ตลาดแรงงาน 2.0 กับ The Pleb, Founder of ContributionDAO | Techsauce
ตลาดแรงงาน 2.0 กับ The Pleb, Founder of ContributionDAO

สิงหาคม 1, 2022 | By Connext Team

จากปัญหาเรื่องของโรคระบาดในปัจจุบันทำให้สถานการณ์และระบบการทำงานต่างๆ เปลี่ยนไป ส่งผลให้ความต้องการของแรงงานและของบริษัทในการคัดเลือกรวมถึงการหาทักษะต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเราจะมีวิธีการเอาตัวรอดได้อย่างไรในสถานการณ์ของตลาดแรงงานยุคใหม่นี้ 

และเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คุณเป๊ป ผู้ก่อตั้ง ContributionDAO จะพามาไขข้อสงสัยว่าตลาดแรงงาน 2.0 คืออะไร และจะมีวิธีเตรียมพร้อมหรือพัฒนาทักษะในอนาคตได้อย่างไร ในงาน Tech ConNEXT Job Fair 2022

ซึ่งสำหรับใครที่พลาดงานในวันนั้น วันนี้ทาง ConNEXT มีสรุปเนื้อหาจากเซสชั่นของคุณเป๊ปมาฝากทุกคนกัน

ตลาดแรงงาน 2.0

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดตลาดแรงงานยุคใหม่

ก่อนที่จะพูดถึงตลาดแรงงาน 2.0 คุณเป๊ปได้เล่าย้อนกลับไปถึงปัญหาการทำงานรูปแบบเก่าซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในปัจจุบัน โดยสามารถสรุปออกมาได้ดังนี้

1. รูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยยกตัวอย่างสถานการณ์ของโควิดที่ทำให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ ซึ่งก็คือการทำงานแบบ Work From Home  ส่งผลให้ตลาดแรงงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้น

2. ปัญหา Toxic ในองค์กร โดยส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องระบบอุปถัมภ์ในองค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ Talent ออกจากบริษัท

3. Talent ต้องการความท้าทาย ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน 

4. ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป

การเข้ามาของเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ตัดตัวกลางในการหางานออกไป

ในอดีตการรับสมัครงานจะมีรูปแบบเป็นคนที่รับสมัครกับคนที่จะสมัคร ต่อมาจะมีตัวกลางเช่น คนหางาน แอปพลิเคชั่น แต่ปัญหาคือคนกลางได้ประโยชน์สูงสุดเพราะเป็นคนกุมข้อมูลเอาไว้

และจากการเข้ามาของเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยในการตัดปัญหาตัวกลางออกไป เพราะเทคโนโลยีจะทำให้ราคาการจ้างงานถูกลง ระบบทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและเข้ามาตรวจสอบได้ รวมทั้งบริษัทจะไม่ได้มองสถาบันที่จบมา  แต่จะดูความสำเร็จต่างๆ  ที่ทำ ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนจะมาช่วยยืนยันว่าคุณทำสิ่งนั้นจริง ตัวอย่างเช่น คุณสามารถสร้าง Achivement ผ่านการทำงานของคุณ โดยบล็อกเชนจะบันทึกสิ่งที่คุณทำลงใน Wallet  และในอนาคตระบบนี้จะช่วยสร้าง Wallet เป็น Resume 2.0 ส่งไปที่บริษัทได้เลย

นอกจากนี้คุณเป๊ปกล่าวเสริมว่า สิ่งที่หลายๆ  คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Digital wallet  คือจะเก็บได้เพียงธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น โดยกล่าวถึง Developer ทางฝั่งอเมริกาที่กำลังทำอยู่คือการสร้าง Skill Wallet ซ้อนทับ Digital Wallet ซึ่งเราสามารถเอา Skill Wallet ไปเชื่อมต่อ Achivement เพื่อต้องการจะให้แสดงบันทึก ว่าเราทำอะไรมาบ้าง โดยผู้ใช้สามารถเปิดปิด Permission ของตนเองได้ว่าอยากให้แสดงส่วนใดบ้าง  ตัวอย่างเช่น Uniswap ถ้าเรา Swap ระบบจะโชว์ว่าเรามีส่วนร่วมมากแค่ไหน ซึ่งในแง่ขององค์กรการที่มีระบบนี้ขึ้นมาจะช่วยในการประหยัดการ Training เนื่องจากพนักงานมีความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ทางบริษัทมีโอกาสในการเลือกเข้าทำงานมากกว่า

คุณเป๊ปเสริมว่าการเข้ามาของ Smart Contract จะช่วยสร้างความเป็นไปได้ในระบบการจ้างงานมากขึ้น เช่น การชำระเงิน หรือการทำงาน Cross ระหว่างบริษัท ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ตลาดแรงงาน 2.0 เกิดขึ้นมา

ตลาดแรงงาน 2.0 คืออะไร

คุณเป๊ปได้ให้นิยามของตลาดแรงงาน 2.0 ว่าคือตลาดแรงงานที่สามารถทำงานร่วมกันได้โดยที่ไม่มีแรงเสียดทาน ซึ่งแรงเสียดทานดังกล่าวคือ อุปสรรคในการทำงานที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ค่าจ้าง สัญญา เอกสาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงเสียดทานทั้งหมด

