หัวหน้าหรือผู้บริหารหลายๆ คนมักจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องยากๆ เพราะไม่อยากทำให้ผู้อื่นซึ่งเป็นลูกน้องหรือพนักงานภายในทีมมองว่าเขาไม่น่าเชื่อถือหรือสร้างความไม่พอใจได้ แต่การหลีกเลี่ยงปัญหานั้นกลับมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะปัญหาเหล่านั้นจะยืดเยื้อและถ้าหากจะแก้ไขให้ถูกต้อง พนักงานภายในบริษัทก็อาจจะหมดความเชื่อใจต่อตัวหัวหน้าหรือผู้บริหารไปแล้ว
ในการศึกษาระยะเวลากว่า 10 ปีของผู้บริหารหรือหัวหน้ามากกว่า 2,700 คน ผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ 57% กล่าวว่าการตัดสินใจอะไรบางอย่างนั้นซับซ้อนและยากกว่าที่คิด แล้วจะมีวิธีการจัดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง วันนี้ ConNEXT จึงนำเอาเทคนิคการทำงานที่ช่วยพัฒนาทักษะการตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้นซึ่งรู้จักกันในนาม “DARE” มาฝากกัน
“DARE” คืออะไร? ช่วยให้ทีมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?
“DARE” เป็นเทคนิคที่ช่วยแบ่งเบาภาระการตัดสินใจของหัวหน้าได้ ซึ่งจะถูกแบ่งให้พนักงานภายในทีมตั้งแต่แรกสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
D: Deciders ผู้ตัดสินใจ
ผู้วางแผนการทำงานให้กับทีมและคอยเชื่อมความคิดของคนในทีมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วบทบาทนี้จะเป็นของ หัวหน้าทีม เพราะต้องการการตัดสินใจที่ชัดเจนและเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนว่า ถ้าหากหัวหน้าทีมไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้อย่างเด็ดขาดและชัดเจน งานของทีมก็จะไม่ขยับไปไหนเลย
A: Advisors ที่ปรึกษา
ผู้ที่คอยสนับสนุนการตัดสินใจของหัวหน้าทีม อาจเป็นคนที่มีประสบการณ์หรือตำแหน่งที่สูงกว่า เพราะการที่หัวหน้าไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด อาจเป็นเพราะขาดประสบการณ์ในส่วนนั้น จึงต้องคอยขอคำปรึกษาเพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ และสามารถหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
R: Recommenders ผู้ให้คำแนะนำ
ผู้ให้ความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจ อาจจะเป็นคนที่คอยรวบรวมข้อมูล สถิติมาให้กับหัวหน้าในการประกอบการตัดสินใจและวางแผนการทำงานต่างๆ หรือแม้แต่ลูกทีมคนอื่นๆ ก็สามารถให้คำแนะนำได้เช่นกัน เพราะอาจจะมีไอเดียใหม่ๆ ที่คนในทีมหรือหัวหน้าอาจจะมองข้ามไ
E: Execution Stakeholders ผู้รับผิดชอบ
ผู้รับผิดชอบในที่นี้ก็คือ ลูกทีมนั่นเอง งานบางส่วนภายในทีมก็สามารถตัดสินใจได้เลยโดยไม่ต้องรอหัวหน้าทีมเสมอไป ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของหัวหน้าทีมได้มากขึ้น บางทีการที่หัวหน้าใช้เวลาในการตัดสินใจนานก็มาจากการที่ต้องตัดสินใจหรือลงมือทำในทุกขั้นตอนของงานนั้นๆ จึงทำให้บางทีงานอาจจะล่าช้ากว่าเดิม
ถ้าหากใครประสบปัญหากับการตัดสินใจในการทำงานบ่อยๆ ลองนำเทคนิค “DARE” ไปปรับใช้ภายในการทำงานของคุณ เพื่อพัฒนาทักษะการตัดสินใจของคุณให้ดียิ่งขึ้น ถ้าหากเราไม่ได้โฟกัสกับผลที่ตามมาหลังจากการตัดสินใจก็จะทำให้เราทำงานได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
เขียนโดย : Nichaphat Srijumpa