รู้หรือไม่? Work-Life Balance ของคุณเกิดจากการเรียนรู้พฤติกรรมของพ่อแม่ | Techsauce
รู้หรือไม่? Work-Life Balance ของคุณเกิดจากการเรียนรู้พฤติกรรมของพ่อแม่

มิถุนายน 29, 2021 | By Connext Team

'Work-Life Balance' คงเป็นคำที่หลายคนคุ้นหู โดยเฉพาะช่วงที่หลายคนต้อง Work From Home จนทำให้การแบ่งแยกระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องยาก หลาย ๆ งานวิจัย บทความและหนังสือพัฒนาตนเอง (Self-help) จึงต่างพยายามอธิบายวิธีสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนงาน วิธีการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กร  แต่ว่ายังมีปัจจัยอื่นอีกไหมนะ? ที่ส่งผลต่อการรักษาสมดุลให้กับชีวิตของเราเอง  

จากงานวิจัยของ Ioana Lupu รองศาสตราจารย์จาก ESSEC Business School France เปิดเผยว่า การเลี้ยงดูมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเรื่องงานและอาชีพ สิ่งที่เราเรียนรู้จากพ่อแม่มีบทบาทสำคัญต่อวิธีคิดและการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

งานวิจัยได้สัมภาษณ์อาสาสมัครซึ่งเป็นพ่อแม่ทั้งหมด 78 คน เป็นชายและหญิงในจำนวนเท่ากัน อายุระหว่าง 30-50 ปี ทำงานในสำนักงานกฎหมายและบัญชีระดับโลกที่กรุงลอนดอน กำลังดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง-สูง อาสาสมัครที่เป็นชายส่วนใหญ่มีภรรยาอยู่ที่บ้าน และอาสาสมัครส่วนใหญ่เติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีรูปแบบครอบครัวแบบดั้งเดิม กล่าวคือ แม่อยู่ที่บ้านและพ่อเป็นผู้ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

จากการศึกษาพบว่า ความเชื่อเรื่องความสมดุลที่เหมาะสมด้านการงานและครอบครัวก่อตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ผ่านการสังเกตพฤติกรรมและทัศนคติของพ่อแม่ นิสัยเหล่านี้ฝังแน่นเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันและมักถูกมองข้ามไป

เราสามารถแบ่งกลุ่มคนได้ 4 ประเภท

  1. คนที่ตั้งใจรับรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่
  2. คนที่รับรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่โดยไม่ได้ตั้งใจ
  3. คนที่ตั้งใจปฏิเสธรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่
  4. คนที่ปฏิเสธรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่โดยไม่ได้ตั้งใจ

คนที่รับรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่

ผู้ชายที่เป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวเช่นเดียวกับพ่อของเขาส่วนใหญ่มีรูปแบบ Work-Life Balance เช่นเดียวกับพ่อ ผลการสัมภาษณ์ สรุปได้ว่า พ่อแม่เพศเดียวกันกับลูกส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่อง Work-Life Balance (เช่น รูปแบบการทำงานของพ่อที่เป็นผู้ชายดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อลูกสาวน้อยมาก)

Frank หนึ่งในอาสาสมัครระบุว่า “ผมเห็นพ่อกลับบ้านช้าทุกวันธรรมดา เขายังทำงานวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย นี่คงเป็นสาเหตุที่ผมไม่รู้สึกแปลกเลยที่ต้องทำงานวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมเห็นอยู่ตลอดตอนอยู่ที่บ้าน”

เช่นเดียวกับ Jack อาสาสมัครอีกคน “ผมมีพ่อเป็นแบบอย่าง พ่อของผมทำงานตลอดเวลาที่เขาจะสามารถทำได้ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานไม่ใช่แค่สิ่งที่ผมคุ้นเคย แต่เป็นความรู้สึกของผมด้วยว่าการทำงานหนักที่มากพอควรจะเป็นอย่างไร”

เมื่อเห็นพ่อแม่ทำงานหนักตลอดช่วงที่ลูก ๆ ยังเป็นเด็กและวัยรุ่น เมื่อพวกเขาโตขึ้น พวกเขาจึงมองว่าการทำงานหนักเป็นเรื่องปกติ และแม้ว่า Jack อยากทำตัวต่างออกไปจากพ่อของเขา แต่นิสัยของเขายังคงทำให้เขามีรูปแบบ Work-Life Balance แบบเดิม Jack ให้สัมภาษณ์ว่าเขารู้สึกเสียใจที่ลืมสัญญาที่เคยให้กับตัวเองว่าจะเป็นพ่อที่มีเวลาอยู่กับลูก ๆ มากกว่าที่พ่อของเขาเคยมี รูปแบบดังกล่าวพบเจอได้เป็นปกติในหมู่อาสาสมัครผู้ชาย

ในขณะที่ ผู้หญิงที่มีแม่ทำงาน พวกเธอตั้งใจรับรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่มาใช้และไม่รู้สึกผิดกับความมุ่งมั่นในการทำงาน เช่น Cat หนึ่งในอาสาสมัครหญิง เธอกล่าวว่า

“ฉันเติบโตในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ต่างทำงาน ฉันมีพี่เลี้ยงที่ทำงานเต็มเวลา เธอน่ารักมากและฉันไม่ได้รู้สึกคิดถึงหรือห่างจากพ่อแม่เลย ฉันจำได้ว่าทุกอย่างปกติดี ฉันเลยไม่เชื่อว่าการที่พ่อและแม่ต่างทำงานเป็นสิ่งที่แย่ นั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันรู้สึกโอเคที่ตัวเองทำงาน”

