ทำไมคนจีนรุ่นใหม่รู้สึกท้อกับงานและชีวิต จนเริ่มหันหลังให้กับ Hustle Culture วัฒนธรรมคลั่งงาน? | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
ทำไมคนจีนรุ่นใหม่รู้สึกท้อกับงานและชีวิต จนเริ่มหันหลังให้กับ Hustle Culture วัฒนธรรมคลั่งงาน?
By Connext Team ตุลาคม 20, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในประเทศจีนเริ่มรู้สึกท้อแท้กับงานและชีวิตมากขึ้น จนบางคนเริ่มหันหลังให้กับ Hustle Culture หรือวัฒนธรรมแห่งความรีบที่จะสำเร็จเกินไปจนกลายเป็นคนบ้างาน ในขณะเดียวกันพวกเขาก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงการเลิกจ้างและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

การแข่งขันกันอย่างดุเดือดนี้ทำให้บางคนตัดสินใจละทิ้งความฝันและแรงบันดาลใจ ซึ่งในปี 2021 ที่ผ่านมามีคำหนึ่งที่กลายเป็นคำที่แพร่หลายในสังคมจีนคือ “tang ping” แปลว่า “lying flat” หรือ “นอนราบ” หมายถึงการปฏิเสธการทำงานที่มากเกินไป ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรมและเลือกที่จะทำอะไรให้น้อยที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเครียดและความผิดหวังของคนรุ่นใหม่ โดยคำว่า “tang ping” เทียบง่ายๆ ก็คล้ายกับคำว่า Quiet Quitting ที่หลายคนรู้จัก

Hustle Culture

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศจีนรู้สึกท้อแท้?

การว่างงานและความไม่แน่นอน

คำว่า “tang ping” สะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงที่คนทำงานรุ่นใหม่ในประเทศจีนต้องเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างที่ทุกคนกำลังแข่งขันกันก็เกิดความไม่แน่นอนจากโรคระบาดใหญ่ขึ้นมา จนทำให้ปีนี้เป็นปีที่หางานได้ยากมากขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราว่างงานของคนอายุ 16 - 24 ปี อยู่ที่เกือบ 20% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในปีที่แล้วอยู่ที่ 16.2% 

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวครั้งใหญ่ โดยเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 0.4% ในไตรมาสที่สอง นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่คนทำงานรุ่นใหม่เริ่มรู้สึกท้อแท้กับงานและชีวิต

Escapism : การพาใจหลีกหนีจากความทุกข์

ในช่วงที่ผ่านมามีพนักงานในประเทศจีนหลายคนที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งบางคนถึงขั้นถูกเลิกจ้างสองครั้งในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ทำให้ได้รับผลกระทบหลายๆ อย่าง เช่น รายได้ และจิตใจ นอกจากนี้ เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดงานค่อนข้างแย่ ทำให้การหางานใหม่ยากตามไปด้วย หลังจากนั้นหลายคนจึงเริ่มหลีกหนีจากความเป็นจริงที่ว่าหางานใหม่ไม่ได้ผ่านการใช้เวลาว่างไปกับการทำงานพาร์ทไทม์ หรืองานอดิเรกอื่นๆ แทน

ความทะเยอทะยานที่ไม่อาจเอื้อม

คำว่า "cheng jia li ye" ของจีนมีความหมายว่า การมีหน้าที่การงาน การมีบ้าน และการมีครอบครัวที่ดี ซึ่งเป็นความสำเร็จในอุดมคติของจีน แต่คนรุ่นใหม่กลับรู้สึกว่าความทะเยอทะยานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจเอื้อมถึงไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม ตัวอย่างเช่น การซื้อบ้านในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับคนทำงานรุ่นใหม่

จากข้อมูลโดย Zhuge สถาบันติดตามและวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน พบว่า ในปี 2021 ราคาบ้านโดยเฉลี่ยสูงกว่ารายได้เฉลี่ยถึง 12 เท่า เนื่องจากการขาดการขยับสถานะทางสังคมและด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงทำให้คนทำงานรุ่นใหม่เริ่มหันหลังให้กับ "cheng jia li ye" หรือความสำเร็จในอุดมคติดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวคิด Lying flat หรือ Quiet Quitting ก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจีน เนื่องจากบางบริษัทในประเทศจีนมีวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 คือให้พนักงานทำงานตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 21.00 น. เป็นเวลาหกวันต่อสัปดาห์ แต่คนทำงานรุ่นใหม่ก็มองว่า Quiet Quitting  ไม่ได้หมายความว่าพวกเขายอมแพ้ในตัวเอง หรือไม่มีส่วนร่วมกับบริษัท แต่แค่ขาดแรงจูงใจที่จะให้ค่ากับการทำงานหนักจึงกำหนดขอบเขตและไม่รับงานอื่นที่นอกเหนือไปจากงานของตัวเอง

อ้างอิง CNBC

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/china-youth-reject-hustle-culture