“เราอยู่กันแบบทีม ไม่ใช่ครอบครัว” ทำไม Netflix ถึงต่อต้านวัฒนธรรมแบบ Family? | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
“เราอยู่กันแบบทีม ไม่ใช่ครอบครัว” ทำไม Netflix ถึงต่อต้านวัฒนธรรมแบบ Family?
By Siramol Jiraporn กุมภาพันธ์ 7, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

หลายๆ คนพูดถึงบริษัทตัวเองว่า “เราอยู่กันแบบครอบครัว” เราอาจคิดว่าคำนี้เป็นคำที่มีความหมายดี โดยอาจหมายถึงความสัมพันธ์ที่นายจ้างทั้งหลายต้องการมีกับพนักงาน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร แต่จริงๆ แล้วการใช้คำว่า ‘Family’ อาจไม่ได้ดีอย่างที่คิด และหนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วยกับ Family Culture หรือ การอยู่กันแบบครอบครัว ก็คือ Reed Hastings ซีอีโอของ Netflix

ทุกคนลองนึกถึงภาพครอบครัวในชีวิตจริงดูสิ พ่อแม่จะสามารถไล่ลูกออกได้หรือไม่? แน่นอนว่าสิ่งนั้นคงเป็นไปไม่ได้แม้ว่าลูกจะแย่แค่ไหนก็ตาม Hastings จึงได้นำเสนอวัฒนธรรมองค์กรของ Netflix ไว้ว่า “เราอยู่กันแบบทีม ไม่ใช่ครอบครัว” แล้วการอยู่เป็นทีมดีอย่างไร?

Netflix

การอยู่กันแบบทีมดีอย่างไรในสายตา Netflix

Netflix เชื่อว่า การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จได้ เราต้องอยู่กับแบบทีมกีฬาอาชีพที่มีภารกิจเฉพาะ (เพื่อการชิงแชมป์) สมาชิกในทีมมารวมตัวกันเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ และคนในทีมก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด โดยอาจย้ายไปอยู่ทีมอื่นหรือใครไม่เก่งก็ถูกตัดออกจากทีมได้ ซึ่งสามารถเห็นตัวอย่างได้จาก NFL ที่แม้ว่าผู้เล่นจะเปลี่ยนทุกปี แต่ก็ยังคงชนะอยู่หลายครั้ง 

สิ่งที่ทำให้ยังคงชนะอยู่แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวบ่อย ก็เป็นเพราะพวกเขามีเป้าหมายร่วมกัน นั่นก็คือ การคว้าชัยชนะมาให้กับทีม โดยไม่ใช่การมองแค่ความสำเร็จของตัวเอง เพราะการชนะแบบเป็นทีมก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนในทีมแต่ละคนประสบความสำเร็จ และทำให้ทุกคนเป็นที่ต้องการในตลาดได้ผ่านการแสดงทักษะที่แตกต่างกันออกมาให้เห็น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานเป็นทีมด้วย

สิ่งสำคัญคือการมีพนักงานเก่งๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่เป้าหมายที่มีร่วมกันคือความสำเร็จของทีม นี่คือสิ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญ

ทำไมหลายคนถึงไม่ชอบ “การอยู่กันแบบครอบครัว”

“เราอยู่กันแบบครอบครัว” คำกล่าวนี้อาจเจอได้เมื่อบางบริษัทโพสต์รับสมัครคนเข้าทำงานหรือตอนสัมภาษณ์งาน แต่รู้หรือไม่ว่าหลายคนรู้สึกเข็ดขยาดกับคำนี้ เพราะอะไรกัน?

1. เส้นว่างระหว่างความเป็นส่วนตัวและการทำงานมีความคลุมเครือ

ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะปฏิสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานฉันท์ครอบครัว เพราะหลายคนก็รักความเป็นส่วนตัวและอยากเก็บเรื่องของตัวเองเอาไว้นอกที่ทำงาน แต่ถ้าบริษัทไหนอยู่กันแบบครอบครัวก็อาจทำให้เพื่อนร่วมงานไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน แต่กลายเป็นพี่น้อง ทำให้ความเป็นส่วนตัวตรงนี้ถูกลดทอนลง 

2. ความภักดีต่อองค์กรทำให้ต้องช่วยเหลือกันตลอดเวลา

เมื่อนึกถึงเวลาคนในครอบครัวร้องขอให้เราทำอะไรสักอย่าง แน่นอนว่าเราตอบตกลงทันทีโดยที่ยังไม่ทันได้คิดอะไร แต่เมื่ออยู่ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบครอบครัว อาจทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะต้องช่วยเหลือกัน โดยที่อาจจะถูกขอร้อง หรือแม้แต่การอาสาเข้าไปช่วยก็ตาม 

มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า คนที่มีความภักดีต่อองค์กรมากไปมีแนวโน้มที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างมากกว่าคนทั่วไป เพราะอาจถูกร้องขอให้ทำงานเกินเวลา หรือทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของตัวเอง โดยอ้างว่าเป็นผลประโยชน์ของบริษัท 

เมื่อพนักงานอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดภาวะ Burnout จนประสิทธิภาพการทำงานลดลง ในท้ายที่สุดหากนายจ้างไม่แก้ไขเรื่องนี้ก็อาจทำให้สูญเสียพนักงานที่มีศักยภาพไป

3. ถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะเหมือนอยู่ใต้บังคับบัญชา “พ่อแม่”

หากวัฒนธรรมขององค์กรคือการอยู่กันแบบครอบครัว นั่นหมายความว่า นายจ้างเป็นพ่อแม่ และพนักงานเป็นลูกใช่หรือไม่? แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว อีกทั้งหลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจเพราะพ่อแม่คือผู้มีอำนาจตัดสินใจและลูกมีหน้าที่แค่ทำตามคำสั่ง ซึ่งอาจทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบได้

แน่นอนว่าการอยู่กันแบบทีมก็ไม่ได้มีแต่ข้อดีอย่างเดียว แต่การโฆษณาองค์กรตัวเองว่าอยู่กันแบบครอบครัวก็เหมือนเป็นการผูกมัดพนักงานไว้ ทำให้พนักงานและองค์กรไม่เกิดการเติบโตไปข้างหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Netflix เลือกที่จะสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบทีมกีฬาอาชีพขึ้นมา เพื่อส่งเสริมความสำเร็จของทุกคน

ที่มา - Harvard Business Review (1)(2)


No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/netflix-is-a-team-not-a-family