แม้การพักผ่อนให้เพียงพอมีความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี แต่ทำไมยังมีพนักงานจำนวนไม่น้อยประสบปัญหานอนไม่พออยู่? หรือเป็นเพราะพนักงานเอาเวลาส่วนตัวหรือเวลานอนของตัวเองไปใช้กับการทำงานหรือเปล่า?
นี่อาจเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่องค์กรควรหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญมากขึ้นนั่นคือ “สุขภาพของพนักงาน” เพราะพนักงานเปรียบเสมือนฟันเฟืองหลักที่ทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า
ทำไมการนอนให้เพียงพอจึงสำคัญสำหรับพนักงาน?
การนอนน้อยหรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถส่งผลต่อสภาวะอารมณ์และประสิทธิภาพในการทำงานได้ พนักงานที่นอนน้อยมักจะรู้สึกเหนื่อย ง่วงซึมตลอดทั้งวัน หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย ไม่มีสมาธิ จนอาจส่งผลให้ทำงานได้ไม่ดี ซึ่งหากอดนอนเป็นประจำจะทำให้เสี่ยงป่วยและมีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน
นอกจากนี้ The American Academy of Sleep Medicine (AASM) จากสหรัฐอเมริการะบุว่า พนักงานควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงขึ้นไป ไม่ใช่ 6 ชั่วโมงอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน ปัญหาที่ AASM พบคือ 1 ใน 3 ของคนยุคนี้ มีปัญหาการนอนน้อยกว่าเกณฑ์หรือน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป และอาจมีอันตรายกับสุขภาพได้
การนอนไม่พอของพนักงาน อาจทำให้องค์สูญเสียรายได้
รู้ไหมองค์กรในประเทศไทยสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยกว่า 6 ล้านบาทต่อปี สาเหตุมาจากการนอนไม่พอของพนักงาน จนทำให้พนักงานเกิดการขาดงาน ลาป่วย หรือป่วยในขณะที่ทำงาน
จากรายงานล่าสุดของ BetterUp กล่าวว่า การนอนน้อยของพนักงาน ทำให้สูญเสียรายได้กว่า 136,400 ล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้นายจ้างยังเสียเงินในการรักษาค่าพยาบาลจากการป่วยหรือไม่สบายกว่า 1,967 ดอลลาร์ต่อพนักงานหนึ่งคน
และข้อมูลจาก SingleCare ระบุว่าสหรัฐอเมริกา สูญเสียเงินมากถึง 411 พันล้านดอลลาร์ต่อปี จากผลกระทบการนอนไม่พอของพนักงาน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1,500 ดอลลาร์ต่อปี
องค์กรสามารถทำอะไรได้บ้าง? เพื่อช่วยให้พนักงานได้พักผ่อนเต็มที่
ปัจจุบันองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่าง P&G หรือ Procter and Gamble Trading ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก และ Goldman Sachs สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลก เปิดคอร์ส “Sleep Hygiene” ให้พนักงานของตัวเองฟรี พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างแบบไฮเทคในอาคารสำนักงานที่ช่วยสร้างสารเมลาโทนินให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา
นอกจากนี้บริษัท Nike และ Google ยังปรับตารางเวลาการทำงานพนักงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมสร้าง “ห้องนอน” ให้แก่พนักงานที่ต้องการการพักผ่อนอีกด้วย
จะเห็นว่าองค์กรยักษ์ใหญ่หลายองค์กรเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่องค์กรทำได้ คือ สนับสนุนให้พนักงานทำงานเฉพาะในเวลางาน ไม่ควรให้ทำงานนอกเวลา เพื่อให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวหลังเลิกงานมากขึ้น (Work-Life Balance) และมีตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อรองรับประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน เนื่องจากบางคนอาจทำงานได้ดีตอนกลางคืน บางคนทำงานได้ดีในช่วงเช้า
สุดท้ายสิ่งสำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้ามคือ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพราะถ้าพนักงานมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีก็ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานงานดีขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่พนักงานมีสุขภาพย่ำแย่จากการนอนไม่เพียงพอ เพราะ Work life (ไม่) balance ก็อาจนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลและประสิทธิภาพโดยรวมที่ลดลงของพนักงานที่องค์กรอาจต้องเผชิญ
อ้างอิง : zenefits