เมื่อสิ่งที่เห็นบน Social Media อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นในชีวิตจริง เพราะ ทุกคนต่างก็เลือกส่วนที่ดีที่สุดมาให้คนอื่นเห็นกันทั้งนั้น | Techsauce
เมื่อสิ่งที่เห็นบน Social Media อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นในชีวิตจริง เพราะ ทุกคนต่างก็เลือกส่วนที่ดีที่สุดมาให้คนอื่นเห็นกันทั้งนั้น

มีนาคม 12, 2021 | By Connext Team

‘ทำไมชีวิตของคนอื่น ดูมีความสุขจังเลย แล้วทำไมเราไม่มีชีวิตแบบนั้นบ้างนะ?’

คำถามนี้ มักจะแล่นเข้ามาในหัวเสมอ เมื่อเราได้เห็นภาพชีวิตที่สมบูรณ์แบบของเพื่อนและคนรอบข้าง โดยเฉพาะบน Social Media ที่กลายมาเป็นพื้นที่แสดงภาพวิถีชีวิตในแต่ละวันของผู้คนยุคปัจจุบัน

จากนั้น คำถามที่ยังคงค้างคาอยู่ในสมอง ก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกอิจฉาและเสียใจ จากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนเหล่านั้น โดยทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว สำหรับบางคน ที่สามารถปล่อยวางและขจัดความคิดร้ายๆนี้ออกไปได้ มันอาจไม่ใช่ปัญหาอะไรมากนัก แต่กลับอีกหลายคน เมื่อเราได้เห็นวิถีชีวิตของเพื่อน คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งผู้คนตามโลก Social Media ที่เต็มไปด้วยภาพแห่งรอยยิ้ม ความสุขและความสำเร็จในชีวิต มันทำให้เราย้อนกลับมามองชีวิตของตัวเองด้วยความท้อแท้ ที่ชีวิตของเราไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ‘เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ภาพความสมบูรณ์แบบที่เห็น บน Social Media จะเป็นชีวิตจริงของพวกเขา เพราะ ใครๆ ต่างก็เลือกส่วนที่สมบูรณ์แบบที่สุดมาให้คนอื่นเห็นด้วยกันทั้งนั้น’

แม้รู้ว่า ภาพชีวิตที่สวยงามบน Social Media จะไม่เป็นความจริงทั้งหมด แต่เราก็ยังรู้สึกอิจฉาอยู่ดี

เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ที่เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า แล้วมักจะรู้สึกอิจฉาริษยาไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม การเข้ามามีบทบาทสำคัญของ Social Media ในวิถีชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ จะยิ่งทำให้ความรู้สึกอิจฉาริษยาภายในใจเพิ่มขึ้นทวีคูณ

Ethan Kross ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยา จาก University of Michigan ผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ ผลกระทบจาก Facebook ที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ กล่าวไว้ว่า การรับรู้เรื่องราวชีวิตของผู้อื่น ผ่านโลก Social Media ทำให้ความอิจฉาริษยาภายในจิตใจของเราเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเราได้เห็นภาพชีวิต ที่ผ่านการตัดต่อให้สวยงามมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่ง ทำให้เราหลงเชื่อว่า ภาพที่สวยงามเหล่านั้น คือ ชีวิตจริงทั้งหมดของผู้อื่น  

ขณะที่ Rachel Andrew นักจิตวิทยาคลินิกชื่อดัง ยังกล่าวในทำนองเดียวกันว่า ปัจจุบัน ผู้คนมากมายต่างรู้สึกอิจฉาริษยามากขึ้น และอดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นไม่ได้ เมื่อไม่สามารถมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เหมือนที่เห็นชีวิตของผู้อื่นในโลกออนไลน์ Social Media ชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram หรือ Snapchat ล้วนเป็นพื้นที่ ที่ทำให้คนเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้นทั้งนั้น เนื่องจากในสมัยก่อน ผู้คนไม่ได้เห็นวิถีชีวิตและความเป็นไปของผู้อื่นมากนัก อย่างมากก็คงเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับเพื่อนบ้าน หรือคนที่รู้จักกันในชีวิตจริงเท่านั้น แต่ทว่า ปัจจุบัน เราสามารถเปรียบเทียบตัวเองกับผู้คนบนโลกได้ภายในคลิกเดียว และนั่น ทำให้เราไม่สามารถหยุดที่จะเปรียบเทียบชีวิตของตนเองกับผู้อื่นได้

และแม้พวกเราต่างก็รับรู้กันว่า ภาพความสวยงามเหล่านั้น ที่ปรากฏบน Social Media จะผ่านการตกแต่งมากมายและคัดสรรเฉพาะด้านที่สมบูรณ์แบบที่สุดมาให้พวกเราเห็นก็ตาม แต่ในเชิงอารมณ์และความรู้สึกนั้น ไม่ว่าภาพที่เราเห็นจะจริงมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากภาพที่เราเห็น สามารถสะท้อนชีวิตที่เราใฝ่ฝันและต้องการจะเป็นได้ เราก็ยังจะรู้สึกอิจฉาริษยากับชีวิตแบบนั้นอยู่ดี   

