8 ตัวแม่ผู้เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรม! ฉลอง International Women's Day | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
8 ตัวแม่ผู้เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรม! ฉลอง International Women's Day
By Chanapa Siricheevakesorn มีนาคม 8, 2024
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น วันสตรีสากล (International Women's Day) เป็นโอกาสสำคัญในการเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิง และรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่เท่าเทียมในทุกแง่มุม โดยวันนี้ ConNEXT ขอมาแบ่งปันเรื่องราวของ 8 ตัวแม่ที่ได้สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ช่วยยกระดับไลฟ์ไสตล์ให้มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม

Women's Day

1. Hedy Lamarr ตัวแม่ Wi-Fi ในตำนานส่งตรงจาก Hollywood

เชื่อไหม? ดาราสาวสวยคนนี้ไม่เพียงโด่งดังบนจอเงิน แต่ยังเป็นนักประดิษฐ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรักชาติอีกด้วย เรียกได้เต็มปากว่า ‘Beauty with brain’ ของแทร่

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Hedy ซึ่งอพยพมาจากออสเตรีย ใช้เวลาว่างเกือบทั้งหมดคิดค้นวิธีช่วยกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเธอเป็นคนที่ชอบเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม และรู้ว่ากองทัพใช้ตอร์ปิโดควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งอาจถูกศัตรูรบกวนสัญญาณทำให้ออกนอกเส้นทางหรือถูกถอดรหัสล้วงข้อมูลลับได้ง่าย

เธอจึงร่วมกับเพื่อนสนิทซึ่งเป็นนักเปียโน George Antheil สร้าง ‘Frequency Hopping’ หรือเทคนิคปล่อยสัญญาณแบบหลายระดับในช่วงสั้น ๆ สลับไปมา เพื่อป้องกันการรบกวนจากศัตรู หลังจากทดลองหลายครั้งจนใช้งานได้พวกเขาก็ได้นำไปจดสิทธิบัตร ภายใต้ชื่อ ‘Secret Communication System’ ซึ่งเป็นต้นแบบของเทคโนโลยีไร้สาย (Wireless Technology) และกลายเป็น Wi-Fi, Bluetooth และ GPS ในปัจจุบัน

2. Katherine Johnson ตัวแม่คณิตกรผู้เป็นหัวใจสำคัญของ NASA

เคยดูหนังเรื่อง "Hidden Figures" (2016) ไหม? หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ Katherine Johnson (รับบทโดย Taraji P. Henson) นักคณิตศาสตร์หญิงที่ภายหลังกลายเป็นนักคำนวณที่ทุกคนขององค์การ NASA ไว้วางใจที่สุด!

ในปี 1953 แคทเธอรีน เริ่มทำงานที่ The NACA West Area Computing unit (องค์กรอวกาศสหรัฐฯ ก่อนเปลี่ยนเป็น NASA) แต่ชีวิตการทำงานของเธอนั้น กลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่อุปสรรคมากมายที่คอยขัดขวางความสำเร็จ ก็ไม่อาจหยุดยั้งความพยายาม และความตั้งใจ ด้วยความโดดเด่นเรื่องการคำนวณวิถีการเดินทางด้วยมือ เธอใช้สูตรคณิตศาสตร์ขั้นสูงเพื่อให้แน่ใจว่านักบินอวกาศไปและกลับจากอวกาศได้อย่างปลอดภัย 

ผลงานชิ้นโบว์แดงคือการคำนวณวิถีการเดินทางให้กับเที่ยวบินอวกาศครั้งแรกของสหรัฐฯ ในปี 1961 เธอจึงกลายเป็น ‘นักคณิตศาสตร์หญิง ชาวอเมริกัน-แอฟริกันคนแรก ขององค์กรอวกาศสหรัฐฯ (NASA) ที่สามารถกู้ศักดิ์ศรี ในการแข่งขันวงการอวกาศ ให้กับสหรัฐอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ’ 

ต่อมาในปี 1962 เมื่อ NACA เปลี่ยนเป็น NASA และเริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์คำนวณวิถีการเดินทาง นักบินอวกาศรุ่นแรกอย่าง John Glenn ก็ยังขอให้ Katherine ตรวจสอบว่าคอมพิวเตอร์นั้นคำนวณวิถีการบินถูกต้องหรือไม่? นอกจากนี้เธอยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤติของยานอวกาศ Apollo 13 อีกด้วย

สรุปง่าย ๆ ว่า ถ้าไม่มี Katherine Johnson การสำรวจอวกาศอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ คงจะไม่ก้าวหน้าและเต็มไปด้วยอันตรายมากกว่านี้แน่นอน

