นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 คนจำนวนมากเริ่มเสพติดการเลื่อนดูข่าวสารบนหน้าฟีดในโซเชียลมีเดียต่างๆ และให้ความสนใจกับข่าวเชิงลบที่สร้างความวิตกกังวล ซึ่งเราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “การไถหน้าจอเสพข่าวร้าย (Doomscrolling)”
การไถหน้าจอเสพข่าวสารที่สร้างความวิตกกังวลเป็นระยะนานอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ แล้วมีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้คนเรามีพฤติกรรม Doomscrolling พร้อมวิธีแก้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นี้
สาเหตุของพฤติกรรม Doomscrolling
สาเหตุที่ทำให้เรามีพฤติกรรมชอบไถหน้าจอเสพข่าวร้ายมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน เช่น:
- การมีอคติเชิงลบ: โดยพื้นฐานคนเรามีแนวโน้มที่จะสนใจหรือติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นเชิงลบอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้อาจไปเชื่อมโยงกับพฤติกรรม Doomscrolling
- ความไม่แน่นอน: คนเรามักจะมีพฤติกรรม Doomscrolling ตอนที่อยากรับรู้ข่าวสารที่ยังมีความคลุมเครือหรือไม่แน่ชัด รวมไปถึงข่าวสารที่คนมีมุมมองขัดแย้งกัน
- ความวิตกกังวล: บางคนมีพฤติกรรม Doomscrolling เพราะต้องการที่จะจัดการกับความวิตกกังวลของตัวเอง แต่หารู้ไม่ว่ากลับยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลหนักกว่าเดิม
- การกลัวว่าจะตกข่าว (FOMO): พฤติกรรม Doomscrolling อาจเกิดจากอาการ FOMO และความเชื่อที่ว่าเราต้องไม่พลาดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ
- การขาดการควบคุมตนเอง: การขาดความยับยั้งชั่งใจในการใช้โซเชียลมีเดียอาจมีส่วนสำคัญที่ไปกระตุ้นให้เรามีพฤติกรรม Doomscrolling ได้อีกด้วย
ทำไมพฤติกรรม Doomscrolling ถึงไม่ดีต่อสุขภาพ
เนื่องจากพฤติกรรม Doomscrolling ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง หวาดกลัว และเป็นทุกข์ นอกจากนี้ยังทำลายอารมณ์และสุขภาวะ ตัวอย่างเช่น ยิ่งคุณติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิด-19 มากเท่าไหร่ คุณยิ่งมีสุขภาพจิตที่แย่ลง และมีระดับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่สูงขึ้นมากเท่านั้น
นอกจากนี้ การจดจ่ออยู่แต่กับข่าวสารเชิงลบยังรบกวนการนอนหลับ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน และแย่งเวลาที่ใช้ร่วมกับเพื่อนฝูงและครอบครัว การที่คุณเครียดจนไม่สามารถผ่อนคลายได้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากการมีความเครียดเรื้อรังจะเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว และความดันโลหิตสูง
5 วิธีกำจัดพฤติกรรม Doomscrolling
หากคุณพบว่าตัวเองชอบไถหน้าจอเสพข่าวร้ายบนโซเชียลมีเดียหรือตามเว็บไซต์ข่าวต่างๆ วิธีต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการหยุดพฤติกรรมดังกล่าว
1. จำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย
โดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 3 นาทีไปกับการใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่คนเราจะเลื่อนฟีดเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ไปเรื่อยๆ จนลืมดูเวลา ดังนั้นการจำกัดเวลาในการเลื่อนดูข่าวสารในแต่ละวันจึงมีส่วนช่วยหยุดพฤติกรรม Doomscrolling ได้
ตัวอย่างเช่น คุณอาจลองจำกัดเวลาการอ่านข่าวไว้ที่ 20 นาทีในตอนเช้า และ 20 นาทีในตอนใกล้หมดวัน เพราะว่าการกำหนดเวลาที่แน่ชัดจะช่วยให้คุณเกิดความสมดุลและไม่ถูกครอบงำด้วยข่าวร้ายมากเกินไป
2. ดาวน์โหลดแอปตัวช่วย
หากคุณไม่สามารถจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดียได้เอง ให้ลองใช้แอปพลิเคชันต่อไปนี้:
- Social Fever เป็นแอปสำหรับติดตามการใช้งานโซเชียลมีเดีย ซึ่งคุณสามารถกำหนดค่าเวลาที่ต้องการจำกัดในแต่ละวันได้ โดยแอปจะแจ้งเตือนเมื่อคุณเล่นเกินเวลา
- StayFree เป็นแอปที่ใช้ได้ทั้งบนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยบล็อกแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการจำกัดการใช้งาน
หากคุณพบว่าตัวเองกำลังเสพติดการอ่านข่าวสารเชิงลบบนเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์มากเกินไป วิธีที่ดีที่สุดคือคุณต้องพยายามใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง
3. หางานอดิเรกทำ
โดยปกติแล้วคนเรามักใช้โซเชียลมีเดียหรืออ่านข่าวตามเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อขจัดความเบื่อหน่าย แต่การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ ดังนั้น หากคุณรู้สึกเบื่อ ให้ลองหากิจกรรมยามว่างที่คุณชอบมาทำเพื่อลดความเบื่อหน่ายนั้น
ประโยชน์ของการทำงานอดิเรกคือจะช่วยทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ตัวอย่างงานอดิเรกเช่น การทำอาหาร การอ่านหนังสือ การเดินป่า หรือการทำอะไรที่เกี่ยวกับศิลปะ เป็นต้น
4. ออกกำลังกาย
แทนที่จะนั่งบนโซฟาหรือนอนบนเตียงไถหน้าจอไปเรื่อยๆ คุณอาจจะลองไปออกกำลังกาย หรืออาจออกไปเดินเล่นข้างนอกหลังจากอ่านข่าวแล้วเสร็จแล้ว ซึ่งการออกกำลังกายถือเป็นวิธีที่ดีในการรับมือกับพฤติกรรม Doomscrolling เพราะจะทำให้คุณมีอารมณ์ดีขึ้น
นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยลดความวิตกกังวลโดยจะช่วยกันคุณออกจากความคิดเชิงลบและลดฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ในขณะเดียวกันก็ปล่อยฮอร์โมนแห่งความสุขที่เรียกว่าเอ็นดอร์ฟิน
โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ออกกำลังกายหนักปานกลางประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
5. มองหาเรื่องราวข่าวสารดีๆ
การติดตามข่าวสารเพื่ออัปเดตเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่การมุ่งเน้นไปที่ข่าวเชิงลบอย่างเดียวอาจทำให้คุณรู้สึกเครียดและวิตกกังวลจนเกินเหตุ ดังนั้น คุณควรที่จะอ่านเรื่องราวข่าวสารที่เป็นด้านบวกบ้างเพื่อให้เกิดความสมดุลทางอารมณ์
ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มุ่งเน้นการรายงานข่าวเชิงบวก เช่น Good News Network และ Positive News
แน่นอนว่าข่าวร้ายหรือข่าวเชิงลบมักจะทำให้คนเกิดความสนใจและอยากกดเข้าไปอ่านมากกว่าข่าวเชิงบวกทั่วไป อย่างที่กล่าวไปว่าการทำให้ตัวเองเท่าทันทุกเหตุการณ์ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าเราต้องมีความพอดี คือไม่ควรเสพข่าวเชิงลบมากเกินไปจนทำให้ตัวเองเครียดและส่งผลต่อสุขภาพจิต
เขียนโดย Parinya Putthaisong
อ้างอิง Insider