หลายคนอาจจะยังสับสนว่างานที่ทำอยู่เป็นงานที่ใช่สำหรับตัวเองหรือเปล่า เป็นงานที่เราชอบจริง ๆ ไหม หรือแค่ทำไปก่อนเฉย ๆ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่างานไหน ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ สำหรับเรา มาร่วมหาคำตอบเหล่านี้ได้ที่ Tech ConNEXT Talk ในหัวข้อ “Design my work life งานและองค์กรแบบไหน 'ที่ใช่' พร้อมวิธีเตรียมตัวอย่างไรให้คว้าได้ทุกโอกาส” กับ คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ CEO & Editor-in-Chief จาก THE STANDARD
วิธีการ “บริหารจัดการเวลา” ในแบบฉบับของคนที่ไม่ค่อยมีเวลา
มองว่างานกับชีวิตของผมเป็นจังหวะเดียวกัน เนื่องจากงานที่เราทำ ทำให้คำว่า Work กับ Life ไม่สามารถปิดสวิตช์ได้ทันที แต่ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถออกแบบได้ ถ้าถามว่าจะแบ่งสองสิ่งนี้ได้อย่างไร? อาจจะต้องโฟกัสที่เนื้อหาของงานเป็นหลัก ต้องเข้าใจธรรมชาติของงาน ไม่อยากให้เหมารวมว่า Work life balance คือการต้องเลิกงานตรงเวลา อยากให้ลองออกแบบให้สอดคล้องกับชีวิตเรา และที่สำคัญเราจำเป็นต้องแบ่งเวลางานกับเวลาพักให้ชัดเจน เพราะการพักผ่อนเป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นอีกด้านที่จะช่วยเติมพลังให้กับการทำงาน ในหลาย ๆ ครั้งเราเอางานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต จนกลายเป็นว่าเราทุกข์ ฉะนั้นนอกจากที่เราจะเลือกงานที่ชอบแล้ว อยากให้เลือกด้วยว่างานนั้นสอดคล้องกับชีวิตหรือไลฟ์สไตล์เราด้วย
มนุษย์เงินเดือนสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้อย่างไรบ้าง
พนักงานที่ยังอยู่ในระดับ Entry Level หรือพนักงานที่เพิ่งเริ่มทำงาน ต้องบอกตามตรงว่าเราอาจจะยังออกแบบชีวิตเราเองได้ไม่มาก เวลาพูดถึงเรื่องการออกแบบการทำงาน ถ้าสมมติเรายังไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ หรือระดับผู้บริหาร ก็ยากที่จะออกแบบชีวิตตัวเองได้ การที่คุณจะออกแบบชีวิตในแบบที่ต้องการได้ อาจจะต้องใช้เวลาสักพัก อาจจะยังทำไม่ได้ในช่วงแรก เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทำให้ตัวเองเก่งขึ้น เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เราเก่งขึ้น เราจะสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้ เรียกเงินเดือนเพิ่มขึ้นได้ ฉะนั้นเราต้องทำให้ตัวเองมีคุณค่าก่อน เราถึงจะมีอำนาจต่อรองกับองค์กร และในที่สุดเราจะสามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้
“ให้เงินเดือนเยอะ ๆ สิ ถึงจะทำงานให้เยอะ ๆ ” กับ “ยอมอดทนทำงานเยอะๆ เดี๋ยวบริษัทก็ให้ค่าตอบแทนเอง” คิดอย่างไรบ้างกับ 2 แนวคิดนี้
อันดับแรกเราต้องเข้าใจธรรมชาติของความสัมพันธ์นายจ้างกับลูกจ้าก่อนว่าเป็นความสัมพันธ์เฉพาะตัว การเลือกงานเราก็ต้องเลือกงานที่ดีที่สุด ชอบที่สุด เช่นเดียวกันองค์กรก็ต้องการพนักงานที่เข้ากับองค์กรได้มากที่สุดเหมือนกัน แต่ถ้าในช่วงแรกของการทำงานไม่อยากให้มองเรื่องเงินเป็นอย่างแรก อยากให้มองงานเป็นอันดับแรกมากกว่า เพราะการที่พนักงานคนหนึ่งจะเรียกเงินเดือนสูง ๆ ได้ เราต้องทำงานให้ดีก่อน สะสมความสามารถให้กับตัวเอง พอถึงจุดหนึ่งที่เราสะสมความสามารถของตัวเองได้ เราจะมีอำนาจในการต่อรองเงินเดือนจากองค์กร และเวลาหางานอยากให้มองภาพรวมในระยะยาวมากกว่าระยะสั้นไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องเงินเดือนหรือตัวเนื้องาน นอกจากนี้งานแต่ละอุตสาหกรรมย่อมมีค่าตอบแทนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นอยากให้มองในระยะยาวด้วยว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อาชีพที่คุณทำในวันนี้จะโตอีกกี่เท่าตัวในวันข้างหน้า
“รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง สู้คนอื่นไม่ได้” มีวิธีจัดการอย่างไร
การที่คิดว่าตัวเองยังไม่เก่ง แสดงว่าเรายังเก่งได้ในอนาคต คำว่า ‘ไม่เก่ง’ กับ ‘ยังไม่เก่ง’ ไม่เหมือนกัน
คำว่า ‘ยังไม่เก่ง’ แปลว่าในไม่อีกกี่ปีข้างหน้าเราอาจจะเก่งเรื่องนี้ก็ได้ ไม่อยากให้มองเป็นความรู้สึกลบว่าตัวเองไม่เก่ง จนทำให้เราเป็นทุกข์และดูถูกตัวเอง เพราะฉะนั้นวิธีจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้อยากให้ลองมองในแง่บวกเข้าไว้ อย่างแรกเราต้องพอใจในตัวเองก่อน ลองมองย้อนกลับไปว่ากว่าเราจะเติบโตมาถึงจุดนี้ได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างน้อยเราไม่ต้องแข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเองในปีที่แล้ว เราอาจจะเห็นว่าตัวเองเก่งขึ้น เก่งอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องงานอย่างเดียว
นอกจากนี้หลายคนยังรู้สึกแบบ Imposter syndrome หรือการที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอะไรสักอย่าง เป็นเพราะเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทั้งที่จริงเราทุกคนมีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวอยู่แล้ว อย่างน้อยเราอาจต้องรู้ว่าจุดเด่นของเราคืออะไร แล้วโฟกัสที่ตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องไปมองคนอื่น เพียงแต่ว่าเราต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ มองภาพรวมของตัวเองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพราะฉะนั้นคำว่า ‘รู้สึกตัวเองไม่เก่งสักที’ เราต้องนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง แล้วเราจะรู้ว่าเราเก่ง ค่อย ๆ เดินทุกวัน ล้มบ้างก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยให้ล้มแล้วเดินไปข้างหน้าพอ
ถ้าเริ่มไม่มีความสุขกับงานที่ทำ แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องทำงานนั้นอยู่ ควรทำอย่างไร
อย่างแรกลองสำรวจตัวเองให้แน่ใจว่าเราทุกข์เพราะอะไร ถ้าทุกข์เพราะรูปแบบงาน หรือทุกข์เพราะองค์กรไม่ยอมให้เติบโต คุณสามารถเดินออกมาจากองค์กรได้ ไม่ได้ผิดอะไร การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติ เราทุกคนสามารถทำได้ และถ้าเกิดทุกข์เพราะเรื่องคน หรือวัฒนธรรมในองค์กร เราอาจจะต้องปรึกษากับ HR ว่าเราสามารถทำอะไรตรงนี้ได้บ้าง สุดท้ายถ้าเรารู้สาเหตุแล้วว่าเกิดจากอะไรลองมองดูว่าปัญหานั้นเราสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าแก้ได้ให้ลงมือแก้เลย แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ แสดงว่าปัญหานั้นใหญ่เกินตัวเรา
วิธีเตรียมตัวสำหรับการเลือกงาน และการเปลี่ยนสายงาน