อ่านต่อ ‘Hidden Figures’ หนังตีแผ่ชีวิตของสตรีผิวสี แห่ง NASA

3. Grace Murray Hopper ตัวแม่ผู้บุกเบิกวงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

Grace Murray Hopper นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้ทรงคุณวุฒิและทหารเรือชั้นสัญญาบัตร  เธอมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการคำนวณที่แม่นยำ แต่ผลงานที่สำคัญที่สุดคือการประดิษฐ์ระบบการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบที่เราใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน

สมัยก่อนคอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่โตมาก เครื่อง Mark I ที่ Grace เคยเขียนคู่มือการเขียนโปรแกรมเป็นเล่มแรกนั้นมีน้ำหนักถึง 5 ตัน! เรื่องตลกก็คือคำว่า "Bug" (การเขียนโค้ดผิดพลาด) และ "Debugging" (การแก้ไขข้อผิดพลาด) ในวงการคอมพิวเตอร์ตอนนี้ มีจุดกำเนิดมาจากตอนที่ Grace ต้องเอาแมลงสาบออกจากเครื่อง Mark I นั่นเอง

นอกจากนี้ Grace ยังเป็นหัวหน้าโปรแกรมเมอร์ของ UNIVAC ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรกของโลก ซึ่งเธอมีส่วนร่วมในการสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ COBOL (คล้ายกับ Javascript หรือ Python) ซึ่งต่อมาในภายหลัง Bill Gates ก็ได้นำไปใช้กับ Microsoft ในปี 1978 อีกด้วย

4. Marie Van Brittan Brown ตัวแม่ผู้คิดค้นระบบรักษาความปลอดภัยและ CCTV

สมัยนี้แทบทุกบ้านมีระบบรักษาความปลอดภัยหรือกล้องวงจรปิด แต่ย้อนกลับไปในช่วงปี 1960 ที่เมือง Queens รัฐ New York แม่บ้านผิวสีที่ชื่อว่า Marie Van Brittan Brown ต้องประสบปัญหารอตำรวจนานมากหลังแจ้งเหตุ (เรื่องปกติสำหรับละแวกคนผิวสีในตอนนั้น) เธอเลยคิดว่าน่าจะมีวิธีไหนสักทางที่จะรู้สึกปลอดภัยในบ้านตัวเอง และติดต่อเจ้าหน้าที่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเหยียด

จากความคิดนั้นเอง ระบบรักษาความปลอดภัยและ CCTV รุ่นแรกของโลกก็ถือกำเนิดขึ้น! Marie วาดแบบระบบต้นแบบที่ใช้ภาพและเสียง พร้อมส่งสัญญาณแจ้งตำรวจหรือหน่วยกู้ภัยได้ง่าย ๆ แค่กดปุ่ม ไม่ต้องโทรแจ้งให้เสียเวลา และด้วยความช่วยเหลือจากสามี ทำให้เธอได้รับสิทธิบัตรสำหรับระบบนี้ในปี 1969

นวัตกรรมของ Marie ถือเป็นต้นแบบของระบบกันภัยสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป และกลายเป็นรากฐานสำคัญของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบกล้องวงจรปิด, กลอนประตูควบคุมระยะไกล, สัญญาณเตือนภัยแบบกดปุ่ม, ระบบส่งข้อความแจ้งเหตุไปยังบริษัทรักษาความปลอดภัยและตำรวจ รวมถึงสื่อสารสองทางด้วยเสียง

5. Ada Lovelace ตัวแม่แห่งอัลกอริทึม

เคยได้ยินชื่อ Lord Byron กวีเจ้าเสน่ห์สายแบดบอยไหม? ถึงพ่อจะเป็นกวีชื่อดัง แต่ลูกสาวแท้ ๆ ของเขาก็มีผลงานเจ๋งไม่แพ้กัน!

