เบื่องาน แต่ไม่อยากลาออก? มาดู 3 วิธีที่ทำให้งานมีความหมายมากขึ้น | Techsauce
เบื่องาน แต่ไม่อยากลาออก? มาดู 3 วิธีที่ทำให้งานมีความหมายมากขึ้น

พฤศจิกายน 15, 2021 | By Siramol Jiraporn

หลายคนโตมากับความคิดที่ว่า เมื่อบริษัทจ้างเรา เราจะต้องทำงานตามที่เขียนไว้ใน Job Description 

พูดตรงๆ ว่า ความคิดแบบนี้เคยฟังขึ้นในอดีตที่คนส่วนใหญ่ทำแล้วได้รับรางวัล แต่ความคิดแบบนี้ไม่สามารถใช้ได้แล้วในปัจจุบัน 

จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายตำแหน่งมีบทบาทที่เปลี่ยนไปมาก หากคุณยังคงทำตาม Job Description ที่เคยเขียนไว้ คุณจะกลายเป็นคนล้าสมัยทันที รวมถึงจะทำให้คุณรู้สึกเบื่อและไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน

พวกเราทุกคนมีความคิด จุดแข็ง และความต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นของตัวเอง การทำในสิ่งที่คนอื่นบอกและการก้มหัวทำงานเพื่อให้ผ่านไปวันๆ ไม่ใช่เคล็ดลับที่ดีสำหรับการเติมเต็มตัวเองหรือการทำงานที่ดี 

วิธีการแก้ปัญหาคือ Job crafting

Job crafting เป็นการเริ่มปรับบทบาทหน้าที่ปัจจุบันให้เป็นตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือทักษะที่ช่วยให้คุณกำหนด สร้าง รวมถึงให้คำนิยามงานของคุณใหม่ ที่จะทำให้คุณรู้สึกมีพลังและมีความหมาย คุณสามารถเริ่มฝึกวันละนิด และใช้มันไปตลอดชีวิตการทำงานของคุณได้

3 วิธีทำ Job crafting ที่ทำให้คุณทำงานได้อย่างมีความหมายมากขึ้น

1. กระบวนการ -- การนำจุดแข็งมาใช้กับงานให้มากขึ้น

ถ้าคุณเคยพยายามทำงานที่ไม่ชอบต่อไปเรื่อยๆ คุณจะรู้ว่าการหมดไฟในการทำงานและความผิดหวังเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นคุณควรปรับเปลี่ยนรูปแบบงานให้ตรงกับจุดแข็งมากกว่าการทำงานที่คุณไม่ชอบเพื่อเงินเดือนต่อไป

สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือ นำงานใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นเข้ามาในงานของคุณ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรือใหญ่ก็ตาม คิดซะว่ามันเป็นการสร้างรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินให้กับตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้คุณอยากตื่นเช้าไปทำงานมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง: ถ้าคุณเคยทำงานฝ่ายขายและรู้สึกชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมาก่อน แต่หลังจากที่คุณขึ้นเป็นผู้จัดการทำให้พูดคุยกับลูกค้าน้อยลง เพราะต้องใช้เวลาไปกับการประชุมงานที่น่าเบื่อ จนรู้สึกว่างานไม่มีความหมายสำหรับตัวเองอีกต่อไป คุณสามารถทำ Job crafting ได้ โดยการออกไปเยี่ยมลูกค้าในแต่ละสัปดาห์ เพียงเพื่อพูดคุยกับพวกเขา ก็จะทำให้งานอื่นๆ ดูมีความหมายมากขึ้น

2. เพื่อนร่วมงาน -- การพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานให้มีแรงบันดาลใจมากขึ้น

เมื่อพูดถึงเพื่อนร่วมงาน หลายคนอาจนึกถึงเพื่อนร่วมงานที่ทำให้หมดกำลังใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไปคือ คุณสามารถเลือกคนที่จะอยู่รอบๆ ตัวคุณได้ 

หากคุณเจอเพื่อนร่วมงานแย่ แทนที่จะลาออกจากงาน คุณควรถามตัวเองว่า “ฉันจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้มากกว่าคนที่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงได้อย่างไร?”