ยกตัวอย่าง การที่บุคคลหนึ่งย้ายงานจากบริษัท A ไปบริษัท B ส่งผลให้เกิดการชะงัก เพราะแต่ละองค์กรต่างก็มีกฎระเบียบ วัฒนธรรม และหน้าที่การงานที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้คือแรงเสียดทานที่เรียกว่า Friction rate

สภาพคล่องของตลาดแรงงาน 2.0 คือ ชั่วโมงการทำงาน

ต่อมาคุณเป๊ปกล่าวถึงเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งคำตอบที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึงก็คือ สภาพคล่องทางการเงิน แต่ถ้าพูดถึงตลาดแรงงาน 2.0 สภาพคล่องดังกล่าวไม่ใช่ในเรื่องของการเงิน แต่คือ ชั่วโมงการทำงาน หรือ Productive hour 

ซึ่งในอนาคตตัวแรงงานเองสามารถที่จะเป็นเจ้าของชั่วโมงการทำงาน มีสิทธิ์กำหนดชั่วโมงการทำงานที่เราพึงพอใจได้ให้กับองค์กรต่างๆ  ที่ต้องการเราไปทำงานได้ โดยสิ่งนี้จะช่วยลดกำแพงต่างๆ ช่วยประหยัดต้นทุนการทำงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้โมเดลนี้อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ถ้ามี Talent Pool ที่เพียงพอ

รวมทั้งคุณเป๊ปกล่าวเสริมว่าสิ่งที่ตลาดแรงงานในอนาคตจะเกิดขึ้นคือ User หรือ Talent ต่างๆสามารถทำงาน Cross บริษัทกันได้ โดยใช้ Pool Talent เดียวกัน 

ไม่จำเป็นต้องมีทักษะสูง ก็สามารถเข้าร่วมโมเดลการทำงานนี้ได้

สำหรับในเรื่องทักษะ คุณเป๊ปได้ให้คำตอบว่าไม่จำเป็นต้องมีทักษะที่สูงก็สามารถเข้าร่วมทำงานในระบบแบบนี้ ซึ่งในโมเดลการทำงานนี้ถ้า User ที่เข้ามามี Achievement ที่เพียงพอ แล้วชั่วโมงการทำงานของเราตรงกับที่บริษัทอยากได้ ทางบริษัทก็จะมาซื้อชั่วโมงการทำงานของเรา

ในส่วนขององค์กรระบบนี้อาจจะมา Distribute ระบบการทำงานของโลกได้เลย เพราะปกติเราทำงานกันอยู่ 2 แบบคือ Full-time กับ Part-time แต่ในอนาคตจะมีสิ่งที่เรียกว่า Distribute time ก็คือซื้อเวลาการทำงานมา แล้วเราก็ Distribute งานให้กับคนในองค์กรหรือเครือข่ายของเรา 

ซึ่งสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Smart Contract แต่ในอนาคตก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่จะมาเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานในอนาคตคือ DAO ซึ่งการมาของ DAO หรือองค์กรเสมือน ที่ปกครองโดยระบบ Smart Contract ทำให้ตลาดแรงงาน 2.0 สามารถเกิดขึ้นได้ 

โดยในอนาคตโปรไฟล์ของทุกคนอาจจะอยู่ในรูปแบบที่มี Track record มีชั่วโมงการทำงานของตัวเอง เราสามารถกำหนดชั่วโมงการทำงานของตนเองได้ ซึ่งเราสามารถต่อรองกับบริษัทได้ รูปแบบการทำงานแบบนี้ต่างกับการทำงานฟรีแลนซ์ ตรงที่เราสามารถทำ Micro Finance ได้ โดยการที่เราสามารถเอาชั่วโมงการทำงานของเราไปค้ำประกันเพื่อกู้เงิน  ซึ่งในอดีตเค้าอาจจะดูทรัพย์สินของเราว่ามีเท่าไหร่ แต่ในอนาคตเค้าจะดูที่ชั่วโมงการทำงานของเรา ซึ่งตรงนี้จะสามารถเปลี่ยนระบบการเงินของเราไปได้ รวมทั้งยังมีความแตกต่างในเรื่องความโปร่งใสเพราะข้อมูลต่างๆ  จะถูกติดตามไว้บนบล็อกเชนและจะได้รับการพิสูจน์จากคอมมูนิตี้ 

นอกจากนี้คุณเป๊ปกล่าวเพิ่มเติมว่าเนื่องจากการทำงานของบริษัทในปัจจุบันเป็นการเก็บ Talent ไว้กับบริษัทที่เดียว แต่ในอนาคตทุกคนสามารถแชร์ Talent ร่วมกันได้ และสิ่งนี้น่าจะช่วยเหลือสังคมได้เยอะ

สุดท้ายนี้แม้ตลาดแรงงาน  2.0 จะเป็นตลาดแรงงานรูปแบบใหม่ แต่คุณเป๊ปได้กล่าวถึงข้อเสียของโมเดลการทำงานนี้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่ตลาดแรงงาน 2.0 อย่างเดียวแต่ขึ้นอยู่กับคนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองภายในต่างๆ  หรือเรื่องความรั่วไหลของข้อมูล รวมทั้งเรื่องของกฎหมายในปัจจุบันที่ประเทศไทยยังไม่รองรับเกี่ยวกับระบบ DAO

No comment