นั่นก็คือ Ada Lovelace เธอเกิดเมื่อปี 1815 ชอบคณิตศาสตร์ เครื่องจักร และการเอาไอเดียเจ๋ง ๆ มาประดิษฐ์เป็นของจริงมาก จนพ่อของเธอถึงกับเรียกเธอว่า "เจ้าหญิงแห่งสี่เหลี่ยมด้านขนาน" 

ตัดภาพไปงานปาร์ตี้ปี 1833 Charles Babbage นักประดิษฐ์ เอาคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกมาโชว์! ทุกคนต่างสงสัยว่าเครื่องนี้ทำงานอย่างไร

Ada ที่ทำงานร่วมกับ Charles จึงอธิบายการทำงานของเครื่องโดยเปรียบเทียบกับที่ทอผ้า ‘Jacquard’ ที่ใช้การ์ดเจาะรูสร้างลวดลายบนผ้าไหม ซึ่งเครื่องของ Charles ก็ทำงานแบบนั้นเหมือนกัน แต่แทนที่จะทอออกมาเป็นผ้า เครื่องนี้กับให้ผลลัพธ์เป็น "พีชคณิต" ออกมาแทนและใช้ชุดคำสั่งควบคุมการคำนวณแบบต่าง ๆ ได้ เธอไม่เพียงแค่เข้าใจ แต่ยังเขียนคำสั่งให้เครื่องทำงานได้ด้วย ผลงานที่เธอทำจึงถูกยกย่องให้เป็น "โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก" และเป็นผู้คิดค้น "อัลกอริทึม" อีกด้วย!

6. Shirley Ann Jackson ตัวแม่ต้นแบบของการสื่อสารยุคใหม่

Shirley Ann Jackson นักฟิสิกส์ทฤษฎีผิวสีคนแรกที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ในปี 1973 ขณะทำงานอยู่ที่ Bell Laboratories  เธอทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวล้ำเกี่ยวกับอนุภาคย่อย (Subatomic Particles)  

งานวิจัยของเธอก้าวล้ำนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมาย เช่น โทรสาร (Fax), โทรศัพท์แบบกดปุ่ม (Touch-tone phone), โซล่าร์เซลล์ (Solar cells), สายไฟเบอร์ออฟติก (Fiber optic cells), ระบบรอสาย (Call waiting) และเทคโนโลยีเบื้องหลังระบบแสดงหมายเลขผู้โทร (Caller ID) ที่ช่วยให้เราเห็นเบอร์คนที่โทรเข้ามาก็ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากงานวิจัยของเธอนี้เอง เรียกได้ว่างานวิจัยของเธอนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว

7. Sister Mary Kenneth Keller แม่ชีผู้มีส่วนร่วมคิดค้นโค้ดสำหรับมือใหม่

ถ้าคิดถึงโปรแกรมเมอร์ เพื่อน ๆ อาจจะไม่เคยนึกถึงภาพแม่ชีแน่ ๆ แต่รู้ไหมว่า Sister Mary Kenneth Keller ผู้ตัดสินใจบวชเพื่อรับใช้พระเจ้าตั้งแต่ปี 1940 เธอมีดีกรีเป็นถึงผู้หญิงคนแรกที่ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาคอมพิวเตอร์ด้วยนะ!

เธอทำงานที่ศูนย์คอมฯ ของ Dartmouth และด้วยใจรักเทคโนโลยีสุด ๆ ก็ได้ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างภาษาเขียนโปรแกรมพื้นฐานอย่าง BASIC ที่เน้นการใช้สัญลักษณ์ ซึ่งใช้ง่ายและเหมาะสำหรับมือใหม่หัดเขียนโค้ดสุด ๆ

Microsoft เองก็นำระบบ BASIC มาใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุค 70s และพัฒนาต่อยอดจากผลงานของ Sister Mary จนกลายมาเป็น Visual Basic ภาษาเขียนโปรแกรมที่ยังฮิตมาตั้งแต่ ปี 1991 จนถึงทุกวันนี้

8. Radia Perlman ตัวแม่วงการ Internet

Radia Perlman ศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ในช่วงปลายยุค 60 และ 70 

หลังจากจบการศึกษาจาก MIT Radiab ก็กลายเป็นโปรแกรมเมอร์และวิศวกรคอมพิวเตอร์ ที่มีส่วนร่วมใน "โครงการ Spanning Tree Protocol (STP)” เธอเป็นส่วนสำคัญที่ร่วมพัฒนาอัลกอริทึมเบื้องหลัง Spanning Tree Protocol ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ระบบอินเตอร์เน็ตในปัจจุเกิดขึ้นนั่นเอง

เห็นไหมล่ะ ว่าผู้หญิงก็เจ๋งไม่แพ้ผู้ชาย! ConNEXT ขอเชิดชูผู้หญิงทุกคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อพัฒนาตัวเอง สังคม และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงยุคใหม่กล้าแสดงความสามารถของตัวเอง

แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ มีความฝันอะไร อยากจะสร้างผลงานอะไรให้กับโลก? มาแชร์กันหน่อยสิ!

อ้างอิง : clickup

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/8-women-innovators-who-changed-the-world-happy-international-womens-day