ชีวิตการทำงานก็เหมือนพายุที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ช่วงที่พายุสงบไร้การเคลื่อนไหว เป็นช่วงที่เรารู้สึกว่า เราสามารถจัดการบริหารชีวิตของตัวเองได้ดี ในทางตรงกันข้าม ช่วงที่พายุพัดโหมกระหน่ำเข้าสู่ฝั่ง กลับเป็นช่วงที่ทุกอย่างไม่เป็นใจเอาเสียเลย ทั้งงานที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดยั้งและอะไรอีกมายที่อยู่เหนือความคาดหมาย จนทำให้เราสูญเสีย ‘Work Energy’ ของตัวเองไป
เพราะฉะนั้น การรักษาระดับ Work Energy ให้คงที่อยู่เสมอ ไม่ว่าชีวิตจะต้องเผชิญกับพายุกี่ครั้ง จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทำงานได้อย่างราบรื่นในระยะยาว และถ้าหากครั้งหน้า เราต้องเผชิญกับสภาวะที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีก ลองทำตาม 5 เคล็ดลับ การรักษาระดับ ‘Work Energy’ ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากดูสิ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เรามีเรี่ยวแรงต่อสู้กับการทำงานอีกครั้งได้นะ
ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นว่าเราเหนื่อย
ยามที่พายุกำลังโหมพัดกระหน่ำ เรามักจะหลอกตัวเองอยู่เสมอว่า มันก็เหมือนเดิมแหละ...เดี๋ยวก็คงจะผ่านไป เราต่างก้มหน้าก้มตาทำงาน และเฝ้ารอช่วงเวลาที่เราจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยไม่สนใจความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งนั่นทำให้เราสูญเสีย Work Energy ณ ปัจจุบันไปโดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม ยิ่งเราซ่อนความรู้สึกและหลีกหนีความจริงมากเท่าไหร่ Work Energy ของเรายิ่งหายไปมากเท่านั้น ดังนั้น ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นว่า เรากำลังรู้สึกหมดแรงกายและใจที่จะทำงาน เพราะ การยอมรับไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมแพ้ ในทางกลับกัน การยอมรับความจริงต่างหากจะช่วยให้เรารู้ว่า เราจะต้องทำอะไร เพื่อลุกขึ้นต่อสู้กับพายุงานที่ถาโถมเข้ามา
สังเกตและนิยามความรู้สึกที่ทำให้ Work Energy ของเราหมดลงไป
อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดลบๆในการทำงาน เช่น ‘ชั้นทำงานนี้ไม่ได้หรอก’ หรือ ‘ชั้นไม่รู้ว่า จะทำงานทั้งหมดนี้ให้เสร็จได้ยังไง’ มักจะเกิดขึ้นเมื่อ Work Energy ของเราต่ำลง แต่แทนที่เราจะกลบฝังความรู้สึกเหล่านั้นไว้ สิ่งที่เราต้องทำ คือ ค้นหาและนิยามความรู้สึกเหล่านั้น เพื่อให้รู้เท่าทันความคิดของตัวเอง
David Rock ผู้อำนวยการสถาบัน NeuroLeadership Institute และเจ้าของหนังสือ Your Brain at Work กล่าวว่า แทนที่เราจะกลบฝังหรือปฏิเสธความรู้สึกที่เกิดขึ้น เราต้องรู้ทันความคิดและความรู้สึกของเราเองว่า ตอนนี้เรากำลังคิดและรู้สึกอย่างไร จากนั้นลองนิยามความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นคำ เช่น กดดัน ผิดหวัง หรือกังวล ด้วยวิธีนี้จะทำให้ความรู้สึกที่ไม่ดีภายในได้รับการปลดปล่อยออกมา และจะทำให้ Work Energy ของเรากลับมาอีกครั้ง
คิดอยู่เสมอว่า ชีวิตยังมีทางเลือกและเราจะผ่านพ้นมันไปได้อย่างสวยงาม
บางครั้ง สิ่งที่ทำให้ Work Energy ของเราหายไป ก็อาจจะอยู่ในรูปของความรู้สึกที่ว่า ‘ชีวิตของเราไม่มีทางเลือกเลย เราควบคุมอะไรไม่ได้สักอย่าง’ อย่างไรก็ตาม อย่าตกหลุมพรางความรู้สึกแย่ๆเหล่านั้น เพราะ นอกจากจะช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว มันอาจทำให้ Work Energy ของเราลดต่ำลงไปอีก
เพราะฉะนั้น หากเริ่มรู้สึกว่าเรากำลังแบกรับความรับผิดชอบที่มากเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถจัดการชีวิตของตนเองได้ ลองค่อยๆตั้งสติ จัดเรียงลำดับความสำคัญของงานที่ได้รับมอบหมาย เหนื่อยก็พักผ่อนให้เต็มที่ และที่สำคัญลองถามคำถามดังต่อไปนี้กับตัวเองดู
- วันนี้ มีภารกิจสำคัญอะไรบ้าง ที่เราต้องทำให้เสร็จ?