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งมองว่าการที่แม่ของเธอทำงานเป็นแบบอย่างในเชิงลบ

Anne หนึ่งในอาสาสมัครกล่าวว่า “แม่ของฉันไม่เคยขาดงาน เธอเต็มใจทำงานหลายชั่วโมง ตอนแรกฉันก็ทำแบบแม่ของฉัน ลูกชายของฉันป่วย ฉันจึงหาคนไปดูแลเขาเพราะฉันต้องทำงาน”

Anne เปิดเผยว่าเธอเสียใจที่งานส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ของเธอกับลูก เช่นเดียวกับที่งานของแม่เธอส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ และแม้ว่า Anne จะตระหนักถึงเรื่องนี้และลดชั่วโมงการทำงานลงเป็น 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เธอก็ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ใน Work-Life Balance ของเธอได้

แม้ว่าพวกเขาต้องการชีวิตที่สมดุลขึ้น แต่หลายคนยังคงเสียสละเวลาครอบครัวและทำงานหนักต่อไป และแม้ว่าพวกเขาจะมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะไม่เดินตามรอยพ่อแม่ของพวกเขา แต่หลายคนก็ยังคงทำเช่นนั้น 

จึงสรุปได้ว่า ทัศนคติที่เกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยงดูสามารถกำหนดทางเลือกของผู้คนและจบลงที่การผลิตซ้ำสถานะเดิมที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลเท่านั้นที่มีบทบาทต่อรูปแบบ Work-Life Balance นิสัยของเราซึ่งแฝงฝังอยู่โดยไม่รู้ตัวก็มีบทบาทเช่นกัน

คนที่ปฏิเสธรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่

หลังจากประสบความล้มเหลวหรือความเสียใจหลังเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ หลายคนจะเริ่มตั้งคำถามถึงอิทธิพลของพ่อแม่ที่มีต่อพฤติกรรมชีวิตและการทำงาน เช่น คนใกล้ชิดเสียชีวิตหรือเจ็บป่วย พวกเขาอาจเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเนื่องจากตระหนักว่าควรใช้เวลาไปกับอะไรมากที่สุด เช่น ปฏิเสธที่จะทำงานในช่วงสุดสัปดาห์ หรือแม้แต่ออกจากบริษัทเพื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีชั่วโมงการทำงานที่ควบคุมได้มากขึ้น

เราสามารถแบ่งกลุ่มนี้ได้เป็นสองกลุ่มย่อย คือ ผู้หญิงที่ต้องการแยกตัวเองออกจากการเป็นแม่ที่ทำงานหนักเกินไป และผู้หญิงที่ต้องการแยกตัวเองออกจากการเป็นแม่ที่เสียใจที่ต้องอยู่บ้าน

ตัวอย่างของกลุ่มแรก Christa หลังจากกลับจากลาคลอด เธอคิดจะลงจากตำแหน่งเพื่อให้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น เธอกล่าวว่า

“แม่ของฉันทำงาน ตอนอายุยังน้อย ฉันเคยอารมณ์เสียมากที่มีคนดูแลเด็กมารับที่โรงเรียน ในขณะที่เพื่อน ๆ หลายคนมีแม่มารอรับที่หน้าประตูโรงเรียน และตอนนี้เองที่ฉันเริ่มคิดใหม่ ลูกชายฉันจะไม่เป็นแบบฉันเหรอ เขาอาจจะไม่ชอบที่มีคนอื่นมารับเขาที่โรงเรียน นั่นคือสิ่งที่ฉันต้องการให้ลูกของฉันเหรอ?”

กลุ่มที่สองเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้หญิงที่เต็มใจทำตัวต่างจากแม่ของเธอที่ต้องอยู่บ้านโดยไม่เต็มใจ แม่เหล่านี้ปลูกฝังความปรารถนาที่จะเป็นอิสระและส่งเสริมให้ลูกสาวมีอาชีพการงานเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซาก อย่างกรณีนี้ของ Sylvia เธอกล่าวว่า

“ฉันจำได้ว่าแม่ของฉันเสียใจเสมอที่เธอไม่มีงานทำนอกบ้าน และนั่นมีอิทธิพลต่อฉันและพี่สาวน้องสาวของฉัน…. แม่สนับสนุนให้พวกเราหาอาชีพที่เราสามารถทำได้ แม่ค่อนข้างเรียนหนังสือและมีการศึกษามากกว่าพ่อ แต่เนื่องจากธรรมชาติของครอบครัวและลูกเล็ก ๆ เธอจึงต้องเป็นแม่ที่อยู่บ้าน”

โดยสรุป อุปสรรคต่อรูปแบบ Work-Life Balance ที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์กรและสังคมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทัศนคติที่เกิดจากการเรียนรู้ในครอบครัวด้วย รูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่มีบทบาทกำหนดพฤติกรรมและทัศนคติเรื่องความสมดุลของงานและชีวิตส่วนตัวของเรา 

ดังนั้นหากเราต้องการบรรลุศักยภาพสูงสุดทั้งด้านการงานและชีวิตส่วนตัว เราอาจต้องหันมาลองสังเกตและตระหนักว่าเรื่องราวในวัยเด็กของเราอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยอันหล่อหลอมสิ่งที่เราเป็นในทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง: Harvard Business Review

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn 

ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]

No comment