รู้จัก Tsundoku พฤติกรรมการซื้อหนังสือมาดองทิ้งไว้ แต่ไม่ได้อ่านสักที | Techsauce
รู้จัก Tsundoku พฤติกรรมการซื้อหนังสือมาดองทิ้งไว้ แต่ไม่ได้อ่านสักที

สิงหาคม 11, 2021 | By Connext Team

เคยไหม? ซื้อหนังสือมาเก็บไว้ ด้วยความหวังว่าจะอ่านให้จบก่อนซื้อเล่มใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังซื้อหนังสือเล่มอื่นมาอ่านเรื่อย ๆ จนอ่านหนังสือที่มีอยู่ไม่ทันอีกต่อไป หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ดองหนังสือทิ้งไว้จนลืมนั่นเอง

สำหรับหนอนหนังสืออย่างเรา การได้ไปเดินตามร้านขายหนังสือ และเห็นหน้าปกสีสันสดใสมากมายวางอยู่บนชั้นวาง ก็คงอดไม่ได้ที่เราจะอยากหยิบจับและพลิกดูหน้าหลังด้วยความสนใจ 

มันคงเหมือนมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างจากปกหนังสือ กำลังบอกกับเราว่า “ซื้อชั้นสิ เนื้อเรื่องข้างในสนุกนะ ไม่อยากลองอ่านดูหน่อยเหรอ” ยิ่งถ้าเราได้ไปงานสัปดาห์หนังสือประจำปี ที่มีหนังสือเป็นหมื่นเป็นแสนให้เลือก แรงดึงดูดนั้นจะยิ่งมากทวีคูณ จนกระทั่งเพียงแค่เสี้ยววินาที หนังสือเล่มใหม่ ๆ มากมาย ก็มาอยู่ในมือเราแบบไม่ทันตั้งตัว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ชำระเงินเรียบร้อย ภาพเดจาวูซ้ำ ๆ ก็จะปรากฎขึ้นมาในหัว พร้อมกับความรู้สึกว่า “เอ๊ะ! ชั้นเพิ่งจะจ่ายตังค์ไปเมื่อวันก่อนเองนี่น่า” และเมื่อนั้นแหละ เราถึงจะรู้ตัวว่า เราเพิ่งซื้อหนังสือเล่มใหม่อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่เราแทบจะไม่ได้แตะหนังสือกองพะเนินที่ซื้อไปก่อนหน้าเลยแม้แต่น้อย

แต่ไม่ต้องแปลกใจไปนะ ไม่ใช่เราคนเดียวแน่นอน ที่ชอบซื้อหนังสือไปดองทิ้งไว้จนเต็มชั้นหนังสือที่บ้าน ใคร ๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น (และเชื่อว่าใครสักคนที่ได้อ่านบทความนี้ ก็เป็นเช่นกัน) จนกระทั่งในประเทศญี่ปุ่น มีคำอธิบายถึงความรู้สึกเหล่านี้โดยเฉพาะเลย ซึ่งคำ ๆ นั้น ก็คือ ‘tsundoku’ นั่นเอง

‘Tsundoku’ เป็นคำที่เกิดจากการรวมตัวกันของคำ 3 คำในภาษาญี่ปุ่น ได้แก่ tsunde (หนังสือที่กองเป็นตั้ง) + oku ( ทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง) + doku (อ่าน)

หมายถึง ความรู้สึกที่อยากจะซื้อหนังสือไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น จนกระทั่งไม่สามารถอ่านหนังสือที่มีอยู่ได้ทัน หรืออาจหมายถึง บุคคลที่เป็นเจ้าของหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านจำนวนมากได้เช่นกัน ซึ่งคำ ๆ นี้ เริ่มปรากฎขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 หรือตรงกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น และใช้มาจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับคำว่า ‘Bibliomania’ ในภาษาอังกฤษที่อธิบายถึง อาการทางจิตของคนที่คลั่งไคล้การสะสมหนังสือมากเกินไปแล้วล่ะก็ Tsundoku จะมีภาพลักษณ์ในเชิงบวกมากกว่า 

เนื่องจากกลุ่มคนที่มีอาการ Bibliomania มักจะหมกมุ่นอยู่กับการสะสมหนังสืออย่างบ้าคลั่ง และรู้สึกเสียใจอย่างมากหากไม่ได้หนังสือเล่มที่ต้องการ ขณะที่ Tsundoku เป็นเพียงแค่ความรู้สึกอยากซื้อและอ่านหนังสือที่ซื้อไป แต่ก็ยังไม่ได้อ่านสักทีเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นแล้ว หากเรารู้สึกว่า “    ไม่อยากดองหนังสืออีกต่อไปแล้ว” ลองมาทำ Reading a book Challenge ดูดีไหม? เราอาจจะลองท้าทายตัวเองด้วยการกำหนดจำนวนหนังสือที่ต้องอ่านในแต่ละวันหรือสัปดาห์ ก่อนที่จะไปซื้อหนังสือเล่มถัดไป และแบ่งเวลาให้กับการอ่านหนังสือที่มีอยู่เยอะขึ้นกว่าเดิม เพียงเท่านี้ หนังสือกองพะเนินที่ไม่ได้แม้แต่จะเอาปกพลาสติกออก ก็จะค่อย ๆ ถูกอ่านจนครบในท้ายที่สุด 

อ้างอิง: Huffpost , Thomas Deneuville

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn 

ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]

No comment