การเปลี่ยนผ่านจากนักศึกษาไปสู่การเป็น First Jobber อาจดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับเด็กจบใหม่ เพราะกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่แบบเต็มตัว ซึ่งหลายคนก็มีความคาดหวังหลายอย่างเกี่ยวกับโลกใบใหม่อย่างโลกการทำงานนี้ มาดูกันว่าสิ่งที่เด็กจบใหม่คาดหวังเหล่านี้จะมีอยู่จริงหรือไม่
1. คิดว่าจะมีเวลาว่างมากขึ้น
สิ่งที่คิด: เย่ ไม่มีการบ้าน ไม่มีเรียนชดเชย จะพักได้สักที
ความเป็นจริง: คิดถึงช่วงปิดเทอมจังเลย
ตอนเป็นนักศึกษาเราต่างก็ยุ่งอยู่กับการสอบ การบ้าน งานกลุ่มต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด พอเรียนจบมาหลายคนก็อาจคิดว่าจะมีเวลามากขึ้นเพราะไม่ต้องทำสิ่งเหล่านี้แล้ว แต่ในความเป็นจริงเมื่อเข้าสู่โลกการทำงานแล้ว ทุกคนต้องบอกลาช่วงเวลาดีๆ ที่หาไม่ได้ในโลกการทำงานอย่างช่วงปิดเทอมไป
เมื่อเข้าสู่วัยทำงานจะรู้ได้ว่าเวลาว่างนั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะวันจันทร์ถึงศุกร์ก็ต้องไปทำงาน มีเวลาว่างแค่เสาร์-อาทิตย์ ถ้าอยากมีวันหยุดมากกว่านี้ก็ต้องใช้วันลาหยุดประจำปีที่มีอยู่อย่างจำกัด
2. คิดว่าจะไม่ต้องทำการบ้านใดๆ แล้ว
สิ่งที่คิด: ในที่สุดก็เรียนจบสักที ลาก่อนการบ้านทั้งหลาย
ความเป็นจริง: ต้องทำสไลด์เพื่อไปพรีเซนต์งาน ต้องทำรายงานประจำสัปดาห์ส่ง แล้วก็ยังต้องเตรียมประชุมอีก!
แม้ว่าเรียนจบแล้วจะไม่ต้องทำงานบ้าน ทำรายงานเป็น 10+ หน้าแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำในชีวิตการทำงานก็คล้ายๆ กับตอนที่เคยทำตอนเรียน เช่น การทำงานให้เสร็จ การมีเดดไลน์ส่งงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากการทำงานงานกลุ่มและการบ้านในมหาวิทยาลัย
3. คิดว่าไม่ต้องปั่นงานดึกๆ แล้ว
สิ่งที่คิด: ไม่ต้องปั่นงานทั้งคืนแล้ว
ความเป็นจริง: ดื่มกาแฟไปแล้ว 5 แก้ว เพราะต้องทำงานให้เสร็จก่อนประชุมกับลูกค้าในวันพรุ่งนี้
หลังเรียนจบไม่ต้องปั่นงานดึกๆ แล้วจริงไหม? คำตอบคือ ทั้งใช่และไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับงานที่แต่ละคนทำ
ปัจจุบันมีเครื่องมือสื่อสาร เช่น อีเมลและการส่งข้อความที่สามารถโต้ตอบกันได้ทันที (เช่น Slack, Line) ทำให้ทีมทำงานร่วมกันได้ง่าย แต่ก็ทำให้เจ้านายส่งข้อความมาตามงานตอนดึกได้เช่นกัน
สำหรับใครที่ทำงานกับลูกค้าชาวต่างชาติก็จะลำบากขึ้นไปอีก เพราะต้องทำงานคนละไทม์โซน ทำให้อาจต้องประชุมตอนดึกๆ
นอกจากนี้ สายงานอย่าง Healthcare หรือ Security ก็มักจะต้องทำงานเป็นกะ หากใครที่ทำงานในสายเหล่านี้การคิดว่าหลังเรียนจบไม่ต้องทำงานดึกๆ แล้วก็อาจทำให้ฝันสลายได้
4. คิดว่าจะไม่ได้แต่งตัวสวยๆ อีกแล้ว
