เชื่อว่าหลายๆ คนที่ใกล้จบหรือจบการศึกษา พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานแล้ว บางคนอาจจะรู้สึกถึงแรงกดดันมากมายในการหางานและอีกแรงกดดันหนึ่งที่คิดว่าหลายๆ คนอาจต้องเผชิญนั่นคือแรงกดดันจากครอบครัว การขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำด้านอาชีพจากครอบครัวอาจเป็นประโยชน์แก่การตัดสินใจของเรา แต่หลายครั้งเราก็อาจจะได้คำแนะนำผิดๆ กลับมาจนทำให้เราเกิดความสับสนในการเดินทางก้าวแรกสู่แห่งโลกการทำงานได้
วันนี้ ConNEXT จะพาทุกคนไปดู 3 คำแนะนำด้านอาชีพจากครอบครัวที่อาจเข้าใจผิดๆ พร้อมวิธีรับมือกับคำแนะนำเหล่านั้น
1. “หางานให้ได้เร็วๆ งานอะไรก็ได้ทำไปเถอะ ขอแค่มีงานทำก็พอ!”
เป็นคำแนะนำที่ใครหลายๆ คนอาจจะได้รับจากครอบครัว ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ไม่ดีอย่างมาก
ในโลกปัจจุบัน เราไม่ควรหางานเพียงแค่จะได้ "มีงานทำ" เพราะงานเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถบ่งบอกบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเปลี่ยนงานบ่อยเกินไปในช่วงเวลาสั้นๆ นายจ้างอาจจะมองว่าเราเป็นคนไม่น่าเชื่อถือและไม่แน่นอน
สิ่งที่ต้องทำ คือ มุ่งมั่นและเริ่มทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ทำนั้นจะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริงในระยะยาวได้ก็ต่อเมื่อทำสิ่งนั้นได้อย่างต่ำ 3 ปี เมื่อเรารู้จักความชอบของตัวเองอย่างชัดเจนแล้ว จึงเริ่มค้นหางานที่จะช่วยให้เติบโตในเส้นทางอาชีพที่เราเลือกได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ให้ค้นหาว่าควรจะเริ่มต้นทำงานแบบใดที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะและผลักดันให้เราไปสู่ตำแหน่งที่ใฝ่ฝันได้
ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการทำการบ้าน เพราะการสุ่มเลือกงานโดยไม่ไตร่ตรองเพื่อให้มีงานทำอย่างรวดเร็วไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะสุดท้ายแล้วเราก็จะลงเอยด้วยการเสียเวลาไปกับประสบการณ์ที่ไม่เข้ากับตัวตนของตัวเอง
2. “ทำงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้!”
อีกหนึ่งคำแนะนำที่ผิดๆ จากครอบครัวคงหนีไม่พ้นการแนะนำให้ทำงานให้มากที่สุด ทำงานเยอะๆ หลายๆ ชั่วโมงหรือทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเร็วขึ้นหรือได้เงินมากขึ้นนั่นเอง
คนรุ่นเบบี้บูมมักมีความเชื่อว่าคนที่ทำงานมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะในสายตาเจ้านาย แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เพราะพวกเขาถูกปลูกฝังโดยค่านิยมเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและค่านิยมเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว ตามโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปในทุกๆ วัน เนื่องจากในปัจจุบันนายจ้างส่วนมากให้ความสำคัญในเรื่อง Work-Life Balance หรือการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานมากขึ้น โดยการเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่พนักงาน เช่น ตารางทำงานที่ยืดหยุ่นและนโยบาย Work from Home หรือการทำงานที่บ้าน
ฉะนั้น การทำงานมากเกินไปจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เช่นเดียวกับการสร้างค่านิยมนี้ขึ้นมา จงจำไว้ว่าการทำงานมากเกินไปไม่ได้เท่ากับประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น และการเลื่อนตำแหน่งไม่ได้รับประกันความสุขเสมอไป นอกจากนี้ การทำงานมากเกินไปอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ร้ายแรงอีกด้วย
3. “ไปเรียนต่อ ยิ่งเรียนสูงๆ ยิ่งดี!”
หากครอบครัวแนะนำให้เราไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก จงคิดไตร่ตรองให้ดีๆ ก่อนจะตัดสินใจ เพราะการศึกษาต่ออาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีกนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ดังนั้น ควรหาข้อมูลว่างานที่อยากทำในอนาคตนั้นต้องการอะไรบ้าง จำเป็นต้องศึกษาต่อหรือไม่ หรือสามารถจะเติมเต็มสิ่งที่งานนั้นต้องการด้วยประสบการณ์อื่นๆ แทนได้ไหม
ถ้าหากงานที่เราอยากทำนั้นต้องการระดับการศึกษาที่สูงกว่านั้น เราจะสามารถหาวิธีแก้ปัญหาหรือบริหารเงินและค่าใช้จ่ายได้หรือไม่? เราสามารถขอความเชื่อเหลือจากครอบครัวหรือเสาะหาแหล่งทุนการศึกษาได้หรือไม่? หรือมีงานที่คล้ายกันที่จะพาเราไปสู่ปลายทางที่ใฝ่ฝันโดยไม่ต้องศึกษาต่อได้หรือไม่?
ท้ายที่สุดพวกเราทุกคนต่างรู้ดีว่า ครอบครัวหวังดีและต้องการให้เราประสบความสำเร็จและก้าวไปสู่จุดสูงสุด แต่คำแนะนำด้านอาชีพของครอบครัวอาจจะทำร้ายเราได้
ฉะนั้น จงคิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจลงมือทำ คำแนะนำจากครอบครัวที่อาจเข้าใจผิดๆ อาจจะนำพาเราไปสู่เส้นทางที่ผิดก็ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนที่ต้องเลือกเส้นทางอาชีพของเรานั้นควรจะเป็นตัวเราเองต่างหาก
เขียนโดย Chonlasit Tadapairot
อ้างอิง Workitdaily