ฟังประสบการณ์จริง เตรียมตัวชิงทุนเรียนต่ออย่างไรให้สำเร็จ กับ อรวี สมิทธิผล | Techsauce
ฟังประสบการณ์จริง เตรียมตัวชิงทุนเรียนต่ออย่างไรให้สำเร็จ กับ อรวี สมิทธิผล

สิงหาคม 3, 2022 | By Connext Team

‘การเรียนต่อต่างประเทศ’ คือความฝันที่ไม่กล้าฝันของใครหลายๆ คน เพราะจะไปเรียนต่อต่างประเทศทั้งทีก็มีค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องหลายอย่าง แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหนทางหนึ่งที่จะสานฝันทุกคนให้เป็นจริงได้ นั่นคือ ‘การชิงทุน’

วันนี้ ConNEXT ได้สรุปสาระสำคัญจากเซสชั่น “ฟังประสบการณ์จริง เตรียมตัวชิงทุนเรียนต่ออย่างไรให้สำเร็จ” โดยคุณอรวี สมิทธิผล หรือคุณอร อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Content Shifu ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการชิงทุน Fulbright ของรัฐบาลอเมริกาได้สำเร็จ จากงาน Tech ConNEXT Job Fair 2022 มาฝากทุกคน!

เรียนต่อ

ทุน Fulbright คืออะไร?

ทุน Fulbright คือทุนรัฐบาลอเมริกาที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม โดยเขาจะมีการตั้งหน่วยงาน Fulbright อยู่ตามประเทศต่างๆ มีหน้าที่ดูแลบริหารจัดการเรื่องทุน เพื่อสนับสนุนให้คนอเมริกาได้มีโอกาสไปเรียนหรือแลกเปลี่ยนในประเทศนั้นๆ รวมถึงมีโครงการที่สนับสนุนคนประเทศนั้นๆ ได้ไปเรียนต่อ ไปแลกเปลี่ยน ไปสอน หรือไปทำวิจัยที่อเมริกา ซึ่งตัวทุนก็จะมีหลายประเภท เช่น ทุนเรียนต่อปริญญา ทุนวิจัย และทุนแลกเปลี่ยนสำหรับอาจารย์ เป็นต้น

โดยคุณอรได้ทุนปริญญาที่ชื่อว่า Thai Graduate  Scholarship Program (TGS) ซึ่งเป็นทุนสำหรับการไปเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอก 

หากใครสงสัยว่าทุนตัวนี้ขอยากหรือไม่ ต้องตอบกันตามตรงว่ามีความท้าทายอยู่พอสมควร ซึ่งคุณอรเองกว่าจะได้ทุนนี้ก็สมัครอยู่สองรอบด้วยกัน เนื่องจากจำนวนที่ให้ในแต่ละปีมีจำกัดมาก แต่ละปีจะมีโควต้าไม่เท่ากัน บางปีอยู่ที่ 7 คนต่อปีจากทั้งประเทศ บางปีก็มากกว่านั้น เช่นรุ่นของคุณอรที่เรียนในปี 2022 นี้ มีผู้ได้รับทุนทั้งหมด 11 คน 

ทำไมถึงเลือกทุน Fulbright?

เนื่องจากค้นคว้าเกี่ยวกับสาขาที่สนใจอยากเรียนต่อและงานที่สนใจแล้ว พบว่าที่อเมริกามีโอกาสที่น่าสนใจอยู่ จึงทำให้สนใจอยากไปเรียนต่ออเมริกา

แต่ข้อเสียของอเมริกาคือ ค่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ แพงมาก จึงทำให้ต้องหาทุนการศึกษา ซึ่งทุน Fulbright ถือว่าเป็นทุนอันดับต้นๆ ในใจของคนที่จะเรียนอเมริกาอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องชื่อเสียงของทุน และเครือข่าย Alumni ในหลากหลายประเทศ

ข้อจำกัดของทุน Fulbright

ทุนนี้มีข้อจำกัดอยู่สองอย่างคือ สำหรับคนที่คิดว่าเมื่อเรียนจบแล้วอยากทำงานต่อที่อเมริกา เมื่อเรียนจบแล้ว จะไม่สามารถต่อวีซ่าทำงานที่อเมริกาได้เป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากผู้ให้ทุนอยากสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับทุนกลับไปพัฒนาประเทศของตัวเอง 

อีกอย่างหนึ่งคือ ทุน Fulbright ไม่ใช่ทุนเต็มจำนวน แต่มีงบประมาณกำหนดอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นอาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่นในกรณีของคุณอรเองก็ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากค่าเรียนแพง ในขณะที่เพื่อนบางคนครอบคลุมทั้งหมด เพราะได้ทุน 100% จากมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว หรือเรียนในที่ค่าเรียนไม่แพง เป็นต้น

ทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนต่อ?

