งานวิจัยล่าสุดพบว่า การอ่านหนังสือจากเล่มกระดาษ มีประสิทธิภาพในการจดจำมากกว่า E-book | Techsauce
งานวิจัยล่าสุดพบว่า การอ่านหนังสือจากเล่มกระดาษ มีประสิทธิภาพในการจดจำมากกว่า E-book

พฤษภาคม 12, 2021 | By Connext Team

ด้วยโลกที่กำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การมาถึงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ก็อาจทำให้เราสูญเสียสิ่งที่มีมาแต่เดิมไป เหมือนคำพูดว่า ‘เก่าไป ใหม่มา’ หนังสือจากเล่มกระดาษก็เช่นกัน เพราะ ทุกวันนี้ใครๆก็สามารถอ่านหนังสือได้จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองกันทั้งนั้น ความนิยมของหนังสือแบบดั้งเดิมก็เสื่อมลงไป เห็นได้จากร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ทยอยปิดตัวลงไปทีละราย

อย่างไรก็ตาม บางครั้งสิ่งของที่มาใหม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป เพราะ แท้จริงแล้ว การอ่านหนังสือจากเล่มกระดาษเก่าๆเนี่ยแหละ ที่ทำให้เราสามารถจดจำและร้อยเรียงเรื่องราวที่อ่านได้ดีกว่าชัดเจน จนอาจทำให้เราต้องกลับมาสนใจวัฒนธรรมการอ่านหนังสือจากเล่มกระดาษอีกครั้ง  

จากการศึกษาและวิจัยชิ้นล่าสุด ที่แบ่งนักอ่านกลุ่มตัวอย่างจำนวน 50 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ นักอ่านที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือที่เป็นรูปเล่มกระดาษ แล้วให้อ่านเรื่องสั้นของ Elizabeth George เหมือนกัน พบว่านักอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มกระดาษมีแนวโน้มที่จะจดจำเรื่องราวและเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่านักอ่านกลุ่มแรก

Anne Mangen นักวิจัยผู้ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการอ่านหนังสือด้วยระบบดิจิทัล จาก Stavanger University ประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า นักอ่านที่อ่านหนังสือเป็นรูปเล่มแบบดั้งเดิม จะมีประสิทธิภาพในการอ่านที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเรียงลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือ สังเกตได้จาก เมื่อให้นักอ่านกลุ่มตัวอย่าง ลองเรียงลำดับเหตุการณ์ 14 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นที่อ่าน นักอ่านที่อ่านหนังสือเป็นรูปเล่ม สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างแม่นยำ ขณะที่นักอ่านอีกกลุ่มกลับไม่สามารถทำได้

เธอได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมื่อเราอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มกระดาษ เราจะรู้สึกได้ถึงเนื้อเรื่องที่ค่อยๆผ่านไปตามหน้ากระดาษที่เราเปลี่ยน ซึ่งทำให้เราติดตามเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังสือได้ดีกว่า นอกจากนั้น ขนาดกระดาษที่เท่ากันพอดีของหนังสือ ยังทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นอีกด้วยว่า เราอ่านไปมากน้อยเท่าไหร่แล้ว และเนื้อเรื่องที่เหลือยังมีอีกเท่าไหร่ที่ต้องอ่านต่อ เพราะฉะนั้น ด้วยสัมผัสและความรู้สึกที่หาไม่ได้จากการอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้การอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่ม เป็นวิธีการอ่านหนังสือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

นอกจากนี้ เธอยังศึกษาความแตกต่างระหว่างการอ่านชีทเรียน และไฟล์ PDF บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งพบว่า เมื่อทำแบบทดสอบหลังเรียน กลุ่มนักเรียนตัวอย่างที่อ่านชีทเรียนแบบดั้งเดิม สามารถทำคะแนนได้สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับนักเรียนที่อ่านหนังสือจากไฟล์ PDF :ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาและวิจัยก่อนหน้าอีกด้วย

จากผลการศึกษาและวิจัยที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การเข้ามามีอิทธิพลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในวงการนักอ่านส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการอ่านของคนรุ่นใหม่มากแค่ไหน เพราะฉะนั้น ในมุมมองของนักวิชาการ Anne Mangen จึงเห็นว่า เราจำเป็นจะต้องนำเสนอผลงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และร่วมกันหาแนวทางว่า หนังสือประเภทไหนควรอ่านกับเครื่องมืออะไร เช่น หากเป็นการอ่านเรื่องย่อสั้นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องโฟกัสทุกตัวอักษร การอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็อาจจะช่วยให้นักอ่านสามารถอ่านหนังสือได้สะดวกมากขึ้น แต่ถ้าหากเป็นหนังสือนวนิยายเรื่องยาวหรือหนังสือเรียนเล่มหนา การอ่านหนังสือแบบดั้งเดิมก็อาจจะเหมาะสมมากกว่า

‘ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าโลกจะก้าวล้ำไปไกลแค่ไหน แต่บางสิ่งบางอย่างที่มีมาแต่ดั้งเดิมล้วนมีคุณค่าในตัวเองเสมอ การอ่านหนังสือจากกระดาษเก่าๆก็เช่นกัน’  

อ้างอิง: The Guardian

No comment