คู่มือฮีลใจ: พบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาครั้งแรก ต้องทำอย่างไรบ้าง? | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
คู่มือฮีลใจ: พบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาครั้งแรก ต้องทำอย่างไรบ้าง?
By Chanapa Siricheevakesorn พฤศจิกายน 20, 2023
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ไม่ไหวบอกไหว เหนื่อยบอกไม่เหนื่อย~ ฝืนกลืนก้อนความรู้สึกเหล่านี้ให้มันสะสมอยู่ในตัวเรา ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นเราที่ต้องจมอยู่กับความทุกข์ ยากจะสลัดให้หลุดได้

เราอยากจะบอกว่าเราเข้าใจเพราะเคยอยู่ในจุด ๆ นั้น แต่ในทุกวันนี้ดีขึ้นแล้วด้วยหลายปัจจัยทั้งการเปลี่ยนพฤติกรรม นิสัยและความคิด โดยเวลาจะค่อย ๆ รักษาเราไปในทุก ๆ วันและคนที่สำคัญที่สุดในการช่วยให้เราหลุดพ้นจุดนั้นมาได้ไม่ใช่ใคร นั่นคือ จิตแพทย์และนักจิตวิทยา

แม้การพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในวงกว้างแล้ว แต่ชุดความคิดก่อน ๆ ที่อาจติดตัวเรามาโดยไม่รู้ตัวก็อาจทำให้เราคิดว่าการไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยานั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวและแปลก แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลยแต่กลับจะทำให้เราโล่งใจและสบายใจกว่าเดิมอย่างบอกไม่ถูก 

วันนี้ ConNEXT จึงอยากมาแบ่งปันตั้งแต่การตระหนักรู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง วิธีเตรียมตัวไปหาคุณหมอจิตแพทย์และนักจิตวิทยาครั้งแรก สิทธิ์การรักษา รวมไปถึงสถานที่รักษา 

ก้าวแรกของการยอมรับตัวเอง

การหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในครั้งแรกเป็นก้าวสำคัญสู่การฮีลจิตใจในระยะยาว สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้คือ การยอมรับความรู้สึก ความต้องการของตัวเองและการขอความช่วยเหลือในการรักษาใจตัวเอง เป็นการกระทำที่กล้าหาญที่สุด

Self-Awareness (การตระหนักรู้ในตัวเอง): การตระหนักรู้ในตนเองเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราเติบโตขึ้น โดยอาจจะต้องใช้เวลาไตร่ตรองความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเอง เพื่อหาว่าเรื่องอะไรที่อาจก่อให้เกิดความทุกข์และเรื่องอะไรที่ก่อให้เกิดความสุข เพราะการตระหนักรู้ในตัวเองเป็นก้าวแรกที่ช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจจะกระทบต่อใจได้

Self-Acceptance (การยอมรับตนเอง): สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการยอมรับว่าการมีปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติเหมือนการไปหาหมอโรคทั่วไป ซึ่งการยอมรับตัวเองนั้นเกี่ยวข้องกับการยอมรับในความไม่สมบูรณ์และการเข้าใจว่าการขอความช่วยเหลือเป็นสัญญาณของความเข้มแข็ง ไม่ใช่ความอ่อนแอ

การเตรียมตัวสำหรับพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาครั้งแรก

ปกติแล้วการพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยานั้น คุณหมอจะมีการถามไถ่อาการทางใจ เหมือนการไปตรวจเวลาเราไม่สบายทางกาย โดยอาจจะมีการถามประวัติส่วนตัวเพื่อทำความรู้จัก เช่น ทำงานอาชีพอะไร ครอบครัวเป็นยังไง อาศัยอยู่กับใคร เพื่อประกอบการวินิจฉัย จากนั้นเมื่อซักประวัติเสร็จ คุณหมอก็จะให้เราเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้น เพื่อประเมินสุขภาพจิตและแนะนำวิธีปฏิบัติตัวต่อไป ซึ่งหมอแต่ละท่านก็จะมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป

แต่สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการไปพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในครั้งแรก หวังว่านี่อาจจะเป็นแนวที่ที่สามารถช่วยให้เพื่อน ๆ เตรียมตัวได้