คุณอรเล่าว่า เหตุผลหลักที่อยากไปเรียนต่อเพราะต้องการเปลี่ยนสายงาน จากเดิมที่คุณอรเรียนจบสาย ICT มา แต่ต้องการเปลี่ยนไปทำงานด้าน Public Policy การที่จะกระโดดไปหางานในด้านนี้ทันทีอาจจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงตัดสินใจไปเรียนต่อ เพราะถ้าอยากทำงานสายเดิมแค่ไปลงเรียนในระดับคอร์สก็เพียงพอต่อการหางานต่อในสายเดิมแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสาย

โดยสาเหตุที่ทำให้อยากเบนสายไป Digital & Tech Policy เพราะสนใจงานในระดับภาคนโยบายของการแก้ปัญหาเรื่อง Trust in the digital world ทุกวันนี้เราคงเห็นความสำคัญของ Privacy Policy, Fake news / Disinfomation หรือแม้แต่ Cyber Crime กัน เพราะทุกวันนี้ผู้คนต่างเผชิญกับปัญหาบนโลกดิจิทัลที่ยังไม่มีใครเข้ามาแก้เยอะมากนัก เช่น ปัญหาเรื่องคอลเซ็นเตอร์ จึงรู้สึกอยากออกจากโซนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กในปัจจุบันมาเป็นโซนระดับมหภาคมากขึ้น 

อีกทั้งโดยส่วนตัวคุณอรเป็นคนที่ชอบเรียนอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเป็นคนบ้างานมาตลอด ทำงานมา 7 ปีแบบไม่เคยได้หยุดพักยาวๆ ทำให้เริ่มรู้สึกอิ่มตัวและคิดถึงการกลับไปเรียน หากใครที่ไม่ได้ชอบเรียนแต่อยากไปต่างประเทศ คุณอรแนะนำว่าถ้าไม่ได้ชอบเรียนขนาดนั้นไม่จำเป็นต้องเลือกการไปเรียนต่อก็ได้ เพราะยังมีอีกหลายทางที่จะทำให้ไปอยู่ต่างประเทศได้

ทำไมถึงกล้าที่จะกระโดดออกจากคอมฟอร์ตโซนแล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ?

ในความเป็นจริงแล้ว คุณอรก็เป็นคนหนึ่งที่เคยติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซนมาก่อน เพราะรู้สึกว่าตัวเองสามารถรับมือกับการทำงานที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีทั้งในส่วนของงานประจำและการทำธุรกิจ แต่กลับรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่สามารถทำให้ใจเต้นได้เหมือนสมัยก่อน พูดง่ายๆ ก็คือรู้สึกอิ่มตัวกับสิ่งที่ทำอยู่ พอย้อนกลับมามองดูแล้วเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นแค่กรอบเล็กๆ แต่ว่าในโลกนี้ยังมีงานอีกหลายประเภทมาก 

การทำงานประจำและการทำธุรกิจจึงกลายเป็นคอมฟอร์ตโซนไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่ได้เป็นคอมฟอร์ตโซนคือการทำงานเกี่ยวกับ Social Service ที่เป็นงานระดับมหภาค รวมถึงการเรียนและการทำงานในระดับนานาชาติ เนื่องจากยังไม่เคยมีประสบการณ์เหล่านี้มาก่อน จึงรู้สึกว่าอยากจะลองทางนี้ดู ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องประสบความสำเร็จ แต่อยากมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น ที่มองย้อนกลับมาแล้วจะไม่รู้สึกเสียดายที่ได้ลองทำ

ถ้ารู้แล้วว่าอยากเรียนต่อ ควรเตรียมตัวในการหาทุนอย่างไร?

Step 1: เป้าหมายในการเรียน - ดูเป้าหมายในการเรียนของตัวเองว่าชัดเจนหรือยัง เพราะการเรียนไม่ได้เหมาะกับทุกคนหรือทุกเป้าหมาย สิ่งนี้จะส่งผลต่อการเลือกเรียน การเขียน Essay ขอทุน และการสมัครมหาวิทยาลัย เพราะทุกที่ถามคำถามว่า “เป้าหมายของคุณคืออะไร?” กันทั้งนั้น 

Step 2: ประเทศ - ดูว่าอยากไปประเทศไหน ประเทศไหนเหมาะกับเรา

Step 3: ทุน - ดูทุนของแต่ละประเทศ หรือในไทยเองก็มีทุนหลากหลายให้เลือกเช่นเดียวกัน ควรหาข้อมูลเยอะๆ 

Step 4: การสมัคร - วางแผนการสมัครให้ดี แนะนำว่าให้ดูทุนที่เลือกว่าเหมาะกับเราหรือไม่ ทุนไหนลงตัวกับเราที่สุดก็ให้สมัครทุนนั้น

ข้อคิดสำหรับคนที่อยากเป็น Fulbrighter

คุณอรได้ให้คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจทุน Fulbright ไว้ว่า ถ้าอยากเป็น Fulbrighter ควรเป็นคนที่แคร์เรื่อง Social Impact อยู่แล้ว เนื่องจากทุนนี้มองหาคนแบบนี้ ทั้งในตอนสัมภาษณ์และความคาดหวังในระยะยาว คาแรกเตอร์ของเพื่อนๆ ที่ติดทุนก็จะเป็นสาย Social Impact ตัวอย่างเช่น คุณอรอยากเรียนด้าน Technology Policy เพื่อจะได้นำความรู้กลับมาแก้ปัญหาเรื่อง Privacy และ Fake News ต่างๆ หรือเพื่อนคุณอรที่ติดทุน อยากเรียนสายสิ่งแวดล้อมเพื่อนำความรู้มาแก้ปัญหา PM 2.5 

จะเห็นได้ว่าหากอยากชิงทุนเรียนต่อให้ได้ต้องมีการเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเป้าหมายในการเรียน ประเทศ ทุน และการสมัครทุนต่างๆ เพราะการขอทุนจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องรู้จักตัวเองให้มากพอ หากวันนี้ยังขอทุนไม่สำเร็จก็ให้พิจารณาถึงข้อผิดพลาดจากรอบที่ผ่านๆ มาแล้วนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น แล้วคุณก็จะมีโอกาสชิงทุนได้สำเร็จเช่นเดียวกัน

No comment