ความรู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อแท้ และไม่มีความสุขในที่ทำงาน คืออาการของคนที่กำลังเผชิญกับ Burnout แต่รูปแบบความเครียดในการทำงานอีกอย่างหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อยแต่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้จักคือ Brownout
คำว่า Brownout เป็นคำศัพท์ที่นักวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analyst) ยืมคำศัพท์มาจากอุตสาหกรรมพลังงาน หมายถึงไฟที่กะพริบหรือหรี่ลงจากการที่แรงดันไฟฟ้าตก ในโลกของการทำงาน พนักงานที่ประสบกับปัญหา Brownout ก็จะมีระดับพลังงานที่ลดลงเช่นเดียวกัน
พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่เผชิญกับภาวะ Brownout จะมีแรงจูงใจในการทำงานน้อยลง ความสนใจที่มีต่องานและองค์กรค่อยๆ หมดลงเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไร้ความหมาย ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากการที่องค์กรไม่ให้ความสำคัญกับพนักงาน เช่น ทำงานดีแล้วไม่ได้รับคำชม สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการทำงาน
เมื่อมองดูผ่านๆ คุณอาจจะยังเห็นว่าพนักงานยังคงทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานเป็นปกติ แต่สุดท้ายแล้วพนักงานอาจลาออกโดยไม่ทันรู้ตัว
สัญญาณของอาการ Brownout ที่นายจ้างสามารถสังเกตได้
- พนักงานมีส่วนร่วมในการประชุมน้อยลงและไม่ค่อยสนใจข้อเสนอแนะใหม่ๆ
- ใช้ข้ออ้างในการปลีกตัวหรือไม่แสดงตัวบ่อยๆ เช่น ปวดหัว เป็นไข้
- เริ่มมีอาการป่วยทางกาย เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ
- จากที่เคยเป็นคนอารมณ์ขันก็ไม่ใช่อีกต่อไป ใครถามอะไรก็มักตอบสั้นๆ
- ใช้เวลาในการทำงานนาน แต่ไม่ได้มีความสนใจในงานที่ทำ
แล้วต้องทำอย่างไรไม่ให้พนักงานเกิดอาการหมดใจในการทำงาน จนองค์กรต้องเสียคนเก่งๆ และมีความสามารถไป?
คำแนะนำในการป้องกันอาการ Brownout
1. สนับสนุนเป้าหมาย
การทำงานโดยไม่สามารถทำตามเป้าหมายของตัวเองได้ อาจทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า นายจ้างควรหาวิธีสนับสนุนเป้าหมายของพนักงานให้เขาสามารถทำมันได้อย่างเต็มที่ ลองถามตัวเองดูว่าคุณเปิดใจพูดคุยกับพนักงานเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญกับเขาบ่อยแค่ไหน
2. จดจำความสำเร็จ
การมีผลงานที่ดีและมีคนเห็นถึงความสามารถนั้น จะเป็นแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานได้ ดังนั้นจึงควรแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจในความสำเร็จของพนักงาน ซึ่งอาจจะแสดงความใส่ใจด้วยการให้รางวัล เพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อองค์กร
3. แสดงความห่วงใย
นายจ้างควรมีความเข้าอกเข้าใจต่อพนักงาน โดยมีความสมดุลระหว่างความเป็นมืออาชีพกับความเป็นคน เพราะคงไม่มีใครอยากทำงานในที่ที่สนใจแต่ผลลัพธ์ของการทำงานแต่ไม่สนใจความรู้สึกของพนักงาน
4. สนับสนุนแพชชั่น
เมื่อเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถทำตามสิ่งที่ตนเองชอบหรือสนใจในที่ทำงานได้ ก็จะทำให้เขารู้สึกสนุกไปกับการทำงานมากกว่าเดิม แล้วยังสามารถทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
สุดท้ายแล้วเมื่อสามารถทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ ก็จะทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถรักษาและดึงดูดพนักงานเก่งๆ ให้อยู่กับองค์กรได้นานขึ้นด้วย
ที่มา: LinkedIn, Entrepreneur, The Times, Viva