ลาออกเลยดีไหม หรือ จะทนอยู่ต่อไป? เมื่อต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC | Techsauce
ลาออกเลยดีไหม หรือ จะทนอยู่ต่อไป? เมื่อต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC

มีนาคม 9, 2021 | By Connext Team

ใครหลายคนอาจคิดว่า การได้ทำงานในฝัน จะทำให้ชีวิตการทำงานของเราพบแต่ความสุข เราจะตื่นเช้าขึ้นมาด้วยความสดชื่น และกระตือรือร้นไปทำงานที่เรารัก ทุกวินาทีจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนรู้ตัวอีกที ก็ถึงเวลากลับบ้านเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม การจะทำงานอย่างมีความสุขในทุกวันได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการได้ทำงานในฝันเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นอีกมากมาย ที่ส่งผลต่อชีวิตการทำงานของเรา และหนึ่งในนั้น คือ เพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร

แม้ว่า เราจะรักในงานที่เราทำมากแค่ไหน แต่ถ้าหากเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรเลวร้าย จนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเรา การได้ทำงานในฝัน อาจกลายเป็นฝันร้ายที่คอยหลอกหลอนทุกวินาทีในการทำงานของเราแทน เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณต้องคิดแน่เลยว่า ‘ถ้าอย่างนั้นจะทนทำงานนั้นต่อไปทำไมล่ะ ออกจากงานนั้นเลยไม่ดีกว่าหรอ?’ แน่นอนว่า เราสามารถลาออกจากงานได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม บางครั้ง การตัดสินใจที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ โดยเฉพาะเมื่อเราค้นพบงานที่เรารักแล้ว

เพราะฉะนั้น มาลองค้นหาไปด้วยกันว่า ระหว่างความรักที่มีต่องาน กับความเลวร้ายของเพื่อนร่วมงานและองค์กรดูว่า อะไรมีค่ามากกว่ากัน เพื่อท้ายที่สุด เราจะสามารถตัดสินใจได้ว่า จะอยู่หรือจะไป เมื่อเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กร TOXIC แบบนี้?  

สัญญาณที่บ่งบอกว่า เพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรนั้น TOXIC

การค้นพบสัญญาณที่บ่งบอกว่า เพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรนั้น TOXIC นับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการตัดสินใจของเราว่า จะอยู่หรือจะไป ความรู้สึกลึกๆข้างในจะคอยเตือนเราเสมอ เมื่อมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจกับการทำงาน โดยสัญญาณอันตราย ที่คนส่วนใหญ่มักจะพบเจอในชีวิตการทำงาน ประกอบไปด้วย

เมื่อการติดต่อสื่อสารไร้ประสิทธิภาพ และพูดจากันลับหลัง : การติดต่อสื่อสารภายในทีม นับเป็นส่วนประกอบสำคัญ ที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ รวมไปถึงกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากมีปัญหาระหว่างการทำงาน และคนในทีมไม่มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับนำปัญหาที่เกิดขึ้น ไปวิพากษ์วิจารณ์กันลับหลัง ประสิทธิภาพการทำงานภายในทีมย่อมลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมก็จะย่ำแย่ลงตามไปด้วย จนกระทั่ง เพื่อนร่วมงานของเราอาจกลายเป็นศัตรู ที่ทำร้ายจิตใจของเราในท้ายที่สุด 

เมื่อทำงานผิดพลาด แต่ต่างฝ่ายต่างโทษกันเอง : การทำงานย่อมมีข้อผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทว่า หากทุกคนภายในองค์กร ต่างเกี่ยงกันที่จะยอมรับการกระทำที่เกิดขึ้น และเอาแต่โทษว่าเป็นความผิดพลาดของผู้อื่น ปัญหาดังกล่าว ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนภายในทีม ยิ่งกว่านั้น คนที่เป็นผู้กระทำผิด ก็จะไม่รับรู้ข้อบกพร่องของตนเอง แลไม่สามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ในอนาคต  

เมื่อทุกคนทำงานแบบไร้จุดหมาย ให้ผ่านไปวันๆ : การทำงานในสภาพแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่ายจากผู้อื่น เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า เพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กร TOXIC มากแค่ไหน เพราะ เมื่อทุกคนไม่มีไฟในการทำงานเลยแม้แต่น้อย เราก็มักจะหมดไฟในการทำงานไปด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม หากทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคและความท้าทายไปด้วยกัน ไม่ว่างานจะยากลำบากแค่ไหน เราก็พร้อมจะทำมันให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น เมื่อเราต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ นั่นอาจถึงเวลาที่ต้องพิจารณาแล้วว่า เราควรจะอยู่ หรือ จะไป ?

เมื่อการทำงานเป็นทีม กลายเป็นงานเดี่ยว : Patrick Lencioni นักเขียนชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ The Five Dysfunctions of a Team กล่าวว่า การทำงานเป็นทีมที่ไร้ประสิทธิภาพ มักจะเกิดขึ้นเมื่อ คนในทีมไม่มีความเชื่อใจให้กัน ขัดแย้งบาดหมาง ขาดความรับผิดชอบ และมุ่งแต่จะทำตามเป้าหมายของตนเอง โดยไม่สนใจเป้าหมายของส่วนรวม ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แล้วปล่อยทิ้งไว้ จนกระทั่งไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้การทำงานเป็นทีม กลายเป็นงานเดี่ยว ที่ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง โดยไม่สนใจคนรอบข้างอีกเลย

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจว่า จะลาออก หรือ จะทนอยู่ต่อไป?

