“งานหนักไม่เคยทำร้ายใคร” คุณเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่? สำหรับใครที่เห็นด้วยคงถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนความคิดซะใหม่ และหันมามองความจริงอีกด้านว่า การทำงานหนักเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนต้องถวายชีวิตเพื่อแลกกับเงิน
ผู้มีอำนาจทั้งหลายกำลังแสวงหาประโยชน์จากพนักงานตัวเล็กๆ ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ละเลยสุขภาพทั้งกายและใจของพนักงาน และหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ วัฒนธรรมการทำงาน ‘996’ ของประเทศจีน
วัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 คืออะไร?
996 เป็นวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทในประเทศจีนที่มีการส่งเสริมหรือบังคับให้พนักงานต้อง ‘ทำงานหนัก’
- 9 = 9 a.m. คือ การให้พนักงานทำงานตั้งแต่ 9.00 น.
- 9 = 9 p.m. คือ การให้พนักงานทำงานถึง 21.00 น.
- 6 = การให้พนักงานทำงาน 6 วัน/สัปดาห์
พูดง่ายๆ ก็คือ การให้พนักงานทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึง 3 ทุ่ม เป็นเวลา 6 วัน/สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่แล้ววัฒนธรรมการทำงานแบบนี้จะเป็นเรื่องปกติในบริษัทสายเทคและสตาร์ทอัพของประเทศจีน แม้ว่าจีนจะมีกฎหมายห้ามการทำงานลักษณะนี้ แต่ก็เป็นกฎหมายที่มีความหละหลวม ทำให้หลายบริษัทบังคับใช้เวลาการทำงาน 996 ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
Blogger ท่านหนึ่งบน Weibo (แพลตฟอร์มของประเทศจีนที่คล้ายทวิตเตอร์) กล่าวว่า “การทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ คนรุ่นใหม่หลายคนชินกับเรื่องนี้และไม่กล้าประท้วง เพราะรู้ว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
มุมมองจากผู้บริหารที่สนับสนุนการทำงานหนัก
“วัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาของจีนที่เรียกว่า ‘996’ นี้ เป็นพรอันยิ่งใหญ่สำหรับคนทำงานวัยหนุ่มสาว” Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba กล่าว “มีหลายบริษัทและหลายคนที่ไม่ได้ทำงานแบบ 996 ถ้าไม่ทำงานหนักตอนยังเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วจะมีโอกาสได้ทำงานแบบนี้ตอนไหนอีก”
เขายังกล่าวอีกว่าถ้าทำงาน 8 ชั่วโมงแต่ไม่ได้รักงานนั้นก็ทำให้ทุกวินาทีในการทำงานเป็นช่วงเวลาแห่งความทรมาน และหากทำงาน 12 ชั่วโมงแต่เป็นการทำในสิ่งที่รัก เรื่องเวลาก็ไม่ใช่ปัญหา
Richard Liu ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง JD.com ก็ได้ออกมาสนับสนุนสิ่งที่ Jack Ma เคยกล่าวไว้เช่นกัน
ไม่ได้มีแค่ผู้บริหารสองบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการทำงานหนัก แต่ยังมี Elon Musk ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Tesla Motors ผู้ซึ่งผ่านการทำงานหนักและนอนน้อยมาแล้ว ได้สนับสนุนการทำงานหนักว่า “ไม่มีใครเปลี่ยนโลกได้โดยใช้เวลาเพียง 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่ผู้คนจะต้องทำงาน 80 หรือ 100 ชั่วโมง/สัปดาห์เพื่อสร้างอิมแพคที่ยิ่งใหญ่”
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงมุมมองของผู้บริหารที่มีต่อวัฒนธรรมการทำงานหนักว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ก้าวนำผู้อื่นและสร้างอิมแพคได้มากกว่าด้วยการใช้เวลาในการทำงานที่มากกว่า ซึ่งเขาเหล่านี้ก็เคยผ่านช่วงเวลานั้นกันมาแล้ว แต่นี่เป็นเพียงมุมมองด้านหนึ่งเท่านั้น
การทำงานหนัก (แม้แต่การทำงานที่รัก) ไม่เคยทำร้ายใครจริงหรือ?
