การนอนเป็นหนึ่งในการพักผ่อนที่ดีที่สุด แต่ถ้าเรามาทำงานล่ะ จะมานอนในที่ทำงานได้ยังไง?
เชื่อเลยว่าเพื่อน ๆ หลายคน คงกำลังเจอกับปัญหาเหนื่อยล้ากับการทำงานในแต่ละวัน และบ่อยครั้งในช่วงบ่ายของทุกวัน เรากลับรู้สึกง่วง อยากนอน ซึ่งในบางครั้งเราก็ไม่สามารถนอนหลับในที่ทำงานได้ แต่อย่าเพิ่งเสียใจไป ปัญหาที่เพื่อน ๆ กำลังเจออยู่มีทางออก!
แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย ๆ ด้วยการ งีบหลับในที่ทำงาน อ่านไม่ผิดหรอก งีบหลับในที่ทำงาน ช่วยได้จริง ๆ กำลังสงสัยกันอยู่ใช่ไหมล่ะว่า ช่วยได้จริงหรอทำได้จริงหรอ จะโดนมองว่าแปลกไหม? ถ้ามีคำถามเหล่านี้อยู่ต้องลองอ่านบรรทัดถัดไปแล้ว จะได้รู้ว่า การงีบหลับในที่ทำงาน ไม่ใช่เรื่องแปลก
ทำงานช่วงบ่ายแล้วเผลอง่วง ทำไงดี?
เป็นไหม ทำงานช่วงบ่ายแล้วรู้สึกอ่อนล้าหรือหมดพลัง การที่เรารู้สึกแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า เรารู้สึกขี้เกียจนะ แต่สิ่งนี้อาจจะหมายความว่าร่างกายของเราต้องการสิ่งกระตุ้นในการทำงานรึเปล่า?
Paychex บริษัทที่ให้บริการชาวอเมริกันเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ ได้ทำการสำรวจผู้คน 1,000 คน เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานและอาการเหนื่อยล้าเมื่อต้องทำงานในช่วงบ่าย พบว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำงาน คือ ช่วงเวลา 08.00 – 14.00 น.
การวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลว่า 81% ของพนักงานประสบอุบัติเหตุรถชนในช่วงบ่าย เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยพนักงานได้ให้ข้อมูลว่าการเกิดอุบัติเหตุรถชนในช่วงบ่าย จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 3.2 วันต่อสัปดาห์ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของสัปดาห์ทำงาน
และพนักงาน 1 ใน 4 ยอมรับว่า พวกเขาเผลอหลับในที่ทำงาน และวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน (49%) การหยุดพัก (35%) และการยืดกล้ามเนื้อ (29%)
38 % ในที่ทำงาน จะมีการประชุมก่อนเวลา 12.00 น. แต่พนักงานได้ให้ข้อมูลว่า การประชุม ช่วง 12.00 – 14.00 น. จะทำให้พวกเขารู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากกว่า
71% ของพนักงาน ให้ความสำคัญเรื่อง การทำงานในช่วงเวลาที่ดีที่สุด โดยพวกเขาพยายามจัดตารางการทำงานให้อยู่ภายในช่วงเวลาที่พวกเขาจะสามารถทำงานได้ดีที่สุด
อ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ คนไหน ที่กำลังเจอกับปัญหาในการทำงานแบบนี้อยู่ แล้วยังแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ลองมาอ่านเนื้อหาในหัวข้อถัดไปดู อ่านจบรับรองเลยว่า ปัญหาที่เพื่อน ๆ กำลังเจออยู่ จะหายไปอย่างแน่นอน เพราะการงีบหลับมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด!
ทำไมถึงควรงีบหลับในที่ทำงาน?
จากการศึกษาล่าสุดของ Calendar Labs พบว่า ในปี 2022 พนักงานที่มีความสุขที่สุด คือพนักงานที่ได้หยุดงาน แต่ถ้าหากเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ แนะนำว่าการงีบหลับ ในที่ทำงาน เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เรามีความสุขในการทำงานได้มากขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น ท่านประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้งีบหลับในช่วงบ่ายเพื่อที่จะสามารถทำงานต่อไปได้ หรือแม้แต่กระทั่ง นักบินของ NASA ก็ได้งีบหลับบนเครื่องบินเป็นเวลา 26 นาที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้พวกเขารู้สึกตื่นตัวถึง 34% และ ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้นถึง 16%
บริษัทในบางที่ก็อนุญาตให้พนักงานงีบหลับในที่ทำงานได้ เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังใจในการทำงานให้แก่พนักงาน เช่น บริษัท Nike, Pizza Hut และ Thrive Global บริษัทเหล่านี้จะมีห้องพิเศษพร้อม Nap pods ไว้สำหรับให้พนักงงานงีบหลับโดยเฉพาะ
จากการสำรวจของ Pew Research Center พบว่า 34% ของชาวอเมริกันก็งีบหลับทุกวันเช่นกัน และทุกวันที่ 15 มีนาคม ยกเป็นวันงีบหลับแห่งชาติและเดือนมีนาคมเป็นเดือนแห่งการตระหนักรู้เรื่องการนอนแห่งชาติเช่นกัน จะเห็นได้ว่า “การงีบหลับ” ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เหมาะสมหรือน่าแปลกใจอีกต่อไป เพราะมี วันงีบหลับแห่งชาติเลยนะ!
จากข้อมูลของ National Sleep Foundation พบว่าการงีบหลับเป็นเวลา 30 นาทีหรือน้อยกว่านั้น สามารถ เพิ่มความตื่นตัวและประสิทธิภาพในการทำงานได้ จากการศึกษาของสถาบัน Salk แสดงให้เห็นว่าคนที่ไม่ได้งีบหลับ การทำงานของสมองจะหนักขึ้นตลอดทั้งวัน ทั้งในด้าน ความจำ และอารมณ์ แต่เมื่อเทียบกับคนที่มีการงีบหลับ การทำงานดังกล่าวจะลดลงเมื่อได้งีบหลับไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ Harvard School พบว่า คนที่งีบหลับเป็นระยะเวลานานมีโอกาสในการเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพด้านเกี่ยวกับหัวใจลดลง 34 % และยังมีผลการวิจัยระบุอีกว่าการงีบหลับช่วยป้องกันการเกิดความเครียดได้เป็นอย่างดี เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ลดระดับคอร์ติซอลในเลือดได้ ทำให้เรารู้สึกสดชื่นและมีพลังในการทำงานเป็นอย่างมาก
ข้อดีของการงีบหลับ
- การทำงานของสมองดีขึ้น
- ความสามารถในการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูลของสมองเพิ่มขึ้น
- ความตื่นตัวเพิ่มขึ้น ความผิดพลาดน้อยลง
- มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
- อารมณ์ดีขึ้น
- ความดันโลหิตลดลงและส่งเสริมการทำงานของหัวใจให้แข็งแรง
- ความจำดีขึ้น
งีบหลับเวลาไหนดีที่สุด
หากเราเป็นคนหนึ่งที่อยากจะทำงานอย่างมีความสุขและทำงานได้ดีขึ้น ในปี 2024 นี้การงีบหลับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจและสามารถจะช่วยเพื่อน ๆ ได้
สำหรับบางคนการงีบหลับอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แต่สำหรับบางคนนี่เป็นวิธีที่ดีมาก ๆ เลยล่ะ และช่วงเวลาที่ดีที่สุดใน การงีบหลับ คือ ช่วงเวลา 14.00 – 15.00 น. แล้วจะทำอย่างไรให้ การงีบหลับ เกิดประโยชน์สูงสุดมาลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้กัน!
1.ตั้งนาฬิกาปลุก
ถ้าหากเพื่อน ๆ ไม่มั่นใจว่าจะสามารถงีบหลับภายในเวลา 15 – 30 นาที ได้ แนะนำว่าให้ตั้งนาฬิกาปลุกไว้เลย เพราะถ้างีบหลับมากเกินไป ตื่นมาเพื่อน ๆ จะรู้สึก ปวดหัว มึนงง และในเวลากลางคืนจะนอนไม่หลับ
2.ลดสิ่งรบกวนให้น้อยที่สุด
พยายามให้มีสิ่งรบกวนการงีบหลับน้อยที่สุด ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดและเลือกงีบหลับในสถานที่ที่เงียบ หรืออาจจะใช้ที่อุดหูช่วยก็ได้
3.ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่พอดี
ถ้าหากเพื่อน ๆ มีแพลนที่จะงีบหลับหลังจากมื้อเที่ยง ให้พยายามเลี่ยงการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังเป็นจำนวนมากในช่วงเช้า เพราะคาเฟอีนจะทำให้งีบหลับได้ยากขึ้น
4.ทำให้การงีบหลับเป็นเรื่องที่สบายที่สุด
บางคนอาจจะเลือกที่จะงีบหลับที่โต๊ะทำงานหรือเก้าอี้ทำงาน แต่แนะนำว่าให้ลองงีบหลับด้วย การนอนที่โซฟาของที่ทำงานและมีหมอนหนุนศีรษะ พร้อมทั้งปรับอุณหภูมิของห้องจนเรารู้สึกว่าสบายตัว จะทำให้งีบหลับได้ง่ายมากขึ้น
5.อยู่ในห้องที่มีความมืดเพียงพอ
การที่มีแสงสว่างจ้าจนเกินไปจะรบกวนการงีบหลับ ควรที่จะปิดไฟและเอามู่ลี่ลงทำให้ห้องมีความมืดเพียงพอที่จะงีบหลับได้เป็นอย่างดี
6.ทำสมองให้โล่ง
บอกกับตัวเองว่า 15 – 30 นาที นี้ คือ เวลาของเราปลดปล่อยให้ความกังวลและความเครียดต่าง ๆ ผ่านไป เพราะเรามีเวลาอีกมากมายของวันที่จะมาจัดการกับปัญหาต่าง ๆ หรืองานที่ยังทำไม่เสร็จ
7.เพิ่มความกระปรี้กระเปร่าหลังงีบหลับ
เมื่อตื่นมาแล้วเราอาจจะรู้สึกยังไม่สดชื่นเต็มที่ ให้เพื่อน ๆ ใช้เวลาสัก 2 – 3 นาที ลองนวดแขนและต้นขาและล้างหน้าด้วยน้ำเย็น การทำแบบนี้จะทำให้เพื่อน ๆ รู้สึกดีขึ้น สดชื่น แล้วเราจะพร้อมรับการทำงานได้อีก 2 -3 ชั่วโมง แบบชิล ๆ เลยล่ะ
8.อย่างีบหลับนานเกินไป
หากงีบหลับในตอนกลางวันนานเกินไป จะทำให้ตอนกลางคืนหลับยาก ช่วงเวลาในการงีบหลับที่ดีที่สุด คือ ช่วงเวลาก่อน 15.00 น.
อ่านจบแล้วรู้สึกอยากงีบหลับในที่ทำงานแล้วใช่ไหมล่ะ ก็มีประโยชน์มากมายขนาดนี้ใครบ้างจะไม่อยากทำ อย่าลืมแชร์ข้อมูลดี ๆ แบบนี้ ส่งต่อให้กับคนที่เรารักนะ เพราะพวกเราจะผ่านปัญหาการทำงานในครั้งนี้ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะมีงานเข้ามามากมายขนาดไหน ก็ไม่หวั่น เพราะเรามีวิธีรับมือแล้ว!
เขียนโดย : Monnapha Wangchanakul
อ้างอิง : forbes