- มีวิธีไหนไหม? ที่จะช่วยเพิ่มพลังให้เรากลับมาสดชื่นอีกครั้ง (อาจจะเป็นเข้านอนเร็วขึ้นสักวัน หรือฟังเพลงโปรดระหว่างทำงานไปด้วยก็ได้)
- ถ้ามีงานหรือความรับผิดชอบท่วมท้น เราสามารถปฏิเสธใครได้บ้างไหม?
สื่อสารกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการชีวิตของตนเอง
เพื่อนร่วมงานที่ดี นับว่าเป็นขุมพลังสำหรับการทำงานในยามที่เรารู้สึกว่า เรารับแรงกดดันจากการทำงานที่มากเกินไปไม่ไหว หากมีความรู้สึกค้างคาใจ ลองคุยกับเพื่อนร่วมงานดูว่าจะทำอะไรได้บ้างไหมในสถานการณ์เช่นนี้?
เลื่อนกำหนดส่งงานได้ไหม? หากเริ่มรู้สึกว่างานที่รับผิดชอบอยู่มันล้นมือจนเกินไป ลองปรึกษากับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายดูว่า มีงานชิ้นไหน ที่เราสามารถเลื่อนกำหนดส่งไปได้บ้าง แต่อย่าลืมว่า หากงานชิ้นไหนเป็นงานเร่งด่วนจริงๆ เราก็ต้องรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายเช่กัน และท้ายที่สุด เมื่อเลื่อนกำหนดส่งงานไปแล้ว ต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามกำหนดด้วย เพื่อใหัการทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น
จัดการตารางชีวิตของตนเองให้ชัดเจนขึ้น และชี้แจงให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจตรงกัน บางครั้ง การขาดการสื่อสารระหว่างกัน อาจทำให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานไม่ทราบว่า เรามีภาระความรับผิดชอบที่มากมายอยู่แล้ว จึงมอบหมายงานให้เราจนเกินพอดี เพราะฉะนั้น การจัดตารางชีวิตของตนเองให้ดีและชี้แจงให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจตรงกัน จะสามารถช่วยลดการทำงานที่ทับซ้อน และดึง Work Energy ของเราให้กลับมาอีกครั้งได้
ขอความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนรอบข้าง ผู้คนมากมายมักจะรู้สึกว่า การทำงานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากใคร เป็นคุณสมบัติที่ดีในการทำงาน ซึ่งก็นับว่าถูกต้องทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากเรารู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานจนไม่มีแรงจะทำต่อแล้ว การขอความช่วยเหลือและกำลังใจจากใครสักคน เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ ดังนั้น อย่าเก็บความรู้สึกแย่ๆเหล่านี้ไว้คนเดียว ระบายออกมาให้คนรอบข้างที่เราไว้ใจฟังและช่วยกันหาทางแก้ไข เพื่อที่ทุกคนจะได้ทำงานอย่างมีความสุขดีกว่า
Self-compassion อย่าใจร้ายกับตัวเองในวันที่เราอาจจะทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิม
สิ่งหนึ่งที่ทำได้ยากที่สุด เมื่อเราต้องเผชิญกับการทำงานที่หนักเกินไป คือ Self-compassion โดยเฉพาะเมื่อเราไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพดังเดิม ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถชาร์จ Work Energy ให้กลับมาได้โดยเร็ว
Annie McKee นักเขียนชื่อดังและเจ้าของหนังสือ How to Be Happy at Work กล่าวว่า การจัดการชีวิตที่แสนวุ่นวายก็เครียดมากพออยู่แล้ว หากเรายังใจร้ายกับตัวเองเหมือนเดิม ก็คงจะไม่มีอะไรดีขึ้นมากหรอก เพราะฉะนั้น สร้าง Self-compassion ให้กับตัวเองในวันที่เหนื่อยและอ่อนล้า พักร่างกายและจิตใจสักระยะ แล้วค่อยกลับมาจัดการชีวิตของตัวเอง เพียงเท่านี้ เมื่อเราต้องเผชิญกับพายุงานที่โหมกระหน่ำอีกครั้ง เราก็จะมีสามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น และผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้อย่างสวยงาม
อ้างอิง: Harvard Business Review
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก Techsauce Thailand ได้ ที่นี่