เมื่อเข้าสู่โลกยุคใหม่อย่างยุคดิจิทัลแล้ว สิ่งที่ควรพูดถึงคงหนีไม่พ้นเรื่อง Cybersecurity หรือการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
Cybersecurity คือ แนวปฏิบัติในการป้องกันระบบและข้อมูลจากการโจมตีทางดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันอาชญากรรมทางไซเบอร์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจต่างๆ กำลังตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมเหล่านี้
บริษัทต่างๆ จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและรักษาทีมนักเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ จากการวิจัยความปลอดภัยโดย Varonis ชี้ให้เห็นว่า หลายบริษัทไม่ปกป้องข้อมูลของตนเอง และมีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ดี ทำให้เสี่ยงต่อการเผชิญกับปัญหาข้อมูลสูญหาย
ข้อดีของการมีทักษะ Cybersecurity
จากการวิเคราะห์โดย Burning Glass พบว่า ทักษะด้าน Cybersecurity ที่จะเติบโตเร็วที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ ความปลอดภัยในการพัฒนาแอปพลิเคชัน (164%) ความปลอดภัยบนคลาวด์ (115%) การจัดการความเสี่ยง (60%) ข้อมูลภัยคุกคาม (41%) และอื่นๆ
ทำให้เห็นว่า ทักษะ Cybersecurity กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เพราะการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความสำคัญต่อธุรกิจต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจาก JobStreet ก็ชี้ให้เห็นว่า ทักษะ Cyber self-defence เป็นที่ต้องการสูง และวิศวกรความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นงานยอดนิยมติดอันดับ 4 ใน 10 ของงานด้านไอทีในประเทศมาเลเซีย
นอกจากทักษะ Cybersecurity จะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีบุคคลทั่วไปมากมายที่ประสบกับปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ เช่น การโดนแฮ็ก Instagram หรือ Facebook เพื่อนำไปสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีและหลอกให้โอนเงิน
การมีทักษะนี้ติดตัวก็จะช่วยให้ระวังตัวและสามารถป้องกันตัวเองและคนรอบๆ ตัวจากการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมในโลกไซเบอร์อย่างการโดนแฮ็กได้ในระดับหนึ่งด้วย
ทักษะที่จำเป็นสำหรับงานด้าน Cybersecurity
1. ทักษะการแก้ปัญหา: การแก้ปัญหาเป็นหน้าที่สำคัญของผู้เชี่ยวชาญทางด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การมีความสร้างสรรค์ในการจัดการกับความท้าทายด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่มีความซับซ้อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
2. ความถนัดทางเทคนิค: เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้ผู้ที่ทำงานด้านนี้มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่ตลอด เช่น การอัปเดตระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล ความเข้าใจในเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญหลักๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้องมี
3. ความรู้ด้านความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มต่างๆ: การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ได้มีอยู่แค่ในคอมพิวเตอร์ แต่ยังรวมถึงระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์ ระบบเครือข่ายคราวด์ และระบบเครือข่ายไร้สาย
4. การใส่ใจรายละเอียด: จะต้องมีความระมัดระวังและมีความละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันและตรวจจับการถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
5. ทักษะการสื่อสาร: ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จะต้องติดต่อสื่อสารกับฝ่ายอื่นๆ อยู่เสมอ เพื่อรายงานถึงปัญหาที่พบ และวิธีการแก้ไข สิ่งสำคัญคือต้องสามารถพูดได้อย่างชัดเจนและรัดกุม
6. ทักษะ Computer Forensics ขั้นพื้นฐาน: การมีทักษะ Computer Forensics หรือนิติวิทยาคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน จะช่วยให้รักษาสินทรัพย์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์
7. ความใฝ่รู้: การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอยู่ตลอด การมีความพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
8. ความเข้าใจในการแฮ็ก: ต้องมีทักษะให้เหมือนแฮ็กเกอร์ เพื่อจะได้รู้ว่าจะโดนโจมตีไซเบอร์ในรูปแบบใดได้บ้างและสร้างโซลูชันป้องกันการโจมตีนั้น
ที่มา - U2B, Champlain College, JobStreet, IBM