ช่วงนี้หลายบริษัทเริ่มมีนโยบายให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ จึงเกิดการถกเถียงกันขึ้นมาว่าบริษัทควรลดค่าจ้างคนที่ทำงานทางไกลหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่แถบพื้นที่ค่าครองชีพต่ำ แล้วพนักงานที่ต้องกลับเข้าออฟฟิศควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มหรือไม่?
จากการสำรวจโดย Morning Consult พบว่า พนักงานไม่ค่อยอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มตัว และ 54% บอกว่าถ้าบังคับให้เข้าออฟฟิศจะพิจารณาเรื่องการลาออก ทำให้หลายบริษัทเริ่มคิดเรื่องการขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ เพื่อลดผลกระทบการกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลาหรือไฮบริด
อย่างไรก็ตาม การสร้างระดับค่าตอบแทนใหม่สำหรับคนที่ทำงานในออฟฟิศและทำงานระยะไกล อาจก่อให้เกิดช่องว่างค่าใช้จ่ายสำหรับผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียม
ถ้าเข้าออฟฟิศแล้วให้เงินเดือนเพิ่มเอาไหม?
Nicholas Bloom นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่า บริษัทใดที่ขึ้นเงินเดือนเพื่อแลกกับการให้พนักงานเข้าออฟฟิศ มีแนวโน้มที่จะสร้างความประทับใจให้กับพนักงานได้
อีกทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วย ‘Prospect theory’ ยังชี้ให้เห็นว่าการขึ้นเงินเดือนเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการตัดเงินเดือน เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะตัดสินใจเลือกอะไรที่ชัวร์ไว้ก่อน มากกว่าเลือกตัวเลือกที่มีความเสี่ยง
ตอนนี้ก็มีหลายบริษัทที่เริ่มหันมาใช้ระบบ Two-pay คือคนทำงานทางไกลได้ค่าจ้างเท่าเดิม แต่คนเข้าออฟฟิศได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 5% ถึง 10% อีกทั้งยังมีบางบริษัทที่สร้างแรงจูงใจทางการเงินอื่นๆ ให้กับผู้ที่เข้าทำงานที่ออฟฟิศด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพราะหลังจากการแพร่ระบาดใหญ่คนส่วนใหญ่ก็อยู่บ้านไม่ค่อยได้ออกไปไหน ทำให้ตอนนี้ค่าเดินทางเป็นเหมือนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาหากต้องเข้าออฟฟิศ
นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการอื่นๆ เพิ่ม เพื่อเป็นรางวัลให้กับพนักงานที่เข้าออฟฟิศด้วย เช่น อาหารเช้า อาหารกลางวัน เครื่องดื่ม สมาชิกยิม และอื่นๆ นายจ้างพยายามทำให้ออฟฟิศเป็นที่ที่ทุกคนอยากเข้า แต่ Bloom กล่าวว่า หลักประกันเหล่านี้อาจอยู่ได้ไม่นาน เพราะเป็นแค่เพียงช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคการแพร่ระบาดไปสู่ยุคหลังโรคระบาด
ใครจะอยู่บ้าน ใครจะไปออฟฟิศ?
Bloom เชื่อว่าในระยะสั้นถึงปานกลาง จะมีการถกเถียงถึงการจ่ายค่าจ้างที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แต่แบ่งค่าตอบแทนเป็นระดับๆ เพราะคนที่ทำงานทางไกลจะรู้สึกว่าเราก็ทำงานเหมือนที่คนในออฟฟิศทำ ทำไมจะต้องได้รับค่าจ้างน้อยกว่า
ช่วงที่ผ่านมาพนักงานหลายคนก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถทำงานจากที่บ้านได้ แต่ถ้าให้เงินเดือนต่างกัน ก็จะเหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกันได้
จากรายงาน Future Forum Pulse ของ Slack พบว่า ผู้หญิง 52% ต้องการทำงานทางไกล ส่วนผู้ชายมีเพียง 46% นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 81% ของคนเอเชีย ชอบการทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานทางไกลมากกว่า ความชอบหรือความต้องการที่แตกต่างกันนี้เองจะส่งผลให้เกิดช่องว่างทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกัน จากการถามความคิดเห็นบนแพลตฟอร์ม Blind ว่า ถ้าให้เลือกระหว่าง ‘ทำงานที่บ้านแบบถาวรแต่ได้เงินเดือนเท่าเดิม’ กับ ‘ทำงานที่ออฟฟิศแต่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 30,000 ดอลลาร์’ จะเลือกอะไร ผู้ตอบแบบสำรวจ 3,000 คนในสหรัฐฯ ซึ่งทำงานในบริษัทต่างๆ เช่น Amazon, Google และ Twitter กลับเลือกความยืดหยุ่นมากกว่าการได้รับค่าจ้างเพิ่ม ถึง 64%
แล้วถ้าเป็นคุณล่ะจะเลือกอะไร ระหว่าง ‘ทำงานที่บ้านแบบถาวรแต่ได้เงินเดือนเท่าเดิม’ กับ ‘ทำงานที่ออฟฟิศแต่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น’ ?
อ้างอิง BBC