ความจริงอีกประการ ที่หลายคนยังคงเข้าใจผิดกระทั่งทุกวันนี้ คือ ความอิจฉาริษยาจากการเสพสื่อบน Social Media ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนวัยหนุ่มสาว ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ที่ไม่สามารถพึงพอใจกับวิถีชีวิตของตัวเองที่เป็นอยู่

Rachel Andrew พบว่า มนุษย์ทุกคนที่ยังรู้สึกไม่เติมเต็มกับการใช้ชีวิตของตัวเองในแต่ละวัน สามารถเกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาภายในจิตใจได้เสมอ เมื่อเห็นภาพวิถีชีวิตของผู้อื่นที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมา เธอได้พบเจอกับผู้คนมากมาย ที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในทุกด้าน แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดความรู้สึกร้ายๆเหล่านี้ออกไปจากจิตใจได้ เช่น นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคนหนึ่ง กำลังมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ ทางการตลาดผ่าน Twitter แต่บังเอิญพบว่า นักธุรกิจคนอื่นดูจะประสบความสำเร็จมากกว่า ท้ายที่สุด การมองหาสิ่งใหม่ เพื่อนำมาใช้ต่อยอดทางธุรกิจ จบลงด้วยความรู้สึกอิจฉาริษยาในความสำเร็จของผู้อื่น ทั้งที่ ในความเป็นจริง ชีวิตของเขาที่ปรากฏบน Social Media ต่างเป็นชีวิตในฝันของใครหลายคน

มันโอเค ที่คนอื่นจะมีในสิ่งที่เราไม่มี

Windy Dryden นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ กล่าวว่า เพื่อที่ขจัดความคิดร้ายๆอย่าง ความอิจฉาริษยา ที่เกิดจากการเสพสื่อบนโลก Social Media ออกไป เราจำเป็นต้องคิดอยู่เสมอว่า มันโอเค ที่คนอื่นจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราไม่มี เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นปกติ แม้จะไม่มีสิ่งนั้น และการมีสิ่งนั้นหรือไม่ ไม่ได้ทำให้เรามีคุณค่าเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเลย 

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่กำลังเล่น Social Media เราอาจเห็นโพสต์เพื่อนของเรา กำลังฉลองความสำเร็จกับการได้งานทำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังตกงานพอดี เราก็ต้องคิดอยู่เสมอว่า การที่เรายังไม่มีงานทำเหมือนคนอื่น ไม่ได้หมายความว่า เราไม่เก่ง หรือเป็นคนที่ไม่มีใครต้องการ และมันก็ไม่ผิด ที่เพื่อนจะได้งานทำ เพราะ ทุกคนย่อมมีโอกาสเหมือนกันทั้งนั้น  

นอกจากนั้น เราอาจจะลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ Social Media ในชีวิตประจำวัน จากการเฝ้ามองแต่ชีวิตของผู้อื่นบน Digital Platform มาเป็นการแชร์ความรู้ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจมากขึ้น เนื่องจาก การรับรู้เรื่องราวของผู้อื่นที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวที่ผ่านการตัดต่อให้สวยงามมาแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจของเราอย่างมีนัยยะสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม การแชร์ความรู้ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจบน Social Media นั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายเช่นกัน เพราะ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สิ่งที่เราจะสื่อหรือเรื่องราวที่เราแชร์ออกไป จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้อื่น เหมือนที่เราเคยรู้สึกมาก่อนหรือเปล่า เช่น บางครั้ง เมื่อเราประสบความสำเร็จกับอะไรสักอย่าง เราก็อยากจะแชร์ให้ผู้อื่นได้รับรู้ว่าบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า เราย่อมรู้สึกดีอยู่แล้ว ที่ได้รับคำชมจากเพื่อนและคนรอบข้าง แต่ทว่า ในทางกลับกัน เรื่องราวของเรา อาจทำให้คนอื่นรู้สึกกดดันตัวเอง หรือเกิดความรู้สึกแย่ๆในจิตใจเช่นกัน 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่สามารถแชร์เรื่องราวอะไรได้เลยบนโลก Social Media เพราะ ท้ายที่สุดแล้ว เราก็มีสิทธิที่จะแชร์เรื่องราวต่างๆในชีวิตที่เกิดขึ้น บนพื้นที่ส่วนตัวของเรา ตราบใดที่เรื่องราวเหล่านั้น ไม่ได้ละเมิดสิทธิของใคร เพราะฉะนั้น การจะแชร์เรื่องราวอะไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเราเองว่า เราอยากจะให้คนอื่นรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน และความสบายใจของเราเอง 

ท้ายที่สุด ไม่ว่าชีวิตของคนอื่นจะสมบูรณ์แบบมากแค่ไหนก็ตามบนโลก Social Media แต่ในชีวิตจริง เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เบื้องหลังภาพที่สวยงามเหล่านั้น ชีวิตเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง เพราะ ไม่มีใครมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบหรอก ดังนั้น อย่าเก็บเอาภาพผ่านการตัดต่ออย่างสวยงามเหล่านั้น มาเก็บเป็นความรู้สึกอิจฉาริษยาภายในใจไว้เลย และมาใช้ชีวิตของเราให้เต็มที่กันเถอะ

อ้างอิง: The guardian 

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่   

No comment