รู้จักกับ The Dunning-Kruger effect ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า ทำไมบางคนไม่เก่งแต่ยังอวดเก่ง | Techsauce
รู้จักกับ The Dunning-Kruger effect ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า ทำไมบางคนไม่เก่งแต่ยังอวดเก่ง

มิถุนายน 13, 2021 | By Connext Team

หากคนเก่ง ที่ชอบคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เรียกว่า ‘Impostor Syndrome’ แล้วคนไม่เก่ง แต่ยังอวดฉลาดคิดว่าตัวเองเก่ง จะเรียกว่า อะไรดี?

Credit ภาพประกอบ: freepik

หลายคนน่าจะคุ้นเคยหรือรู้จักกับอาการ ‘Impostor Syndrome’ ที่อธิบายความรูัสึกนึกคิดของคนเก่ง ที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งกันมาบ้างแล้ว แต่ใครจะไปรู้ว่า โลกของเรามันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น เมื่อคนที่ไม่เก่งก็ชอบคิดว่าตัวเองเก่งกว่าที่เป็นเช่นกัน แถมยังจะอวดฉลาดเก่งซะด้วย เปรียบเสมือนโลกคู่ขนานกันไป

ทีนี้ สิ่งที่ชวนให้ประหลาดใจ คือ ทำไมคนเหล่านั้นถึงกล้าที่จะอวดฉลาดในสิ่งที่ตัวเองรู้ไม่จริงได้? เขารู้ตัวหรือเปล่าว่าเขาไม่ได้ฉลาดเหมือนที่เขาคิด? และอะไร เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังให้เขาคิดไปได้ไกลขนาดนั้น? เพื่อไขข้อสงสัยที่ค้างคาใจ มาทำความรู้จักกับ ‘The Dunning-Kruger effect’ ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า ทำไมบางคนโง่แต่ยังอวดฉลาดกันเถอะ

The Dunning-Kruger effect คือ อะไร?

The Dunning-Kruger effect เป็นความรู้สึกภายในจิตใจที่คิดอยู่เสมอว่า ตัวเองเก่งมีความสามารถมาก ทั้งๆที่มันอาจจะยังไม่เป็นเช่นนั้น หรือจะพูดง่ายๆ คือ ‘คิดว่าตัวเองเก่ง แต่จริงๆแล้วโง่นั่นเอง’

แนวคิดที่แปลกแหวกแนวนี้ เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1999 เมื่อนักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง David Dunning และ Justin Kruger ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความสามารถที่มีอยู่จริง และตามความคิดของตัวเอง โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำข้อสอบหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การใช้เหตุผล ไปจนถึงความรู้ทางไวยกรณ์

โดยก่อนที่จะประกาศผลคะแนน David Dunning และ Justin Kruger ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองประเมินผลการทดสอบของตัวเองออกมาตามความคิดของตัวเอง ผลปรากฎว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีผลคะแนนต่ำ มักจะประเมินผลการทดสอบของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงมาก 

โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีคะแนนในช่วงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 15 ที่มักจะประเมินผลการทดสอบของตัวเองเฉลี่ยอยู่ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 50 ขึ้นไป ขณะที่ผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีผลคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ก็มักจะประเมินผลการทดสอบของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นกัน 

คำถาม คือ ทำไมคนที่ไม่เก่ง ถึงยังคิดอยู่เสมอว่า ตัวเองเก่งกว่าความจริงที่ควรจะเป็น?

เพื่อที่จะตอบคำถามนั้น David Dunning และ Justin Kruger ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและต่ำสลับกันดูข้อสอบของอีกฝ่ายเพื่อดูความแตกต่างของคำตอบ จากนั้นจึงให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนประเมินผลการทดสอบของตัวเองอีกครั้ง 

ผลปรากฎว่า แทนที่กลุ่มที่มีคะแนนต่ำจะสังเกตเห็นความแตกต่างและประเมินให้ต่ำลง พวกเขาก็ยังคงมั่นใจอยู่ว่า ทุกสิ่งที่ตัวเองตอบนั้นถูกต้อง และยังประเมินผลการทดสอบแบบเดิม

David Dunning และ Justin Kruger จึงได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้คนที่ไม่เก่ง ยังคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเก่งกว่าความจริงที่ควรจะเป็นนั้น เป็นเพราะ อคติทางการรับรู้ (Cognitive Bias) ที่เชื่ออย่างสนิทใจว่าพวกเขาคือคนที่รู้ทุกอย่างและฉลาดที่สุด จนกระทั่งทำให้การประเมินผลและวัดค่าของสิ่งต่างๆผิดเพี้ยนไป และต่อให้ความจริงจะปรากฎออกมาอย่างไร พวกเขาก็จะหลับหูหลับตาเชื่อในสิ่งที่ตัวเองยึดถือมาตลอดอยู่ดี

แล้วคนที่หลงคิดว่าตัวเองเก่ง แต่จริงๆแล้วโง่ จะสามารถหลุดออกจากอคติที่บังตาพวกเขาได้ไหม?

คำตอบ คือ ได้ เพราะ จริงๆแล้วคนที่หลงคิดว่าตัวเองเก่งนั้น เพียงแค่ชอบคิดอยู่เสมอว่า ‘I Know Everything’ จนไม่เกิดการตั้งคำถามในสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นอยู่เท่านั้นเอง 

อย่างไรก็ตาม หากคนๆนั้น เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อและตระหนักได้ว่า สิ่งที่เขารู้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความรู้มหาศาลที่เขายังต้องเรียนรู้ต่อไป อคติทางการรับรู้ (Cognitive Bias) ที่เคยบังตาของพวกเขาก็จะพังทลายลงไปในพริบตา เหมือนกับคำกล่าวของ David Dunning ที่ว่า ‘ ดีแล้วที่เรารู้ตัวว่า ตัวเองไม่รู้อะไรเลย’

ดังนั้น ยอมรับซะเถอะว่า พวกเราทุกคนไม่ได้รู้ทุกเรื่องบนโลกใบนี้หรอก มีหลายเรื่องที่เราก็รู้และเชี่ยวชาญ และก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้เช่นกัน สิ่งที่เราต้องทำมีเพียงแค่อย่าหยุดที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิต และเปิดรับกับสิ่งใหม่ๆที่ผ่านเข้ามาอยู่เสมอ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ด้วยทัศนคติที่ดีแบบนี้นี่แหละ จะทำให้เราเติบโตกลายเป็นคนที่สมบูรณ์และเก่งได้โดยที่ไม่ต้องหลอกตัวเองอีกต่อไป

อ้างอิง: New York Times   

No comment