หลายคนอาจคิดว่าการทำงานหนักเป็นหลักประกันให้กับอาชีพการงานของตัวเอง เพราะเมื่อทุ่มเทแรงกายและแรงใจไปกับการทำงาน ก็จะได้รับสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าและเป็นที่จับตามอง แล้วทำไมถึงมีหลายบริษัททั่วโลกที่ให้ทำงาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยไม่บังคับให้พนักงานทำงานหนักอย่างที่ Jack Ma, Richard Liu หรือ Elon Musk กล่าวไว้
เหตุผลง่ายๆ ที่สามารถเห็นได้ชัดและสามารถพิสูจน์ได้ก็เป็นเพราะ ‘การทำงานหนัก = การทำลายสุขภาพ’ เมื่อพนักงานทำงานหนัก หมายความว่าเขาจะไม่มีเวลาในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่มีเวลานอนหลับให้เพียงพอ หรือไม่มีเวลากินอาหารดีๆ การข้ามสามองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชีวิตมีสุขภาพดี ก็จะนำไปสู่การเจ็บป่วย นอกจากป่วยกายแล้ว ก็อาจทำให้ป่วยใจได้อีก
ผลการศึกษาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2016 มีคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 398,000 คน และโรคหัวใจ 347,000 คน เป็นผลมาจากการทำงาน 55 ชั่วโมง/สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
โดยผลการศึกษาสรุปว่า การทำงาน 55 ชั่วโมง/สัปดาห์ขึ้นไป มีความสัมพันธ์ที่ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 35% และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับการทำงาน 35-40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ทำให้อนุมานได้ว่า การทำงานหนัก แม้แต่การทำงานที่รัก ก็สามารถทำร้ายผู้คนได้
ตัวอย่างในประเทศจีนก็มีให้เห็นแล้วว่า การทำงานแบบ 996 ไม่ได้ดีอย่างที่คิด โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับพนักงานหญิงวัย 22 ปี จาก Pinduoduo บริษัทอีคอมเมิร์ซใหญ่สุดในประเทศจีน เธอได้เริ่มทำงานที่บริษัทนี้เพียง 6 เดือน วันหนึ่งช่วงหลังเลิกงานและกำลังเดินทางกลับบ้านตอนตี 1 เพื่อนร่วมงานก็เห็นว่าเธอจับท้องก่อนที่จะล้มลงไป
แม้ว่าแพทย์จะพยายามช่วยชีวิตถึง 6 ชั่วโมง แต่ต่อมาเธอก็ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาล ผู้คนเชื่อว่าการเสียชีวิตของเธอเป็นผลมาจากการทำงานหนัก เพราะบริษัทเทคขึ้นชื่อเรื่องการสนับสนุนการทำงานแบบ 996 มาเป็นเวลานาน
วัฒนธรรมองค์กรที่มั่นคงและแข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตระยะยาว ดังนั้นสุขภาพของพนักงานจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
เทรนด์การทำงานยุคใหม่ ‘Work-life balance’ สำคัญกว่า ‘เงิน’
ผลการสำรวจโดย GOBankingRates เผยว่า 42% ของคนทำงาน Gen Z ที่อายุประมาณ 18-24 ปี ให้ความสำคัญกับ Work-life balance การทำงานจากที่บ้าน และการมีวันหยุดที่ยืดหยุ่น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการหางาน ลำดับอื่นๆ ได้แก่ ความหลงใหลในอาชีพ 19.6% และเงิน 16.5%
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะคน Gen Z จำนวนมากให้ความสำคัญกับ Work-life balance มากกว่าสวัสดิการอื่นๆ บริษัทต่างๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ที่ทำให้บริษัทต่างๆ เสียคนเก่งไปและต้องแข่งขันแย่งชิงผู้มีความสามารถมากขึ้น
คน Gen Z เรียกได้ว่าเป็นอนาคตแรงงานที่สำคัญของประเทศและเติบโตมาท่ามกลางความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้คน Gen Z เห็นความเครียดและความกดดันจากการทำงานมาอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว
จากเทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้หลายบริษัททั่วโลกเริ่มปรับตัวให้เท่าทันความต้องการที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ทิศทางการทำงานของจีนที่กำลังเปลี่ยนไป
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok สั่งให้พนักงานในประเทศจีนทำงานเสร็จไม่เกิน 19.00 น. โดยพนักงานต้องทำงานตั้งแต่ 10.00 ถึง 19.00 ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เรียกได้ว่าเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 อย่างเห็นได้ชัด
โดยนโยบายใหม่ของ ByteDance เกิดขึ้นหลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงาน 996 ว่าทำให้ไม่มี Work-life balance อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเครียด และสำหรับใครที่ต้องการทำงานล่วงเวลาจะต้องขออนุญาตทางบริษัทก่อน 1 วัน โดยจะสามารถทำงานล่วงเวลาได้ 3 ชั่วโมงในวันธรรมดา 8 ชั่วโมงในวันเสาร์-อาทิตย์ และจะได้รับค่าจ้างเพิ่มถึง 3 เท่าจากปกติ
นี่ถือได้ว่าเป็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการทำงานแบบ 996 ที่มีมาอย่างยาวนานสู่การทำงานแบบ 1075 แสดงให้เห็นถึงการที่ผู้มีอำนาจหันมาให้ความสำคัญกับพนักงานตัวเล็กๆ มากขึ้น
แม้แต่ญี่ปุ่นที่ให้คุณค่ากับการทำงานหนักยังเริ่มหันมาทำงาน 4 วัน/สัปดาห์
‘ญี่ปุ่น’ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการทำงานหนักอย่างเข้มข้น จนมี Karoshi Syndrome หรืออาการทำงานหนักจนตายเกิดขึ้น
สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงกับนักข่าววัย 31 ปี นามว่า Miwa Sado เธอได้ทำงานล่วงเวลาถึง 105 ชั่วโมง/เดือน ก่อนเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว และมีผู้คนอีกมากมายที่ต้องถวายชีวิตให้กับการทำงานหนัก
โดยการทำงานหนักในประเทศญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นความขยัน และหัวหน้ามักชอบให้พนักงานเข้างานก่อนเวลาและเลิกงานดึก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พนักงานจะต้องทำงานเป็นเวลานาน
แต่เมื่อไม่นานมานี้บริษัทญี่ปุ่นอย่าง Panasonic ประกาศให้พนักงานทำงาน 4 วัน/สัปดาห์เป็นบริษัทแรก เพื่อสนับสนุนสุขภาวะของพนักงาน
รัฐบาลญี่ปุ่นก็สนับสนุนและแนะนำบริษัทต่างๆ สามารถเลือกทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ได้ เพื่อสร้าง Work-life balance ให้กับการทำงานของประเทศ
ในท้ายที่สุด หลายคนก็คงได้รู้แล้วว่าการทำงานหนักไม่ได้ดีอย่างที่คิด อีกทั้งยังส่งผลร้ายต่อชีวิตมากกว่าที่คิดด้วย ใครที่กำลังอยู่ในองค์กรที่เอาเปรียบเราอยู่ ก็ถึงเวลาที่ต้องฉุกคิดได้แล้วว่า เราทำงานเพื่อใช้ชีวิต หรือมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานกันแน่
และสำหรับผู้มีอำนาจทั้งหลายก็ถึงเวลาที่ต้องฉุกคิดแล้วเช่นเดียวกันว่า แม้พนักงานจะดูเหมือนเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่ก็เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโต หากผู้นำไม่ใส่ใจดูแล แล้วในอนาคตจะเหลือใครไว้ช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
ที่มา - SCMP, Lifehack, Yahoo Finance, Business Insider (1), (2), (3), (4), (5), (6)