ่าน LinkedIn สื่อ และเว็บไซต์บริษัท ยิ่งเราแสดงให้เห็นว่าเข้าใจผู้สัมภาษณ์ องค์กร และพันธกิจขององค์กรมากเท่าไหร่ ก็จะได้รับความประทับใจในเชิงบวกมากเท่านั้น

ถ้าเรากับผู้สัมภาษณ์มีจุดร่วมระหว่างกันก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เพราะเรามักตีความพฤติกรรมเชิงบวกกับคนที่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันมากกว่าคนอื่นๆ เช่น มาจากจังหวัดเดียวกัน จบจากโรงเรียนเดียวกัน หรือแม้แต่ความสนใจที่มีร่วมกัน

สุดท้ายอาจมีบางครั้งที่เราไปสัมภาษณ์งานสาย 2-3 นาที หรืออาจไม่พบจุดร่วมระหว่างเรากับผู้สัมภาษณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสัมภาษณ์แย่ แม้ว่า Halo effect จะมีความสำคัญ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ผู้สัมภาษณ์ใช้ในการพิจารณา เพียงแค่ก้าวไปข้างหน้าและไปสัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจ

ที่มา - Fast CompanySimply Psychology


No comment