การบูลลี่เป็นพฤติกรรมการกลั่นแกล้งที่มีจุดประสงค์เพื่อทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุคคลอื่น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความไม่สมดุลทางอำนาจ โดยการบูลลี่ประกอบไปด้วย 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ การกลั่นแกล้งทางวาจา (Verbal bullying) เช่น การล้อเลียน การข่มขู่ว่าจะทำร้าย, การกลั่นแกล้งทางสังคม (Social bullying) เช่น การนินทา การสร้างความอับอายต่อหน้าผู้อื่น, และการกลั่นแกล้งทางกาย (Physical bullying) เช่น การตบตี การถุยน้ำลาย
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการบูลลี่ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่คนคนนั้นมีความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า Narcissistic Personality Disorder หรือโรคหลงตัวเอง โดยคนที่เป็นโรคนี้จะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องการให้คนอื่นชื่นชม และขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ก็เป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ ทำให้อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ คนแบบนี้เองที่เสี่ยงต่อการกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ข่มขู่ และทำร้ายคนที่มีอำนาจน้อยกว่า
แล้วเราควรรับมืออย่างไรเมื่อวันหนึ่งต้องเผชิญกับการโดนบูลลี่ในที่ทำงาน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อต่อไปเรื่อยๆ ?
1. เอาความมั่นใจเข้าสู้
คนบูลลี่จะสูญเสียอำนาจไปเองหากเราแสดงความมั่นใจและความไม่ย่อท้อออกมา หากโดนบูลลี่ก็อย่าเพิ่งตอกกลับ แต่ให้เอาชนะคนเหล่านั้นด้วยความมั่นใจ ความแน่วแน่ และความสุภาพ
2. รักษาสายสัมพันธ์ในที่ทำงานไว้
เนื่องจากคนที่ชอบบูลลี่คนอื่น มักจะชอบทำให้เหยื่อรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่มีอำนาจในการต่อสู้ ดังนั้นจึงควรเรียกพลังอำนาจของตัวเองกลับมา ด้วยการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ดีกับเรา รวมถึงผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนเรา
3. หมาเห่า อย่าเห่าตอบ
การตอบโต้ด้วยการไม่แสดงอารมณ์ใดๆ จะทำให้คนที่ชอบบูลลี่รู้สึกว่าคนคนนี้เป็นเหยื่อไม่ได้ เพราะไม่มีความท้าทาย (ความท้าทายของคนที่ชอบบูลลี่คนอื่นคือ การได้รับความสนใจและความรู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า)
4. ขีดเส้นไม่ให้เกินเลยแบบซอฟท์ๆ
ในระหว่างที่ขีดเส้นคนที่ชอบบูลลี่ว่าไม่ให้เกินเลย จะต้องคงความสุภาพและความเป็นมืออาชีพไว้ อย่าตอบโต้ด้วยอารมณ์ เราสามารถฝึกการตอบสนองเหล่านี้ได้ เพื่อให้ครั้งต่อไปเราสามารถตอบโต้กลับไปได้ทันทีโดยไม่ใส่อารมณ์ลงไป แต่ให้พูดแบบตรงไปตรงมาและเรียบง่าย เช่น ‘ฉันคิดว่าน้ำเสียงของคุณไม่เหมาะสม’
5. อย่าปล่อยให้คนที่บูลลี่ได้ใจนานๆ
ยิ่งคนที่บูลลี่มีอำนาจเหนือกว่าเหยื่อนานหรือบ่อยแค่ไหน การกลั่นแกล้งก็จะเริ่มจากรูปแบบที่ไม่ค่อยรุนแรง เช่น การเรียกชื่อ การล้อเลียน หรือการล่วงละเมิดทางกายนิดๆ หน่อยๆ หลังจากนั้นถ้าเหยื่อมีท่าทีว่าจะไม่บอกผู้ใหญ่และทวงความยุติธรรมให้ตัวเอง การกลั่นแกล้งก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
6. หลีกเลี่ยงการทำให้สถานการณ์แย่ลง
บางครั้งสิ่งที่ต้องทำกับคนขี้บูลลี่คือ รอไปก่อน อย่าเพิ่งแสดงความเป็นศัตรูออกมา ให้ถอยออกมาเพื่อที่เราจะได้ไม่เผลอตอบโต้ในช่วงหัวร้อน เพราะเมื่อหัวเริ่มเย็นแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า และในส่วนของคนที่เจอคนบูลลี่ผ่านโซเชียล ก็อย่าเข้าไปยุ่ง เพราะเขาแสดงให้คนอื่นเห็นแล้วว่าเขาเป็นคนอย่างไร โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย
สำหรับบางคนการทำตามคำแนะนำข้างต้นอาจจะไม่ได้ผลในทันที แต่ก็อย่าเพิ่งถอดใจไป เพราะสิ่งที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมการบูลลี่คือการได้รับความสนใจและความรู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า หากเราไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ เชื่อว่าสักวันคนที่บูลลี่ก็จะเลิกราไปเอง
อ้างอิง psychologytoday