เคยไหม? ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอะไรสักอย่าง รู้จักกับ ‘Impostor syndrome’ ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
เคยไหม? ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอะไรสักอย่าง รู้จักกับ ‘Impostor syndrome’ ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
By Nabhatara Sinthuvanich มีนาคม 25, 2021
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

เคยไหม? ที่รู้สึกว่า เราก็แค่โชคดีที่ได้งานดีๆทำ และกลายเป็นคนเก่งมีความสามารถในสายตาของคนรอบข้าง แต่จริงๆแล้ว ข้างในลึกๆ กลับคิดว่า เราเป็นคนที่ไม่เก่งอะไรเลยสักอย่าง และก็ไม่คู่ควรกับงานและคำชื่นชมที่ได้รับด้วย

ความรู้สึกที่อยู่ข้างในเหล่านี้ เป็นที่รู้จักกันในนามของ ‘Impostor syndrome’ ซึ่งประมาณ 70% ของคนทั่วไป มักจะเผชิญกับความคิดที่ว่า ตัวเองไม่เก่งและไร้ความสามารถ อย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่งในชีวิต หากอ้างอิงจากบทความ The Impostor Phenomenon ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน the International Journal of Behavioral Science นั้น Impostor syndrome ส่งผลกระทบทางจิตใจของคนได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม และนั่นอาจรวมถึงคุณด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้น มาลองสำรวจความรู้สึกข้างในของตัวเองและค้นหาคำตอบกันว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะ Impostor syndrome อยู่หรือเปล่า? และถ้าใช่ เราจะต่อสู้กับศัตรูข้างในและก้าวข้ามความรู้สึกแย่ๆแบบนี้ไปได้อย่างไร? 

Impostor syndrome คือ อะไร?

‘Impostor syndrome’ คือ ความรู้สึกภายในจิตใจที่คิดอยู่เสมอว่า ทุกวันนี้ เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้เป็นเพียงเพราะว่าเรามีโอกาสและจังหวะชีวิตที่ดี ไม่ใช่เพราะความสามารถของเราเลยแม้แต่น้อย เราจึงไม่คู่ควรกับความสำเร็จและเสียงชื่นชมจากคนรอบข้างที่ได้รับ 

แนวคิดนี้ ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกเมื่อปี 1978 ในงานวิจัยของนักจิตวิทยา Pauline Rose Clance และ Suzanne Imes โดยงานวิจัยกล่าวว่า ความรู้สึกที่ว่า เราเป็นคนที่ไม่เก่งอะไรเลยสักอย่างนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายเท่ากัน จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า Impostor syndrome สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ที่ไม่สามารถเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง    

Valerie Young ผู้เชี่ยวชาญด้าน Impostor syndrome และเจ้าของหนังสือ The Secret Thoughts of Successful Women ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์ที่มักจะต้องเผชิญกับภาวะ Impostor syndrome นั้น มักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • Perfectionist มนุษย์ที่ต้องการให้ทุกอย่างบนโลกสมบูรณ์แบบ มักจะกดดันและคาดหวังกับตัวเองค่อนข้างสูง และถึงแม้ว่า พวกเขาจะทำทุกสิ่งได้อย่างสมบูรณ์แบบเกือบ 100% แล้วก็ตาม แต่ถ้าหากยังมีอีก 1% ที่ยังคงผิดพลาด สิ่งที่พวกเขาทำจะกลายเป็นความล้มเหลวทันที และทัศนคติเหล่านี้นั่นเอง ที่ทำให้พวกเขาคิดว่า จริงๆแล้ว พวกเขาก็ไม่ใช่คนเก่งอะไรนักหรอก

  • Expert มนุษย์ที่มีอุปนิสัยเหมือนเหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย มักจะรู้สึกว่า พวกเขาต้องการรู้ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนจะเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง พวกเขาจะไม่ยอมสมัครงานเลย ถ้าหากพวกเขายังไม่มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติครบทุกประการที่งานตำแหน่งนั้นต้องการ แม้จะพลาดไปข้อเดียวก็ตาม ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังลังเลที่จะถามคำถามในห้องเรียนหรือที่ประชุม เนื่องจาก พวกเขากลัวที่จะถูกมองว่า โง่เขลาและไร้ความสามารถ เพียงเพราะไม่รู้คำตอบนั้นอีกด้วย 

  • Natural Genius มนุษย์บางคน อาจมีพรสวรรค์และความสามารถด้านใดด้านหนึ่งมาตั้งแต่เกิด แต่เมื่อพบว่า พวกเขาเริ่มต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ ทั้งที่ในอดีต พวกเขาเคยทำมันได้อย่างง่ายดาย เขาก็จะรู้สึกว่า พวกเขาคงจะยังดีไม่พอที่จะทำสิ่งนั้น จนกระทั่งหมดความมั่นใจในตนเองไปในท้ายที่สุด

  • Soloist มนุษย์ที่ชอบฉายเดี่ยวและทำงานคนเดียว มักจะรู้สึกว่า พวกเขาต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จด้วยสองมือของตัวเองให้ได้ อย่างไรก็ตาม บางครั้งมนุษย์เราก็ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นบ้างเปนเรื่องปกติ แต่สำหรับเหล่า Soloist นั้น เมื่อถึงเวลาต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น นั่นหมายความว่า พวกเขาล้มเหลวในการทำสิ่งนั้นให้สำเร็จแล้ว และนั่นทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะของ Imposter syndrome 

  • Superman / Superwoman มนุษย์กลุ่มซุปเปอร์ฮีโร่เหล่านี้ มักจะกดดันตัวเองให้ทำงานหนักกว่าคนอื่น เพื่อพิสูจน์ว่า พวกเขาคือคนที่เก่งและมีความสามารถจริงๆ พวกเขารู้สึกว่า พวกเขาจะต้องประสบความสำเร็จในทุกๆด้านของชีวิต ทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว และชีวิตส่วนตัว และเมื่อพวกเขาผิดพลาดกับอะไรสักอย่าง เลยมักจะรู้สึกว่า สิ่งที่กำลังพยายามพิสูจน์ให้คนอื่นเห็น กลับไม่เป็นความจริง

เพราะอะไร? เราถึงจะต้องเผชิญกับภาวะ Impostor syndrome สักครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับคำตอบของคำถามนี้นั้น ไม่ตายตัว ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้เราต้องเผชิญกับภาวะ Impostor syndrome เป็นเพราะ อุปนิสัยส่วนตัว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่งเชื่อว่า เป็นเพราะ ครอบครัว และสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในทุกวันนี้

Audrey Ervin นักจิตวิทยาชื่อดัง ได้อธิบายไว้ว่า บางครั้ง ความทรงจำในวัยเด็กอย่างความรู้สึกที่ว่า ผลการเรียนของเราไม่เคยดีในสายตาของพ่อแม่เลย หรือการต้องอยู่ใต้เงาความสำเร็จของพี่น้องตัวเอง อาจทำให้เรารู้สึกว่า การที่จะได้รับความรักและคำชื่นชมจากคนรอบข้าง เราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เราเป็นคนเก่งและประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่น และนั่นทำให้เราตกอยู่ในภาวะ Impostor syndrome ไม่จบสิ้นสักที

นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมรอบตัว ก็นับว่ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้เราตกอยู่ในภาวะ Impostor syndrome ด้วยเช่นกัน หากเราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้คนส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกับเรา ทั้งในแง่ของรูปร่างหน้าตา ความสามารถ รวมไปถึงอุปนิสัยใจคอ จะทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่แห่งนั้น และเกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ผู้คนรอบตัวแตกต่างจากเรามากเกินไป จนเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ที่นี่ใช่ที่ของเราหรือเปล่า? นั่นคงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เรากำลังสูญเสียความมั่นใจในตนเองไปทีละนิด จนกระทั่งคิดว่า เราไม่คู่ควรกับจุดที่เรายืนอยู่อีกต่อไป

เราจะเอาชนะ Impostor syndrome ได้อย่างไร?

การจะเอาชนะความรู้สึกแย่ๆ ที่มักจะคิดเสมอว่า ตัวเองไม่เก่งและไม่คู่ควรกับความสำเร็จที่มีอยู่ สามารถทำได้ด้วย ‘การรู้เท่าทันต่อความคิดของตัวเอง’ เราต้องคิดอยู่เสมอว่า สิ่งที่เราคิดนั้นไม่ใช่ความจริง เพราะ ไม่มีใครในโลกใบนี้ ที่จะเก่งไปซะทุกอย่าง และไม่มีใครในโลกใบนี้ ที่จะไม่เก่งอะไรเลย ทุกคนต่างคู่ควรกับความสำเร็จที่ได้รับจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

หากการคิดไปเองคนเดียว ดูจะไม่ช่วยให้ความรู้สึกแย่ๆข้างในออกมาและหายไป บางที การระบายความรู้สึกและบอกเล่าเรื่องราวให้เพื่อนและคนรอบข้างฟังอาจจะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้พูดคุยกับคนที่เคยผ่านจุดเลวร้ายนั้นมาก่อน เพราะ มันจะทำให้เราเห็นว่า ไม่ใช่เราเพียงลำพังที่จะต้องต่อสู้กับความรู้สึกเหล่านี้ในทุกๆวัน ผู้คนอีกมากมายต่างผ่านจุดที่เราเคยยืนอยู่มาแล้วด้วยกันทั้งนั้น และมันเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์คนหนึ่งจะต้องเจอ    

ท้ายที่สุด ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราอาจจะต้องเผชิญกับภาวะ Impostor syndrome ทีทำให้เราไม่มั่นใจกับความสามารถที่เรามีกันบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญ คือ อย่าให้ความรู้สึกแย่ๆเหล่านั้น มาบั่นทอนพลังใจในการใช้ชีวิตของเรา จงก้าวเดินต่อไปด้วยใจที่แข็งแกร่ง และคิดอยู่เสมอว่า เราก็เป็นคนเก่งคนหนึ่ง ที่คู่ควรกับความสำเร็จที่เราได้รับจากความสามารถของเราเองเหมือนกัน และถึงแม้เราอาจจะต้องเผชิญกับความรู้สึกแย่ๆเหล่านี้อีกครั้งในอนาคต แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็เคยก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้แล้ว และเราก็จะก้าวข้ามผ่าน Impostor syndrome ได้อีกครั้งในอนาคตอย่างแน่นอน

อ้างอิง: Time

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่ 

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/what-is-impostor-syndrome-and-how-to-deal-with-it