เมื่อโลกมีการค้นพบนวัตกรรมและข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ หากไม่ปรับตัวให้เท่าทันสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การมีทักษะ Continuous Learning จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรมี
จากการสำรวจโดย Boston Consulting Group ในปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า 68% ของพนักงาน มีความต้องการที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และแน่นอนว่าบริษัทก็ต้องการทักษะใหม่ๆ เช่นกัน โดยการศึกษาหนึ่งของ IBM คาดการณ์ว่าภายในปี 2022 พนักงานกว่า 120 ล้านคนใน 12 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ จะต้องมีการ Reskill หรือ Retrain เพราะเทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดช่องว่างทักษะในหลายๆ อุตสาหกรรม
และจาก Workplace Learning Report ปี 2021 โดย LinkedIn พบว่า 76% ของคน Gen Z และ 61% ของคน Millennial มีความเห็นว่า “การเรียนรู้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพ”
ความสำคัญของทักษะ Continuous Learning
Continuous Learning หรือการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง เป็นแนวคิดในการพัฒนาอาชีพ ที่พนักงานควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงาน โดยการเรียนรู้นี้จะมีประสิทธิภาพที่สุดก็ต่อเมื่อตัวพนักงานเองมีความต้องการที่จะเรียนรู้จากใจจริงและมีความกระตือรือร้นที่จะเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ
การอัพสกิล โอกาสในการศึกษา และการพัฒนาความฉลาดทางด้านอารมณ์ก็ถือว่าเป็น Continuous Learning เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้พนักงานมีความโดดเด่นในที่ทำงาน และสามารถทำให้ทีมบรรลุเป้าหมายได้
ทุกธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดเล็ก เพราะธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่กำลังแข่งขันกันในการค้นหาคนเก่งเข้าไปทำงานด้วย แต่บริษัทใหญ่ๆ มีทรัพยากรมากพอที่จะเสนอโอกาสต่างๆ ให้กับพนักงานอยู่แล้ว หากธุรกิจเล็กๆ ไม่ปรับตัวก็จะทำให้คนเก่งเข้าไปอยู่กับบริษัทใหญ่ที่ทำให้ตัวเองเติบโตกว่า
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้บริษัทเล็กๆ สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ก็คือ ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพนักงานด้วยการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ดึงดูดพนักงานที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้เข้ามาอยู่กับองค์กรได้
แนวทางในการส่งเสริมทักษะ Continuous Learning
1. ทำความเข้าใจว่าทักษะที่ตลาดและบริษัทของตนเองต้องการคืออะไร
ขั้นแรก ค้นหาว่าทักษะที่ควรมีอะไร โดยการหาเทรนด์ในอุตสาหกรรมของตนเอง เช่น รายงาน Boston Consulting Group ปี 2021 ก็สามารถช่วยให้รู้ว่าทักษะที่เกิดขึ้นใหม่และมีความสำคัญต่อธุรกิจและเป็นที่ต้องการของพนักงานคืออะไร
เมื่อรู้ถึงเทรนด์แล้ว ก็นำข้อมูลตรงนี้ไปจัดเตรียมเส้นทางและโอกาสในการเรียนรู้ของพนักงาน โดยสิ่งสำคัญคือ ความต่อเนื่อง ไม่ใช่การฝึกอบรมแบบครั้งเดียวจบ และอย่าลืมว่าการพัฒนา Soft Skill ก็มีค่าพอๆ กับการพัฒนา Hard Skill
2. ถามพนักงานว่าอยากเรียนรู้อะไร
เมื่อรู้แล้วว่าทักษะที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าคืออะไร ก็ให้คิดต่อไปว่าจะทำให้ทักษะนั้นสอดคล้องกับความต้องการของพนักงานได้อย่างไร โดยอาจค้นหาสิ่งที่พนักงานต้องการเรียนรู้ผ่านการสำรวจทั่วไป เช่น จดหมายข่าวหรืออีเมล เมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ก็นำข้อมูลนั้นกลับมาเสนอให้กับพนักงาน
3. สร้างวัฒนธรรมการสื่อสารแบบเปิดกว้าง
การสื่อสารแบบเปิดกว้าง (Open communication) เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยต้องแสดงให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการเติบโตไปพร้อมกับพนักงาน เช่น การแบ่งปันแหล่งข้อมูลในการพัฒนาทักษะ หรือข้อเสนอแนะในการทำงานเพื่อพัฒนาตนเอง
Continuous Learning เป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทต่างๆ ควรให้ความสำคัญ เพราะสิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้แข่งขันกับบริษัทอื่นได้ เมื่อเราอยู่ในยุคดิจิทัลแล้ว การแสวงหาโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับพนักงานจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพื่อให้องค์กรและพนักงานเติบโตไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: Entrepreneur, Tracom