สิ่งที่คิด: ตอนทำงานจะต้องใส่กางเกงขายาว ชุดสูท หรือชุดยูนิฟอร์มของบริษัท
ความเป็นจริง: บางบริษัทอนุญาตให้แต่งตัวสบายๆ ได้
แม้ว่าในโลกการทำงานจะมีอะไรหลายอย่างที่ดูเข้มงวดมากๆ แต่เรื่องการสวมใส่เสื้อผ้าก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท หากบริษัทไหนที่มีความเป็น Traditional สูง เช่น ศาลและหน่วยงานของรัฐ ก็อาจต้องใส่ชุดสูท/ชุดยูนิฟอร์มขององค์กรตลอดเวลา แต่ถ้าอยู่ในบริษัท เช่น สตาร์ทอัพที่เน้นขายความเป็นองค์กรที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ก็จะมีอิสระในการแต่งกายมากกว่า
5. คิดว่าจะเป็นเพื่อนกับทุกคนได้
สิ่งที่คิด: อยากเป็นเพื่อนกับทุกคนในที่ทำงาน
ความเป็นจริง: คนอื่นไม่อยากเป็นเพื่อนด้วย
เนื่องจากเราทุกคนอาจจะมีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน หรือบางคนอาจจะไม่อยากเอาชีวิตส่วนตัวมาปะปนกับชีวิตการทำงานก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเป็นเพื่อนกับทุกคนในที่ทำงานได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำตัวก้าวร้าวใส่คนอื่น สิ่งสำคัญคือต้องรู้วิธีการสื่อสารอย่างมืออาชีพ
6. คิดว่าไม่ต้องทำงานกลุ่มแล้ว
สิ่งที่คิด: อย่างน้อยก็จะไม่ได้เจอเพื่อนร่วมกลุ่มแย่ๆ อีก
ความเป็นจริง: สุดท้ายก็ต้องทำโปรเจกต์ร่วมกับทีม
แม้ว่าจะเรียนจบแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถหลีกหนีการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งการทำงานในที่ทำงานอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเราอาจยังต้องรับมือกับเพื่อนร่วมทีมแย่ๆ อยู่ แต่ก็อาจจะไม่แย่เท่าเพื่อนร่วมกลุ่มในมหาวิทยาลัย เพราะทุกคนมีอาชีพการงานเป็นเดิมพัน หากทำงานไม่ดีอาจเสี่ยงที่จะถูกตำหนิหรือไล่ออกจากงานได้
7. คิดว่ารู้มีความรู้ทุกอย่างและพร้อมจะทำงานแล้ว
สิ่งที่คิด: ตอนนี้มีใบประกาศนียบัตร Microsoft Excel แล้ว ฉันจะต้องทำงานได้ดีแน่ๆ
ความเป็นจริง: เสิร์ช Google หาวิธีใช้สูตร Pivot, Vlookup
การฝึกฝนอะไรใหม่ๆ ต้องใช้เวลาพอสมควร ถึงแม้ว่าเราจะเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่โลกการทำงานมาขนาดไหน แต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ทำงานได้ดี เพราะในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะสอนแค่ทฤษฎีเท่านั้น
ดังนั้นต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง ซึ่งนั่นไม่เป็นไร เพราะบางทีเราอาจจะลืมสิ่งที่เรียนมาหรือในที่ทำงานอาจมีอะไรใหม่ๆ ให้เราได้เรียนรู้ ให้ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาของการทำงานแรกๆ อย่าอายที่จะถามในสิ่งที่ไม่รู้ และที่สำคัญคือเราต้องเต็มใจที่จะเรียนรู้ด้วย
อ้างอิง eduadvisor