ลิสต์ความกังวล: เขียนความคิด ความรู้สึก เป็นประเด็น ๆ ที่คุณต้องการปรึกษากับคุณหมอ 

  • จดเป็นคีย์เวิร์คแตกออกมาว่าเรามีปัญหาอะไร 
  • อะไรถึงทำให้อยากมาหาหมอในครั้งนี้
  • อารมณ์ พฤติกรรมของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม
  • อาการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

โดยในข้อนี้ Self-Awareness จะช่วยให้คุณสามารถเขียนสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เตรียมคำถาม: จดลิสต์คำถามหรือหัวข้อที่คุณต้องการคำตอบในระหว่างที่พูดคุยกับคุณหมอ

ปลดปล่อยความรู้สึก: ในทางการรักษา การสนทนาของเพื่อน ๆ กับจิตแพทย์จะเป็นความลับ ได้รับการคุ้มครองตามจรรยาบรรณวิชาชีพและข้อบังคับทางกฎหมาย เพราะฉะนั้นคลายก้อนในใจนั้นออกมาให้คุณหมอรับรู้ได้เลย เพราะที่ตรงนี้คือพื้นที่ที่ปลอดภัยของเรา

สิทธิที่ใช้ในการรักษา

เพื่อน ๆ ที่มีสิทธิรักษาตามนี้ สามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือบางกรณีอาจมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่มเติม:

  • สิทธิประกันสังคม: สิทธิรักษาให้ความคุ้มครองการโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระบบประกันสังคม โทร.1506 (ตลอด 24 ชม.)
  • สิทธิบัตรทอง: สิทธิรักษาให้ความคุ้มครองการโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิได้เฉพาะโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 1330 (ตลอด 24 ชม.)
  • สิทธิของข้าราชการ: ข้าราชการและครอบครัว สามารถเบิกได้ตามระเบียบ กรมบัญชีกลางหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากคุณหมอระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้า สามารถรักษาได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติมได้ที่ กรมบัญชีกลาง โทร. 02-127-7000

ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน

ในการรักษาโรงพยาบาลรัฐอาจมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า โดยประมาณอยู่ที่ครั้งละ 500-1,500 บาท แต่จะต้องใช้เวลานานในการดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ เพราะมีคนไข้จำนวนมาก บางที่ก็เปิดคิวรับผู้ป่วยใหม่วันละ 3 คิว จึงทำให้เพื่อน ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างตอบโจทย์มากกว่า แม้จะมีระบบการจัดการที่รวดเร็วและสะดวกสบาย แต่ก็อาจจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายราคาที่สูง โดยประมาณอยู่ที่ครั้งละ 1,500-3,000 บาทขึ้นไป

ทางเลือกอื่น ๆ ในการฮีลใจ

สายด่วนสุขภาพจิต

สายด่วนที่ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันนี้ ให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำ และพร้อมรับฟังเข้าใจ

ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาออนไลน์

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคดิจิทัลที่ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายมาก เพราะมีแพลตฟอร์มและแอปต่าง ๆ ช่วยให้เราสามารถเลือกคุณหมอที่คลิกและนัดหมายออนไลน์ได้ ซึ่งตัวเลือกนี้ก็เหมาะสำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้องการความเร่งด่วน ไม่สะดวกเดินทาง ต้องการความสะดวกและความเป็นส่วนตัว เช่น แอปพลิเคชั่น Ooca ที่สามารถเลือกคุยได้ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาทั้งที่กำลังออนไลน์อยู่หรือนัดหมายล่วงหน้า โดยจะมีบันทึกการให้คำปรึกษาส่งให้หลังปรึกษาเสร็จ มีค่าบริการปรึกษากับจิตแพทย์ เริ่มต้นที่ 1,000 บาท/ 30 นาที และนักจิตวิทยา จะเริ่มต้นที่ 450 บาท/ 30 นาที

ConNEXT หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ทุกคน ได้แสดงความกล้าให้ตัวเองได้เห็น อย่าปล่อยให้ความกลัวมาขัดขวางเส้นทางฮีลใจที่เราสมควรได้รับ

“ขอให้ลองเปิดใจ ตระหนักรู้ ยอมรับตัวเอง และลองไปหาคุณหมอ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเอง”

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/for-the-first-time-i-met-a-psychiatrist-and-a-psychologist-what-shall-i-do