เมื่อต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC เรามักจะคิดไปก่อนล่วงหน้าแล้วว่า ‘จะทนทำงานนั้นต่อไปทำไม ออกจากงานนั้นเลยดีกว่าไหม?’ อย่างไรก็ตาม การจะก้าวออกจากงานที่เรารัก เพื่อไปแสวงโชคในที่ทำงานใหม่ ก็นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่เหมือนกัน เพราะ เราก็ไม่อาจรู้ว่า เราจะเจอสถานการณ์แบบเดียวกันกับที่ทำงานใหม่หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งว่า จะมีงานรอบรับเราไหม โดยเฉพาะช่วงที่งานกำลังขาดตลาดเช่นนี้

เพราะฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจว่า จะลาออก หรือ จะทนอยู่ต่อไป? เราควรลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองก่อน เพื่อดูว่า มีอะไรที่เรายังสามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และคุ้มค่าไหมที่จะยังทนอยู่ต่อไป

#คำถามที่ 1 เรามีอำนาจมากพอ ที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC ให้ดีขึ้นไหม?  

คำตอบของคำถามดังกล่าว ขึ้นอยู่กับบทบาทและตำแหน่งของเราภายในองค์กร หากเรามีอำนาจและอิทธิพลมากพอ ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวัฒนธรรมภายในองค์กรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นั่นอาจทำให้ชีวิตการทำงานของเราดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร อาจทำให้เจ้านาย หรือผู้บริหารภายในองค์กร เล็งเห็นถึงความสามารถของเรา จนได้รับการเลื่อนขั้นในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปก็เป็นได้

#คำถามที่ 2 หากเราทนทำงานต่ออีกสักนิด จะช่วยให้ชีวิตการทำงานก้าวหน้าขึ้นไหม?  

แม้ว่า การทำงานที่เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC จะทำให้เราหมดไฟในการทำงานได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม บางครั้ง หากเราทนทำงานต่ออีกสักนิด อาจช่วยให้ได้ประสบการณ์จากการทำงานมากขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้เช่นกัน ดังนั้น ลองมองข้ามเหนือความรู้สึกแย่ๆกับเพื่อนร่วมงานสักนิด และคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสในการเรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ให้เราแกร่งขึ้น เพื่อจะนำทักษะและความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดกับการทำงานในอนาคต ไม่ว่าจะยังอยู่ที่เดิมหรือไม่ก็ตาม 

#คำถามที่ 3 เราสามารถย้ายแผนกหรือทีม ที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ดีกว่าเดิมได้ไหม?  

หากเราเริ่มรู้สึกว่า ทนไม่ได้กับการที่ต้องเจอเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC ทุกวัน แต่ก็ยังไม่อยากสละเรือจากงานที่เราคิดว่าใช่ การขอย้ายไปยังแผนกหรือทีมอื่นภายในองค์เดียวกัน อาจไม่ใช่ทางออกที่แย่มากนัก เพราะ ถ้าหากเราโชคดี ได้เจอกับเพื่อนร่วมทีมที่ดี มีความตั้งใจในการทำงานและพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จะทำให้การทำงานของเราสามารถไปต่อได้อย่างราบรื่น โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งหางานใหม่อีกต่อไป 

#คำถามที่ 4 องค์กรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรมากน้อยแค่ไหน?

เมื่อการทำงานและวัฒนธรรมภายในองค์กรเริ่ม TOXIC มากขึ้นเรื่อยๆ หากองค์กรให้ความสำคัญกับสถานการณ์ และพยายามที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าที่เป็น บางที การเลือกที่จะอยู่ต่อ อาจคุ้มค่ากว่าการที่จะเดินออกไปก็เป็นได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า องค์กรกำลังพยายามจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ดีขึ้น ? จริงๆแล้ว เราสามารถรับรู้ได้จากสัญญาณบางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น หัวหน้างานและเจ้านาย พยายามที่จะรับฟังความคิดเห็นจากคนในองค์กรมากขึ้น หรือแม้กระทั่ง การจ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน HR มาเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น เพราะฉะนั้น หากองค์กรริเริ่มที่จะลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว สถานการณ์ที่แสนจะ TOXIC อาจจะหายไปในเร็ววัน

#คำถามที่ 5 เราแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC ไหม?

ถ้าหากว่า เรารักในงานที่ทำมาก และมองเห็นโอกาสในการเติบโตทางหน้าที่การงานจากตำแหน่งนี้ เราอาจเลือกที่จะอยู่ต่อ แต่ทว่า เราต้องมั่นใจด้วยว่า เราจะแข็งแกร่งมากพอ ที่จะรับมือกับเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC รอบตัว เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจลองสำรวจตัวเองก่อนว่า เราสามารถทำงานต่อไปได้ ด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์หรือไม่ ? เพราะ หากเราไม่แข็งแกร่งมากพอ การทำงานในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ อาจเป็นผลเสียต่อสุขภายทั้งกายและใจในระยะยาว

ท้ายที่สุด แม้ว่าบทความนี้ อาจจะดูเหมือนอยากให้คุณทนอยู่กับเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC แต่ถ้าหากเราลองถามตัวเองด้วย 5 คำถามนี้แล้วพบว่า มันไม่คุ้มค่าเลยที่เราจะต้องทนอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ นั่นอาจหมายความว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกไปพบเจอโลกที่ดีกว่า เพราะ ไม่มีใครอยากทนอยู่กับเพื่อนร่วมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ TOXIC แบบนี้ไปตลอดหรอก และเมื่อตัดสินใจแล้ว อย่ารู้สึกเสียดายกับสิ่งที่ผ่านไปเลย เพราะ ทุกครั้ง ที่เราตัดสินใจทำอะไรลงไป ย่อมเป็นเรื่องที่ดีเสมอ 

อ้างอิง: thebigpicturepeople

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่ 

No comment