กรุงเทพมหานคร จับมือกับ Google เดินหน้าปรับปรุงปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง ด้วยการใช้ เทคโนโลยี AI ผ่านโครงการ Project Green Light ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร ลดการปล่อยมลพิษ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นทั่วกรุงเทพฯ
Project Green Light คือ โครงการของ Google Research ที่ใช้ข้อมูลจาก Google Maps และ AI (Artificial Intelligence) วิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่และแนวโน้มการจราจร เพื่อแนะนำการปรับเปลี่ยนรอบเวลา สัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง ลดปัญหา การจราจรแบบหยุด-เคลื่อน (Stop-and-Go) และลดเวลาที่รถต้องจอดนิ่งโดยไม่จำเป็น
โครงการนี้ไม่เพียงช่วยให้รถเคลื่อนตัวได้ลื่นไหลมากขึ้น แต่ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการจอดรถนาน และช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 กรุงเทพมหานครเริ่มทดลองนำ Project Green Light ไปใช้ในแยกจราจรสำคัญ โดยนำ AI มาช่วยวิเคราะห์และเสนอแนะเวลาของสัญญาณไฟเขียว-ไฟแดงให้ตอบสนองกับปริมาณรถในแต่ละช่วงเวลา
กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งใน 18 เมืองจากทั่วโลกที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ ร่วมกับเมืองต่างๆ เช่น บังกาลอร์ (อินเดีย), ไฮฟา (อิสราเอล), ฮัมบูร์ก (เยอรมนี) และเมืองใหญ่ใน 4 ทวีป ซึ่งล้วนใช้เทคโนโลยีนี้ในการบริหารจัดการจราจรอย่างยั่งยืน
ข้อมูลจาก Google เผยว่า Project Green Light สามารถลดการหยุดรถบนท้องถนนได้ถึง 30% และลดการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ ได้กว่า 10% ต่อพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพอากาศในเมือง
ปัจจุบันมีการใช้ข้อมูลจากผู้ขับขี่ในระบบ Google Maps กว่า 55 ล้านเที่ยวต่อเดือน เพื่อปรับปรุงความแม่นยำในการแนะนำสัญญาณไฟจราจร ทำให้ระบบสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า การใช้เทคโนโลยี AI แก้ปัญหาจราจรเป็นหนึ่งในแนวนโยบายหลักของกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับการบริหารเมืองให้มีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อน AI เพื่อสนับสนุนการนำ AI มาใช้ในด้านต่างๆ ของการบริหารเมือง
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายแยกในกรุงเทพฯ ยังใช้ระบบ Fixed Time ที่ไม่ตอบสนองกับปริมาณรถในแต่ละช่วงเวลา แต่เมื่อมีการนำ AI เข้ามาช่วยประเมินสถานการณ์แบบเรียลไทม์ ก็สามารถ ปรับเวลาสัญญาณไฟให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ การจราจรไหลลื่น และลดปัญหารถติดได้จริง
การนำ Project Green Light มาใช้ในกรุงเทพฯ คือจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจร ด้วยการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และ AI ในการวิเคราะห์สภาพถนนและพฤติกรรมการขับขี่อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายเมืองทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญ
หากประสบความสำเร็จ โครงการนี้อาจถูกขยายไปยังแยกต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพิ่มเติม และกลายเป็นโมเดลของการใช้ เทคโนโลยีจัดการจราจร ที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในประเทศไทย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด