เชื่อว่าตอนเรียน หรือแม้จบมาแล้ว หลายคนคงเคยทำงานร่วมกับคนที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยใจหรือมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเรา แม้จะลองใช้วิธีระบายให้เพื่อนฟัง หรือปลีกตัวออกห่าง แต่ก็ต้องทนเพราะยังต้องทำงานด้วยกันทุกวัน
คุณจะไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเหล่านั้นอีกต่อไป เพราะวันนี้ ConNEXT จะพามาทำความรู้จักกับ Office Jerks 7 ประเภทที่คุณอาจต้องเจอในที่ทำงานพร้อมกับวิธีการรับมือเมื่อต้องร่วมงานกับพวกเขาเหล่านี้
1. The Kiss-Up/Kick-Downer (พวกประจบสอพลอหรือพวกเหยียบคนอื่นให้ต่ำ)
คนประเภทนี้จะทำทุกวิถีทางเพื่อพาตัวเองไปยังจุดสูงสุดและเป็นที่โปรดปรานของเจ้านาย
ลักษณะพฤติกรรม
- ชอบพูดข่มคุณต่อหน้าคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า และบางครั้งจะมีคำพูดที่แสดงถึงความไม่ไว้ใจในความสามารถของคุณ เช่น “จะทำได้จริงๆ เหรอ? คุณมีประสบการณ์แค่สองเดือนเองนะ”
- แสดงพฤติกรรมน่ารังเกียจเมื่ออยู่กับคุณ พยายามขัดขวางการทำงาน ขอให้ช่วยทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมและชี้นำในทางที่ผิด
- เสนอตัวช่วยเจ้านาย ไม่ว่าเจ้านายจะขอให้ทำอะไร คนพวกนี้จะรับอาสาทันที
วิธีการรับมือ
- หาแนวร่วมเพื่อมาช่วยรับรองว่ามีเพื่อนร่วมงานประเภทนี้อยู่จริงๆ ถ้าเป็นคนที่รู้จักกับคนหลายระดับในองค์กรได้ยิ่งดี
- เข้าไปพูดคุยกับหัวหน้า แต่เนื่องจากคนพวกนี้รู้วิธีการหลอกล่อคน จึงมีโอกาสที่หัวหน้าจะอยู่ฝั่งนั้น ดังนั้น คุณต้องรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนพวกนี้ แล้วนำมาเขียนเป็นรายงาน
- หากคุณเป็นหัวหน้า ควรสร้างกฎที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียม เพราะกฎเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสที่พนักงานจะใช้วิธีประจบสอพลอหรือเหยียบคนอื่นให้ต่ำเพื่อทำให้ตัวเองก้าวหน้า
2. The Gaslighter (พวกชอบปั่นหัว)
นับว่าเป็นพวกที่มีพิษภัยมากที่สุดในบรรดา Office Jerks ทั้งหมด เพราะคนประเภทนี้มีเจตนาหลอกให้คนหลงเชื่อ โดยจะทำให้เหยื่อรู้สึกแตกต่างจากคนอื่นก่อน จากนั้นจะค่อยๆ สร้างเรื่องเท็จให้เห็นเป็นจริงเป็นจังตามที่ต้องการ
ลักษณะพฤติกกรรม
- ทำให้คุณรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งที่พิเศษ ยิ่งตอนที่หัวหน้าขอให้คุณเข้าร่วมโครงการลับที่มีผลตอบแทนมหาศาล หรือชวนเป็นสมาชิกของสโมสรที่ปกติจะเชิญเฉพาะคนระดับแนวหน้า จงระวังไว้ให้ดี
- ทำให้คุณรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเองผ่านคำพูด เช่น “ถ้าไม่ใช่ฉัน คุณคงถูกไล่ออกไปนานแล้ว” หรือ “ไม่มีใครคิดว่าคุณเหมาะสมกับงานนี้หรอก มีแต่ฉันนี่แหละที่สู้เพื่อให้คุณได้งาน”
- หยั่งดูท่าทีของคนอื่นด้วยการพูดโกหก โดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก่อน คนพวกนี้จะชอบซุบซิบนินทาเรื่องที่ไม่จริง เพื่ออุ่นเครื่องเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องที่แรงกว่านั้น
วิธีการรับมือ
- หากคุณรู้สึกว่าเรื่องชักจะไม่โอเค ให้เขียนหรือถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ตอนที่คุณพร้อมเปิดเผยให้คนอื่นรับรู้
- สร้างเครือข่ายทางสังคมขึ้นมา โดยอาจเริ่มจากเพื่อนร่วมงานที่คุณเคยไปสังสรรค์ด้วยกันหลังเลิกงาน
- หลังจากสร้างเครือข่ายทางสังคมแล้ว ให้หาผู้อ้างอิงทางสังคม (social referent) ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นคนที่เข้าข้างคุณแล้ว ยังต้องสามารถนำคนที่มีอำนาจมารวมตัวเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาได้
3. The Credit Stealer (พวกขโมยเครดิตคนอื่น)
คนประเภทนี้คือหมาป่าในคราบแกะ มองผิวเผินดูเหมือนจะเป็นเพื่อนแต่พร้อมที่จะทรยศความไว้ใจด้วยการขโมยไอเดียของคุณ
ลักษณะพฤติกรรม
- รอช่วงเวลาที่คลุมเครือเพื่อจะได้ฉวยเครดิต เนื่องจากเป็นช่วงที่ยังไม่มีใครทันติดตามว่าใครทำอะไร
- ทำตัวเป็นคนที่คุณไว้ใจได้ ทั้งพี่เลี้ยงสอนงาน คนที่คอยให้ความเชื่อเหลือ หรือแม้กระทั่งเพื่อน แต่ในความเป็นจริงมีนัยแอบแฝง
- คนประเภทนี้อาจเป็นใครก็ได้และอาจไม่ได้ตั้งใจทำเสมอไปก็ได้ แต่มีบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจทำ
วิธีการรับมือ
- พยายามทำตัวเป็นคนที่หัวหน้าจะมาขอคำแนะนำเข้าไว้ ตอนประชุมควรโฟกัสไปที่การแก้ปัญหามากกว่าการระบุปัญหา
- ต้องแน่ใจว่าคนไหนมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันไม่คนอื่นมาขโมยเครดิตได้
- แบ่งว่าแต่ละคนมีหน้าที่ทำอะไรก่อนเริ่มโปรเจกต์ และต้องสามารถตอบคำถามได้ว่า ‘คุณมีหน้าที่ทำอะไร’ และ ‘ความเป็นจริงคุณทำอะไรบ้าง’ เพื่อลดโอกาสในการโดนขโมยเครดิต
4. The Bulldozer (พวกชอบอวดเบ่ง)
เพื่อนร่วมงานประเภทนี้เป็นพวกช่ำชองและรู้จักกับคนใหญ่โต ชอบอวดเบ่งและแสดงอำนาจเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
ลักษณะพฤติกรรม
- แสดงอำนาจตั้งแต่ช่วงแรก เช่น คุมประชุม 5 นาทีแรกในระหว่างที่ทุกคนกำลังแนะนำตัว หรือตอนที่ทีมกำลังพยายามวางแผน
- มองหาทีมที่ต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของตัวเอง และเป็นพวกที่สามารถทำสิ่งที่คนอื่นไม่ชอบและรู้ไปหมดทุกเรื่อง
- ชอบข่มขู่หัวหน้าที่อ่อนแอ ยิ่งถ้าเป็นหัวหน้าที่ยุ่งแต่กับงาน ติดต่อยาก และไม่ชอบความขัดแย้ง ยิ่งเป็นเป้าหมายในอุดมคติของคนพวกนี้
วิธีการรับมือ
- อย่ารอให้ทุกคนพูดก่อนคุณ เวลาพูดให้เข้าประเด็นทันทีและอย่าเกิน 30 วินาที
- แจ้งให้หัวหน้าทราบถึงคนประเภทนี้ หรือใช้แนวทาง "Loss Frame" คือ แสดงความกังวลว่าถ้าคนใดไม่ได้พูด เราจะพลาดมุมมองอะไรไป
- โฟกัสไปสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อช่วยคนอื่นให้มีโอกาสได้พูดบ้าง เพราะบางครั้งพวก Bulldozer ไม่รู้ว่าตัวเองพูดกินเวลาคนอื่น
5. Micromanagers (พวกจุกจิกจู้จี้)
คนประเภทนี้ชอบให้งานเยอะแถมใจร้อน ไม่เคารพพื้นที่และเวลาส่วนตัว ถ้าหากหัวหน้าคุณเป็นคนจำพวกนี้ คุณอาจจะต้องทำงานหนักแต่กลับไม่มีประสิทธิผล
ลักษณะพฤติกรรม
- มอบหมายงานให้ทำโดยไม่รู้ว่าตารางงานเป็นไปได้หรือไม่ ทุกอย่างเร่งด่วนและต้องทำเดี๋ยวนี้ไปหมด
- โยนงานน่าเบื่อให้คุณทำเพื่อให้ดูไม่ว่าง เช่น ขอให้คุณจัดเรียงกล่องในห้องเก็บของหรือจัดเรียงเอกสารในลิ้นชักใหม่
- ให้งานแบบไม่หยุดยั้งแล้วก็หายไป คุณอาจได้รับอีเมล 100 ฉบับในวันนี้ และไม่ได้สักฉบับเลยในวันถัดไป
วิธีการรับมือ
- นำเป้าหมายภาพใหญ่เข้าไปพูดคุย เนื่องจากคนประเภทนี้มักจะโฟกัสเวลา ณ ตอนนี้เท่านั้น จึงอาจลืมสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจว่างานนี้สำคัญอย่างไร
- กำหนดความคาดหวังร่วมกันว่าพวกเขาอยากให้คุณทำงานชิ้นใหญ่หรืองานชิ้นเล็กทั่วๆ ไปอะไรบ้าง
- จัดให้มีการประชุมสั้นๆ แต่หลายครั้ง เพราะการประชุมในลักษณะนี้จะช่วยลดความเครียดให้กับคนประเภทนี้ได้ แถมยังช่วยให้คุณทำงานได้สำเร็จลุล่วง
6. The Neglectful Boss (พวกที่ชอบปล่อยปะละเลยลูกน้อง)
คือคนประเภทที่ละเลยไม่สนใจลูกน้องเป็นเวลานาน แต่พอเริ่มไม่สามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้จะรู้สึกวิตกกังวล และสุดท้ายจะมาคอยคุมการทำงานของคุณเพื่อลดอาการวิตกกังวลนั้น
ลักษณะพฤติกรรม
- เมินเฉยคุณเป็นเวลานานแล้วค่อยมาคุมในนาทีสุดท้าย ถ้าสัปดาห์หน้าจะมีพรีเซนต์งาน คนพวกนี้จะโผล่มาก่อนเริ่ม 2 ชั่วโมง พร้อมสิ่งที่ต้องแก้ไขร้อยแปดประการ
- ไม่ค่อยเข้าใจว่างานของคุณคืออะไร และมีโอกาสที่หัวหน้าประเภทนี้จะไม่รู้ว่าวันๆ คุณทำอะไรบ้าง จึงไม่สามารถให้คำแนะนำคุณได้
- แทบไม่อยู่ตอนที่คุณต้องการความช่วยเหลือในการทำงาน
วิธีรับมือ
- ขอให้มีการจัดประชุมสั้นๆ ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าเพื่อแจ้งสิ่งที่คุณต้องการเพราะว่าคุณจะได้มีเวลาคิดหาสิ่งที่ควรจะขอภายในกรอบเวลาที่เหมาะสมเมื่อพิจารณาจากภาระหน้าที่ทั้งหมดของหัวหน้าแล้ว
- ช่วยทำงานชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้พวกเขามีเวลามากขึ้น เพราะหัวหน้าประเภทนี้มักจะมีภาระงานมากมายจนล้นมือ ซึ่งสิ่งนี้เองอาจทำให้คุณได้รับการเลื่อนตำแหน่งอีกด้วย
- หาผู้เชี่ยวชาญคนอื่นมาช่วยแบ่งเบาภาระงานของหัวหน้าคุณ เพราะหัวหน้าส่วนใหญ่จะรู้สึกดีถ้าพนักงานตัวเองมีคนคอยให้ความช่วยเหลือ
7. The Free Rider (พวกเอาเปรียบคนอื่น)
คือคนประเภทที่ไม่ทำอะไรแต่กลับได้รางวัลตอบแทน
ลักษณะพฤติกรรม
- งานไหนสำคัญทำหมดแต่งานนั้นต้องสบาย คนพวกนี้จะเก่งเรื่องพรีเซนต์งาน (ของคนอื่น) และเก่งเรื่องการเป็นพิธีกร แต่งานไหนที่ต้องทำก่อนกลับไม่ทำ
- ชอบทำงานเป็นทีมเพราะว่าจะได้แยกยากว่าใครเป็นคนทำงานชิ้นไหน ยิ่งบริษัทไหนให้โบนัสทีมโดยไม่สนใจว่าใครมีส่วนรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน คนประเภทนี้ยิ่งชอบ
- ทำงานเฉื่อยทันทีที่เจ้านายไป ถ้ามีประชุมทีม คนพวกนี้จะพยายามเสนอไอดีที่บรรเจิด แต่พอประชุมเสร็จกลับจัดแจงให้คนอื่นทำตามวิธี
วิธีการรับมือ
- หมั่นเช็กความยุติธรรมในการทำงานอยู่เสมอ ก่อนเริ่มทำโปรเจกต์ใดควรให้ทุกคนเขียนลิสต์หน้าที่ของตัวเองจะได้รู้ว่าใครทำอะไร อันไหนทำเสร็จแล้วก็ให้ทำเครื่องหมายไว้ ส่วนงานไหนที่ไม่อยู่ในลิสต์แต่คุณทำก็เพิ่มเข้าไปด้วย
- อย่าเผชิญหน้ากับคนพวกนี้ด้วยการกล่าวหา ให้พูดด้วยเหตุผลว่าทำไมคุณอยากให้พวกเขามีส่วนร่วมในการทำงาน พยายามอย่าใช้วิธีที่ทำให้รู้สึกอับอายเพราะคนพวกนี้ไม่แยแสอยู่แล้ว
- กำหนดขอบเขตที่รับได้ เช่น ถ้าคนประเภทนี้มาขอมีเครดิตร่วมในผลงานที่คนอื่นเป็นคนทำให้ปฏิเสธทันที
หลังจากที่อ่านจบแล้ว มาลองสำรวจดูว่าเพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศของคุณตรงกับลักษณะของ Office Jerks ประเภทไหนบ้าง และอย่าลืมนำวิธีการรับมือไปลองปรับใช้ดูว่าจะได้ผลหรือไม่อย่างไร
หากเพื่อนๆ คนไหนที่เป็นเด็กจบใหม่และกำลังมองหาแรงบันดาลใจหรือกำลังหางาน พลาดไม่ได้กับงาน Tech ConNEXT Job Fair 2022 วันที่ 7-9 กรกฎาคมนี้ ณ True Digital Park ชั้น 6 และ 7 BTS ปุณณวิถี
รีบลงทะเบียนก่อนที่นั่งเต็ม : https://www.eventpop.me/e/13032/techconnext-job-fair-2022
เขียนโดย Parinya Putthaisong
อ้างอิง CNBC