เราต้องกลับมาดูตัวเองก่อน ต้องรู้ว่าจุดแข็ง จุดอ่อน ของตัวเองคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เรามีแล้วคนอื่นไม่มี ลองเขียนสิ่งเหล่านี้ออกมา เพราะการจะเปลี่ยนงานครั้งหนึ่งเป็นเหมือนโอกาสที่เราจะหาเรือลำใหม่ที่เราชอบที่สุด
ในการเลือกงานทุกครั้ง อยากแนะนำว่าให้มองภาพใหญ่ก่อนแล้วค่อยกลับมามองภาพเล็ก ๆ ภาพใหญ่ในที่นี้ คือเมื่อเรารู้แล้วว่าตัวเองเก่งไม่เก่งอะไร เราอาจมองก่อนว่าอุตสาหกรรมอะไรที่กำลังมาแรง พอเรารู้แล้ว ต่อไปให้มองตัวเนื้องานว่ามีตำแหน่งอะไรบ้างที่เข้ากับเราได้ เพราะบางทีความเก่งของเราสามารถทำได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องตาม Job description เพียงอย่างเดียว และเราอาจต้องหาองค์กรที่พร้อมเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ ในบางครั้งภาพเรือลำใหม่ที่เรากำลังจะขึ้นมันดูดีมากเลย ใหญ่มาก แต่เขาไม่ได้วิ่งไปฝั่งเดียวกับเรา เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกเรือที่เรากำลังจะขึ้นให้ถูกว่าโอกาสที่เขาจะมอบให้เรามันเหมาะกับตัวเรามากน้อยแค่ไหน และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้เราเรียนรู้มากแค่ไหนด้วย
จะรู้ได้อย่างไรว่างานไหนเหมาะกับเราที่สุด ถ้ารู้สึกว่าตัวเองทำได้หลายอย่างเหมือน “มนุษย์เป็ด”
หลัก ๆ แล้วอยู่ที่เขาอยากทำอะไรต่อ ย้อนกลับมาจุดเดิมคือ เราออกแบบชีวิตตัวเองได้ บางทีการจะเป็นมนุษย์เป็ดหรือไม่เป็น มองว่าบางทีมันไม่ได้เกี่ยว แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเราอยากออกแบบภาพเหล่านั้นอย่างไรมากกว่า คุณอยากให้ตัวเองไปในทิศทางไหนในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะเห็นว่าผมสนับสนุนให้มองภาพในอนาคตระยะยาวมากกว่าระยะสั้น นั้นเป็นเพราะว่าการมองระยะสั้นอาจทำให้เราตัดสินใจอะไรแล้วพลาดสิ่งสำคัญไป แต่การมองยาวก็ไม่อยากให้ยึดติด เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปเร็ว เดี๋ยวอีกไม่กี่ปีก็อาจมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งคุณก็อาจจะเปลี่ยนงานก็ได้ แต่อย่างน้อยอยากให้มองในระยะยาวด้วย เช่น สมมติมีงานมาให้คุณเลือก 3 งาน ซึ่งรูปแบบงานแตกต่างกันหมด แต่ว่าคุณมองอนาคตตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าอยากเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นคุณลองกลับมามองอีกทีว่าใน 3 งานนี้มีงานไหนบ้างที่จะพาคุณไปสู่จุดนั้นได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า
สุดท้ายแล้วการที่จะออกแบบชีวิตตัวเองได้ เราจำเป็นต้องสะสมประสบการณ์การทำงานให้ตัวเองก่อนถึงจะมีอำนาจในการต่อรองได้มากขึ้น นอกจากนี้เวลาเลือกงานให้มองภาพใหญ่และมองในระยะยาว ว่าในอนาคตอันใกล้อาชีพที่เลือก ณ ตอนนี้จะเป็นที่ต้องการในอนาคตอยู่หรือไม่?
นอกจากนี้หากเราไม่มีความสุขในองค์กรหรืองานที่ทำอยู่และอยากเปลี่ยนสายงาน อาจจะต้องกลับมาดูตัวเองว่า 'จุดแข็ง จุดอ่อน' ของเราคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เรา 'ทำได้ดี' ทำแล้ว 'มีความสุข' เพราะการจะเปลี่ยนงานครั้งหนึ่งก็เป็นเหมือนโอกาสที่เราจะหาเรือลำใหม่ที่เราชอบที่สุดและตอบโจทย์ทิศทาง Career path ของเราได้