ถ้าคุณรู้สึกไม่มีทางเลือกในแง่ของคนที่คุณทำงานด้วย คุณก็ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพได้ โดยการเลือกเพื่อนร่วมงานสองคนที่คุณมีปฏิสัมพันธ์ด้วยบ่อยๆ และเขียนอีเมลถึงเขาโดยเล่าถึงความสำเร็จที่พวกคุณมีร่วมกัน ยิ่งเล่าละเอียดมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีความผูกพันมากขึ้นเท่านั้น คนเหล่านั้นจะซาบซึ้งในความพยายาม และความสัมพันธ์ก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้

3. เป้าหมาย -- การเล่าเรื่องให้ตัวเองฟังให้มีแรงบันดาลใจมากขึ้น

บางคนรอเจ้านายเพื่อให้ตัวเองมีเป้าหมาย แต่การจุดไฟให้ตัวเองมีเป้าหมายไม่ใช่แค่การฟังคำพูดที่สูงส่งหรือวัตถุประสงค์ขององค์กร สุดท้ายแล้วเป้าหมายก็คือการทำความเข้าใจผลกระทบที่มีต่อผู้อื่น และพัฒนาเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุว่าทำไมคุณถึงทำสิ่งนี้ ซึ่งหมายความว่าเป้าหมายคือเรื่องราวที่คุณบอกตัวเองเป็นหลัก คุณสามารถสร้างเรื่องราวนั้นขึ้นมาได้ รวมถึงสามารถพัฒนาคำอธิบายสาเหตุที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมตัวเองได้

โดยใช้เวลาเรียนรู้ลูกค้าที่ต้องการงานของคุณเพื่อความสำเร็จของตัวเอง พูดคุยกับลูกค้าและถามว่างานของคุณทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นหรือแย่ลง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นเหล่านั้นและมองหาสิ่งที่จะมาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ วิธีนี้จะทำให้คุณคิดออกว่างานใหม่ๆ ที่คุณสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นคืออะไร

อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คุณเข้าใจผลกระทบของงานตัวเองคือ เมื่อทำกิจกรรมแต่ละอย่างในที่ทำงาน ให้ถามตัวเองว่า “ทำไมฉันถึงทำเช่นนี้” เช่น ถ้าคุณทำรายงานบัญชีรายสัปดาห์ ให้ถามตัวเองว่าทำรายงานบัญชีรายสัปดาห์ไปทำไม ฟังเรื่องราวที่เล่าให้ตัวเองฟัง คุณจะพบว่าคุณไม่ชอบเรื่องราวนั้น คำตอบของคุณอาจจะเป็น “ฉันทำเพราะมันเป็นงานของฉัน”

ถ้าเป้าหมายคุณเป็นแบบที่กล่าวมาข้างต้น ให้พยายามเปลี่ยนเป้าหมายของงานให้เป็นตัวเองมากขึ้น เพื่อให้พบว่างานนี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เช่น ทำรายงานประจำสัปดาห์เพื่อให้หัวหน้าตัดสินใจได้ดีขึ้น จากนั้นให้ถามตัวเองว่า ทำไมถึงสนใจว่าเขาจะตัดสินใจได้ดีขึ้น ถ้าคุณหาเรื่องราวที่รู้สึกว่ามีความสำคัญต่อตัวเองได้ คุณจะตื่นเต้นกับงานและมีความอดทนมากขึ้น

จำไว้ว่าการเปลี่ยนจากกรอบความคิดในงานแบบเดิมๆ ไปสู่กรอบความคิดใหม่ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนได้เลยในครั้งเดียว คุณยังต้องช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมาย ยังต้องทำงานตามคำสั่งเพื่อเงิน แต่งานของคุณจะมีความหมายมากขึ้น และนายจ้างของคุณก็จะได้รับประโยชน์จากคุณมากขึ้นด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก https://hbr.org/2021/02/turn-your-boring-job-into-a-job-youll-love

No comment