มีนาคม 17, 2021 | By Connext Team
“ทำตามแพชชั่น” คือประโยคที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ เมื่อถึงเวลาต้องเลือกเส้นทางอาชีพที่ใช่
แต่มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ลองถามตัวเองว่า เมื่อเจอคำถามประเภท “คุณอยากทำอะไร” คุณมีแนวโน้มที่จะตอบแบบนี้หรือเปล่า
“ฉันอยากเป็นหมอ เพราะฉันอยากที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข”
“ฉันอยากเป็นทนายความที่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกมองว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ”
“เพื่อนของฉันเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ และชีวิตของเธอก็ดูดี ฉันก็ต้องการเช่นนั้นเช่นกัน”
“ฉันจะมีความสุขกับงานทุกงานตราบเท่าที่ยังอยู่ในบริษัทชื่อดัง เช่น Google, Apple หรือ Microsoft”
ความพยายามที่จะทำให้คนอื่นประทับใจนั้นมีผลตามมาเสมอ
เวลาที่เราถูกถามว่า “ทำงานอะไร” เรามักจะเลือกอาชีพที่เราคิดว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร
เช่น ฉันคิดว่าคนอื่นจะให้ความเคารพนับถือฉันมากขึ้น เมื่อฉันบอกว่าได้ทำงานในตำแหน่ง X ที่บริษัท X
ในทางวิทยาศาสตร์ ได้มีคำเรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า “การเสพติดการสรรเสริญ” ซึ่งก็คือเมื่อเราพยายามทำสิ่งที่เราคิดว่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้อื่นให้สำเร็จ เพราะมันทำให้เรารู้สึกมีความสุข แต่ก็เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
แต่ผลที่ตามมาก็คือ ในอีกหลายปีต่อมา คนประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะพบว่าตัวเองอยู่ในอาชีพที่ทำให้พวกเขารู้สึกทุกข์ ว่างเปล่า และไม่พอใจกับชีวิต
แล้วเราจะเลือกเส้นทางอาชีพที่ใช่สำหรับตัวเองได้อย่างไร?
คำตอบก็คือให้เปลี่ยนมุมมองเพียงนิดเดียวเท่านั้น คือ แทนที่จะถามตัวเองว่า “เราอยากทำอะไร?” แต่ให้เปลี่ยนเป็น “เราชอบทำอะไร?”
เลิกกังวลว่าคนอื่นจะคิดเกี่ยวกับตัวคุณเองอย่างไร แล้วไปโฟกัสที่จุดแข็งของตัวคุณเอง
คุณชอบทำอะไร มีทักษะอะไรที่คุณมีแล้วสามารถพัฒนามันให้ดีขึ้นได้บ้าง หรือมีปัญหาอะไรที่คุณอยากจะแก้มันให้ได้ไหม
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณชอบเขียน ชอบเล่าเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน คุณอาจจะลองทำอาชีพในสายนักข่าว หรือด้านการตลาด เพื่อที่คุณจะได้ใช้ทักษะในการบรรยายเรื่องราว เพื่อสื่อสารข้อความที่สามารถดึงดูดและจับใจคนได้
แน่นอนว่าคุณไม่สามารถเจออาชีพที่สมบูรณ์แบบได้ในทันที มันจะต้องใช้ความพยายาม อดทน ไปจนถึงการประเมินตนเองในระดับที่ลึกซึ้ง และที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง
คุณไม่สามารถสร้างอาชีพที่คุณพึงพอใจได้ หากคุณยังคงเอาตัวเองไปผูกกับความคาดหวังและความฝันของคนอื่น สิ่งที่คุณควรทำคือ ให้ความสำคัญกับความสุขของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก
อ้างอิง CNBC